Nach Genre filtern
Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล)
- 1039 - 25670808pm--จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม
8 ส.ค. 67 - จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม : คนที่ไม่ยอมรับความโศกความเศร้าความโกรธ พยายามกดข่มมัน สุดท้ายก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน คนที่ไม่ยอมรับเสียงในหัว ที่ตำหนิครูบาอาจารย์ บุพการี จ้วงจาบพระรัตนตรัย พยายามไปต่อสู้ หรือสู้รบตบมือกับมัน ยิ่งตกอยู่ในอำนาจของมัน แต่พอเราเริ่มยอมรับได้ ใจมันก็จะเริ่มไม่หวั่นไหวแล้ว ไม่กระเพื่อมแล้ว เสียงดังมากระทบ แต่เรายอมรับได้ มันก็ไม่เกิดความหงุดหงิด ความร้อนเกิดขึ้น มากระทบกาย เรายอมรับได้ ใจก็ไม่ร้อน มีเวทนาเกิดขึ้นกับร่างกาย ปวดเมื่อย หลัง เข่า แต่ใจยอมรับได้ มันก็ปวดแต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์ อันนี้ก็เป็นวิธีการ ในการช่วยทำให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ถึงขั้นบรรลุพระนิพพาน แต่ว่าก็ทำให้ใจเราตั้งมั่น เป็นขณะๆ ไป เป็นครั้งคราวไป หรือว่าชั่วคราว แต่มันก็พาเราเข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น เพราะเมื่อจิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม เมื่อมีสิ่งต่างๆ มากระทบ แต่ได้อาศัยสติ การรู้ซื่อๆ หรือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะเริ่มเห็นสัจธรรมความจริงจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเห็นแจ้ง หรือเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า เหตุแห่งทุกข์นี่ ถ้าเป็นทุกข์ใจแล้ว มันก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ใจที่มีการผลักไสหรือไหลตาม ใจที่ไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นความจริงที่ปรากฏแก่ใจของเรานี่แหละ จะช่วยทำให้เราเกิดปัญญา และปัญญาที่ว่า ก็จะทำให้จิตใจได้เข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้น พระนิพพานจะไม่ใช่เป็นเรื่องนามธรรมแล้ว แต่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา นั่นก็คือการที่จิตมีความปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ฟูไม่แฟบ หรือพูดง่ายๆ คืออยู่เหนือสุขเหนือทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาเราจะตั้งจิตปรารถนาอะไร นอกจากการปรารถนาพระนิพพานแล้ว ก็ลองนึกไปอีกขั้นหนึ่ง ปรารถนาว่า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ขอให้จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม นั่นแหละจะทำให้เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง
Sun, 17 Nov 2024 - 29min - 1038 - 25670807pm--มองลบเป็นนิจ ชีวิตจึงติดลบ
7 ส.ค. 67 - มองลบเป็นนิจ ชีวิตจึงติดลบ : ชีวิตตัวเองอาจจะมีอะไรดีมากมาย แต่มองไม่เห็นเลย เห็นแต่ลบ เห็นแต่ความทุกข์ เห็นแต่อุปสรรค เห็นแต่ปัญหา หรือบางทีก็อาจเห็นความผิดพลาด ตื่นเช้าขึ้นมา ไม่สามารถที่จะชื่นชมสิ่งที่มีอยู่รอบตัวได้เลย มองไม่เห็นเลยนะว่าฟ้ามันสวย เรารู้สึกโชคดีนะที่เรายังมีลมหายใจ คิดไม่ออกจริงๆ เช่น รถติดมันดีอย่างไรบ้าง หรือว่าวันนี้เรามีอะไรดีๆ บอกมาสัก 5 อย่าง บางคนบอกไม่ได้เลย เห็นแต่ข้อเสีย ชีวิตแทนที่จะมีความสุขได้แบบง่ายๆ กลายเป็นชีวิตติดลบไป ฉะนั้นพวกเราก็ต้องระวังนะ เราอย่าประมาท เพราะว่าพอเราอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบ ชอบแซะ ชอบวิจารณ์ เราก็จะเผลอรับเอาความคิดแบบนี้เข้ามา แต่ที่จริงอาจจะมีความคิดหรือทัศนคติแบบนี้อยู่แล้วก็ได้ เพราะว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว พ่อแม่ หรือว่าการหล่อหลอมจากครูบาอาจารย์ จำนวนไม่น้อยเป็นแบบนี้ พอถูกใครมอง ถูกผู้ใหญ่มองในทางลบ ถูกผู้ใหญ่เห็นแต่ข้อผิดพลาด ถูกผู้ใหญ่ตำหนิ ก็เลยซึมซับรับเอาความคิดแบบนี้มา พอเห็นใครทำดีก็หมั่นไส้ หาช่องแซะ หาช่องป่วน อย่างที่มีคนคอมเมนต์ในข่าวที่ว่า พบไดโนเสาร์ทีภูหินร่องกล้า มีแต่คอมเมนต์ที่ลบทั้งนั้นเลย แล้วมันไม่ได้สร้างสรรค์เลยนะ เช่นหาว่า เพ้อเจ้อ หลอกเด็กอนุบาล เกิดทันเหรอถึงรู้ว่าเป็นไดโนเสาร์ ลองนึกนะ คนที่ค้นพบไดโนเสาร์หรือคนที่เขาพยายามจะเผยแพร่ข่าวนี้ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันเป็นเพราะคนไทยเป็นแบบนี้ ก็เลยเกิดความรู้สึกถูกบั่นทอนกำลังใจได้ง่ายๆ แต่ว่าเราก็อย่าไปหวั่นไหวกับความคิดแบบนี้ เพราะถ้าเราหวั่นไหว แล้วเราไปซึมซับ รับเอาความคิดแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้เข้ามา สุดท้ายมันก็เป็นผลเสียกับเรา ชีวิตเราก็ติดลบไปด้วย เจออะไรก็เห็นแต่เรื่องลบๆ มีข้อตำหนิ มีเรื่องบ่นอยู่เสมอ แล้วสุดท้ายก็แว้งกลับมาเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง หรือว่ามองอะไรก็มีแต่เรื่องลบๆ ชีวิตก็เลยติดลบไปด้วย
Sat, 16 Nov 2024 - 24min - 1037 - 25670806pm--ออกจากทุกข์เพราะรู้
6 ส.ค. 67 - ออกจากทุกข์เพราะรู้ : ถ้าหากว่าไม่อยากจะถูกความทุกข์ครองใจ ก็ต้องพยายามเติมความรู้ตัวให้เกิดขึ้น แล้วก็เรียนรู้สัจธรรมความจริงของชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อจะได้รู้ความจริงอย่างแจ่มแจ้ง ให้ตระหนักเห็นโทษของความหลงว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ตัว หรือการไม่รู้ความจริง ตัวนี้ต่างหากที่มันเป็นสมุทัย หรือเหตุ หรือสาเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพราะว่าความแปรเปลี่ยน ความไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่เป็นเพราะการไม่รู้ความจริง ไม่เข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปหลงยึดติดถือมั่นต่างหากที่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้รู้ตัวจนกระทั่งรู้ความจริงของสรรพสิ่ง แม้จะไม่ถึงที่สุด ก็ช่วยลดช่วยบรรเทาความทุกข์ในจิตใจได้เยอะเลย
Fri, 15 Nov 2024 - 28min - 1036 - 25670805pm--เติมเต็มจิตด้วยความรู้สึกตัว
5 ส.ค. 67 - เติมเต็มจิตด้วยความรู้สึกตัว : วัน ๆ หนึ่งเราหลงมากกว่ารู้ตัว เวลาเราหลับ เราหลับน้อยกว่าเวลาเราตื่น เราหลับก็อาจจะสัก 6 หรือ 7 หรือ 8 ชั่วโมง แต่เราตื่น 16 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง นั่นเป็นเรื่องของกาย ส่วนเรื่องของใจแม้ในช่วงเวลาที่เราตื่น 18 ชั่วโมง 16 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มันหลง ส่วนน้อยที่รู้สึกตัว แล้วก็เป็นความรู้สึกตัวแบบไม่ต่อเนื่อง ถูกความหลงเข้ามาครอบงำ เพราะฉะนั้นมันก็เลยมีความโลภ มีความอยาก มีความรู้สึกพร่องตลอดเวลา ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ยังอยากได้อีก แต่ถ้าเราทำความรู้สึกตัวบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ ความรู้สึกตัวก็จะเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องมากขึ้น ความหลงน้อยลง ความทุกข์ก็น้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าไปดูแคลนความรู้สึกตัว มันเป็นวิธีการที่จะช่วยเติมเต็มจิตใจ มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ก็หมายถึงมีสติเต็มตื่น มีสติเต็มตื่น ก็หมายความว่าไม่เปิดช่องให้กิเลสหรือความทุกข์เข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ ความเศร้าหรือความซึม แล้วถึงตอนนั้นเราก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีแล้ว สิ่งที่เราไม่มีหรือสิ่งที่เราเคยคิดว่าพร่อง มันจะไม่มีความหมายต่อจิตใจของเรา เราจะมีความสุขง่าย ๆ เพราะเรารู้จักชื่นชมสิ่งที่เรามี ให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามี ซึ่งที่จริงก็มีคุณค่าจริง ๆ เช่น การที่เรายังมีชีวิต ยังมีลมหายใจ ยังสามารถหายใจได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด การที่เรายังมีตามองเห็น การที่เรายังมีหูได้ยิน ยังมีความคิด มีสติ มีความสามารถในการรู้สึกตัว อันนี้มีกันทุกคน แต่สิ่งที่ไม่มี จำนวนมากเลยไม่ค่อยมีความสำคัญหรือความจำเป็นต่อชีวิต แต่ว่ามันเป็นค่านิยมที่ใคร ๆ เขาอยากจะมีกัน หรือว่ามันช่วยทำให้เกิดความสะดวกสบาย หรือเกิดความสุขชั่วคราว สิ่งที่เรามีอยู่แล้วนี้มันมีคุณค่ายิ่งกว่านั้นเยอะ อยู่ที่ว่าเราจะทำให้มันนำไปสู่ความรู้สึกตัว นำไปสู่การมีสติปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าเอาแต่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่คิดว่าพร่อง แล้วคิดว่าได้มาเท่าไหร่จะช่วยเติมเต็ม แต่ได้มากเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเติมเต็มสักที เพราะว่ามันเป็นการเติมเต็มในอำนาจของกิเลส ของอัตตา ซึ่งไม่เคยรู้จักพอสักที จะไม่ให้ใจเราอยู่ในอำนาจของอัตตานี้ก็ต้องทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็แปลกพอมีความรู้สึกตัวขึ้นเมื่อไหร่ ตัวกูก็หายไปเมื่อนั้น มันเป็นปฏิปักษ์กัน
Thu, 14 Nov 2024 - 27min - 1035 - 25670802--อย่ามองแบบเหมารวม
2 ส.ค. 67 - อย่ามองแบบเหมารวม : บางคนที่มีเงินก็เหมารวมว่าคนจนนั้นเห็นแก่เงิน ส่วนคนที่พอมีพอกินหรือคนที่ฐานะไม่ดีก็เหมารวมว่าคนรวยนั้นเห็นแก่เงิน ประสบการณ์ของเราหรือสิ่งที่เราได้ยินมาอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าอย่าเหมารวมว่าทุกคนจะเป็นอย่างนั้น อย่าเหมารวมว่าคนจนจะเห็นแก่เงิน หรืออย่าเหมารวมว่าคนรวยจะเป็นพวกงก ตระหนี่ เราต้องดูตามเนื้อผ้าไม่ใช่ตัดสินคนตามยี่ห้อหรือที่เรียกว่าเหมารวม เพราะว่าจะรวย จะจน คนที่ดีมีคุณธรรม ที่ซื่อสัตย์สุจริตก็มีอยู่ เรามีภาพประสบการณ์อย่างไรก็อย่าไปตัดสินคนที่เราพบ คนที่เรารู้จักเพียงเพราะว่าเขารวยหรือจน เพราะจริงๆเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด หรือภาพที่เราวาดเอาไว้ก็ได้
Wed, 13 Nov 2024 - 10min - 1034 - 25670801pm--ออกจากทุกข์ ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
1 ส.ค. 67 - ออกจากทุกข์ ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน : เพราะถ้าไม่มีสติที่เรียกว่าสัมมาสติ มันก็จะระเหเร่ร่อน ไหลไปอดีตมั่งลอยไปอนาคตอยู่ร่ำไป เสร็จแล้วก็จะจมอยู่ในอารมณ์ ไหลไป ลอยไปลอยมาก็จมอยู่ในอารมณ์ จมมีความทุกข์ เพราะไปคว้าเอาอดีต ไปคว้าเอาอนาคตมาแบกเอาไว้ เสร็จแล้วก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ว่าทำให้เราทุกข์ ไม่ต่างจากคนที่แบกก้อนหินแล้วก็โทษก้อนหินว่า ก้อนหินทำให้เราเหนื่อย ทำให้เราล้า แต่ไม่ถามเลยว่า แล้วแบกทำไม ไอ้ที่เหนื่อยที่ล้าไม่ใช่เพราะก้อนหินแต่เพราะไปแบกมันเอาไว้ ถ้าไม่อยากเหนื่อย ไม่อยากทุกข์ ไม่อยากล้าก็ทำได้ไหมคือวางมันลง แต่จะวางมันลงได้ต้องรู้ก่อนว่า ที่ทุกข์เป็นเพราะแบกเอาไว้ ส่วนใหญ่ไม่รู้ ไปแบกอดีต ไปแบกอนาคตแล้วยังไม่รู้เลยเป็นเพราะแบก แล้วเมื่อทุกข์ เกิดความโกรธ เกิดความคับแค้น เกิดความวิตกกังวล ก็ไปโทษโน่นโทษนี่ แต่ลืมมองไปว่าจะเป็นเพราะใจเรานี่ไปแบกมันเอาไว้ หรือไม่ได้มองว่าเป็นเพราะใจเราเปิดช่องให้ความทุกข์เข้าไปเล่นงาน สร้างความปั่นป่วนในจิตใจ ถ้าเราดูแลรักษาใจให้ดี มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ การที่เปิดช่องให้ความทุกข์เข้ามาเล่นงานจิตใจเราก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นให้เรียนรู้ ให้ทำความเข้าใจเรื่องการอยู่กับปัจจุบันให้ดี แล้วก็พยายามสร้างเหตุปัจจัยคือการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว มันจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้อยู่กับปัจจุบันได้ และการปล่อยวางกันอดีตอนาคตมันก็จะไม่ใช่เรื่องยาก
Tue, 12 Nov 2024 - 27min - 1033 - 25670731pm--เมื่อรักษาใจ ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
31 ก.ค. 67 - เมื่อรักษาใจ ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก : แต่สิ่งที่เราทำได้คือ รักษาใจ นี่เป็นเบื้องต้นที่จะช่วยทำให้ใจเราไม่ทุกข์ คือพอเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจแล้ว เกิดความอารมณ์ขึ้นมา ก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ สามารถจะวางระยะห่าง อันนี้ด้วยวิธีการที่หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า เห็นไม่เข้าไปเป็น พอเห็นเมื่อไร ใจก็จะอยู่ห่างสิ่งนั้น เห็นกองไฟ ใจก็ออกห่างจากกองไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟโทสะ ไฟราคะ ทำอย่างนั้นได้เพราะมีสติ แต่ถ้าไม่มีสติ ใจก็จะกระโจนเข้าไปในกองไฟ แล้วก็ทุกข์ เหมือนกับเดินบนถนนแล้วเห็นกองขี้หมา เห็นก้อนหิน เห็นตะปู เห็นเศษแก้ว เห็นหลุมเห็นบ่อ แต่ก็เดินหลบสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะเรามีตาที่ช่วยทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่ควรข้องแวะบนถนน สติก็เหมือนกับตาในที่ทำให้เราเห็นอนิฏฐารมณ์ต่างๆ แต่ไม่ไปข้องแวะกับมัน หรือไม่เปิดช่องให้มันมาทำร้ายจิตใจของเรา อย่าไปคาดหวังว่าถนนจะต้องราบเรียบสะอาดหมดจด มีแต่สิ่งดีๆ ทุกวันนี้หลายคนเวลาอธิษฐานหรือเวลาขอพร ก็ขอให้ไม่มีอุปสรรค ไม่มีความทุกข์ ความยากลำบาก อย่าได้รู้จักคำว่าไม่มี อันนี้มันปรารถนาได้ แต่ว่าความจริงไม่เป็นอย่างนั้นหรอก แต่ว่าแม้เส้นทางจะวิบาก บนถนนอาจจะมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ มีกองขี้หมา แต่เราก็มีความสามารถที่จะเลือกเดินหลบมันได้ ถ้าเรามีสติ ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเรามีความระมัดระวังไม่ประมาทเลินเล่อ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องพยายามดูแลรักษาใจให้ดี เหมือนกับคนที่อยากจะรักษารถ ก็ต้องดูแลรถให้ดี อย่าไปคิดว่าจะต้องปราบโจรผู้ร้ายให้มันหมด อย่างไรก็ปราบโจรผู้ร้ายไม่หมดหรอก โจรที่จ้องจะลักขโมยรถมีอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้เราไม่เสียรถไป คือไม่ประมาทเลินเล่อในการใช้รถ ออกจากรถก็ดับเครื่องยนต์ ล็อกประตู ไม่เปิดช่องให้ผู้ร้ายเข้าไป กับใจเราก็ควรทำอย่างนั้นเหมือนกัน เราจึงจะไม่สูญเสียความปกติสุขไป
Mon, 11 Nov 2024 - 27min - 1032 - 25670730pm--วิธีแก้ทุกข์โดยไม่เพิ่มทุกข์
30 ก.ค. 67 - วิธีแก้ทุกข์โดยไม่เพิ่มทุกข์ : หลายคนมองผิดฝาผิดตัว มองไม่ลึกพอ ไปเข้าใจว่าความคิดที่ผุดขึ้นมา ที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน ทำให้ทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ มันไม่ทำให้เราทุกข์เลย แต่ที่ทุกข์เพราะมันมีความอยาก อยากจะให้ความคิดพวกนี้มันดับไป ทำให้จิตว่างจากความคิด ถ้ารู้ทันความอยากนั้น ความอยากมันก็จะหายไป ความคิดยังมีอยู่ ผุดขึ้นมา แต่ไม่ทุกข์แล้ว เช่นเดียวกัน เวลานอนไม่หลับ หลายคนมีความทุกข์มากเลย แล้วไปเข้าใจว่าที่ทุกข์เพราะนอนไม่หลับ ที่จริงไม่ใช่ นอนไม่หลับนี้มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์มาก ไม่เหมือนกับปวดหัว ปวดท้อง ปวดฉี่ อันนี้ทุกข์ แต่ถ้านอนอยู่บนเตียง อยู่บนเสื่อ แล้วไม่หลับนี่มันไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก ตราบใดที่ไม่ปวดหัวปวดท้อง แล้วทำไมถึงทุกข์ เพราะมีความอยากจะให้หลับ เราไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็แค่ดู แค่เห็นความอยาก อยากอะไร อยากให้หลับ พอเห็นมัน มันก็ละลายหายไป พอมันหายไป ไม่ทุกข์แล้ว แต่มันอาจจะมีความกังวลเกิดขึ้นว่า เดี๋ยวถ้านอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาจะทำงานไม่ได้ มันก็เลยเกิดความอยาก อยากจะนอนให้หลับ ทั้งความกังวลและความอยากก็ทำให้ใจมันตื่นเลย แล้วทุกข์ด้วย เกิดความเครียดขึ้นมา แต่พอเราเห็นมัน มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลหรือความอยาก ใจมันก็จะเริ่มสบาย ผ่อนคลาย สักพักไม่ทันรู้ตัวเลยหลับไปเสียแล้ว หรือถึงไม่หลับก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นวิธีการดับทุกข์หรือแก้ทุกข์ ลองหันกลับมา แทนที่จะใช้วิธีสนองความอยาก หรือว่าไปกดข่มมัน ลองฝึกเห็นมันดู เห็นมันด้วยสติ เพราะสติคือตาใน พวกนี้เนี่ย ความอยาก ความโกรธพวกนี้ มันมีจุดอ่อน คือมันกลัวถูกรู้ถูกเห็น ถูกรู้ทัน อะไรที่ทำให้เห็น รู้ทันอารมณ์เหล่านี้ คือสติ เพราะฉะนั้นรู้จักใช้สติในการที่จะดับทุกข์ แก้ทุกข์ หรืออารมณ์ที่มารบกวนจิตใจ อันนี้เป็นวิธีที่จะได้ผลดีกว่า
Sun, 10 Nov 2024 - 26min - 1031 - 25670728pm--อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นไปเสียหมด
28 ก.ค. 67 - อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นไปเสียหมด : สิ่งที่จะวัดความความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างหนึ่งนั่นก็คือ รู้จักทักท้วงความคิด เพราะรู้ว่าความคิดนี่มันไม่ใช่ว่าจะเชื่อได้ทุกเรื่อง ความคิดที่ดีก็มี ความคิดที่ไม่ดีก็มี ความคิดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงก็มี ฉะนั้นเชื่อมันทุกอย่างไม่ได้ ต้องรู้จักทักท้วง แต่บางครั้งมันไม่ทันทักท้วงเพราะมันเกิดอารมณ์ เกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธ หรือเกิดความกลัว เกิดความวิตกขึ้นมา พอมีอารมณ์เกิดขึ้นสติกระจายหมดเลย พอไม่มีสติหรือสติกระจาย สติแตก มันก็ไม่มีตัวที่จะมาทักท้วงความคิด แต่สำหรับคนที่ปฏิบัติโดยเฉพาะปฏิบัติเจริญสติ ถ้าปฏิบัติถูกสติก็จะรวดเร็วฉับไว มีอำนาจในการที่จะไม่พ่ายแพ้ต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความโกรธแต่ว่าก็ยังพอมีสติ เตือนไม่ให้เชื่อความคิด หรือไม่ไหลไปตามอารมณ์ มีความกลัว ความวิตก ความเครียด แต่ก็ยังมีสติมากพอที่จะไม่ไหลหรือถูกครอบงำด้วยความเครียด ความวิตก ยังมีกำลังในการทัดทานความคิดและอารมณ์ได้ และนักปฏิบัติ ถ้าถามอาจารย์ดูความก้าวหน้าตรงไหน ก็ดูตรงนี้แหละ ข้อหนึ่งก็คือว่ารู้จักทักท้วงความคิด ไม่หลงเชื่อความคิดไปทุกอย่าง รวมทั้งไม่เชื่อทุกอย่างที่ตาเห็น หรือทุกอย่างที่หูได้ยิน เพราะว่าสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินคือสิ่งที่คิดเอานี่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้
Sat, 09 Nov 2024 - 28min - 1030 - 25670727pm--ธรรมที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน
27 ก.ค. 67 - ธรรมที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน : "การทำนั่นทำนี่ ก็คือ การทำกิจการงานต่าง ๆ รวมทั้งการเสพการบริโภคด้วย เจอนั่นเจอนี่ ก็หมายถึงว่า เจอรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้น เจอเหตุการณ์ที่เป็นบวกเรียกว่าโลกธรรมฝ่ายบวกหรืออิฏฐารมณ์ เจอเหตุการณ์ฝ่ายลบเรียกว่าอนิฏฐารมณ์หรือว่าโลกธรรมฝ่ายลบ ไม่ว่าเจออะไร ก็เห็นหรือรู้ใจที่คิดนึก รวมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ดีใจ เสียใจ เพลิดเพลิน หงุดหงิด มันทำให้ใจเราเป็นอิสระจากสิ่งกระทบต่าง ๆ ได้ แล้วทำให้สติเจริญงอกงามด้วย คนส่วนใหญ่นี้ การที่จะมีสติเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึกตลอดทั้งวัน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยถ้าเกิดว่าเลือกว่าวัน ๆ หนึ่ง เราทำอะไรที่ทำประจำ เริ่มจากเอามาสัก 4-5 อย่าง และตั้งใจหรือกำหนดลงไปว่าเมื่อเราทำ เราจะรู้กายเคลื่อนไหว เมื่อใจคิดนึกเราก็รู้ทัน อย่างเช่นอาจจะเลือกว่า อาบน้ำ ถูฟัน แต่งตัว กินข้าว ล้างจาน รวม 5 อย่างนี้เราตั้งใจจะมีสติรู้ตัว เวลามือล้างจานก็รู้กาย เวลาใจเผลอออกจากการล้างจาน ไปคิดนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็รู้ทัน หรือว่าเวลาอาบน้ำ ก็รู้ว่ากายกำลังทำอะไร ในขณะที่ลูบตัวขณะอาบน้ำ หรือว่าเมื่อใจเกิดความสดชื่นเบิกบาน ก็รู้ อันนี้ก็เรียกว่า รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก ฉะนั้นถ้าหากว่าเราลองเลือกสัก 5 อย่างนี้ให้มีสติ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเราได้ธรรม 3 ประการคือ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และชาคริยานุโยคได้ ก็คือมีสติกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มีสติกับการเสพ มีสติกับการทำงาน เรียกว่าปฏิบัติธรรมนี้ได้ทั้งวันหรือทุกวัน"
Fri, 08 Nov 2024 - 28min - 1029 - 25670726pm--ไม่มีอะไรที่เป็นเราหรือของเรา
26 ก.ค. 67 - ไม่มีอะไรที่เป็นเราหรือของเรา : ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นเป็นเรา เป็นของเราได้เลย ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือแม้กระทั่งร่างกายนี้ ก็ไม่อาจยึดได้ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ ความที่ท่านเข้าใจ หรือเข้าถึงสัจธรรมความจริงนี้แหละ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านเปี่ยมด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ ที่เราทุกท่านเมื่อได้สัมผัสแล้วก็รู้สึกประทับใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราระลึกนึกถึงท่านแม่ชีสุขี ก็อย่าพึงนึกถึงแต่เพียงแค่บุญที่ท่านบำเพ็ญ แต่ให้นึกถึงธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติด้วย ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบุญ จนบางทีลืมธรรมะไป เพราะเราคิดว่าถ้าเราได้บุญเยอะๆ เราก็จะได้โชคได้ลาภ มีอายุยืน มีสุขภาพดี เพราะเราเชื่อว่า บุญนั้นย่อมอำนวยให้เกิดอายุ วรรณะ สุขะ พละ รวมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา จึงอยากได้บุญกันมากๆ จนกระทั่งจำนวนไม่น้อย ลืมธรรมะไป
Thu, 07 Nov 2024 - 30min - 1028 - 25670724pm--ทุกอารมณ์มีประโยชน์ ถ้ารู้จักใช้
24 ก.ค. 67 - ทุกอารมณ์มีประโยชน์ ถ้ารู้จักใช้ : "อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวก็ดี ความโกรธก็ดี ความเจ็บความปวดก็ดี หรือแม้กระทั่งความโลภ ไม่ใช่ว่าจะก่อทุกข์ได้อย่างเดียว ก็สามารถจะเป็นประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ แม้กระทั่งความทุกข์ ไม่มีใครชอบ แต่ว่าก็สามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลหลายท่านทุกข์มาก แต่เพราะความทุกข์ที่ทำให้ท่านเห็นว่า สังสารวัฏเต็มไปด้วยทุกข์ ท่านพบว่าอะไรก็ตามไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เลย เพราะมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเขียนไว้ก่อนมรณภาพว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” ทุกข์ก็มีประโยชน์ ถ้าเราเห็นมัน ถ้าเราเข้าใจมัน ที่มันเป็นโทษเพราะเราเข้าไปเป็นมัน หรือว่าหลงอยู่ในทุกข์ ไปยึดในทุกข์เอาไว้ ไม่รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์มากขึ้น ฉะนั้น เวลาเราเจออารมณ์อะไรก็ตาม แม้กระทั่งความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น อย่าไปคิดแต่จะกำจัดมัน ลองมองดูให้ดี มันมีประโยชน์ รวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บ และความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราด้วย มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักใช้มัน
Wed, 06 Nov 2024 - 27min - 1027 - 25670723pm--อย่ามาวัดเพียงเพื่อหาความสงบ
23 ก.ค. 67 - อย่ามาวัดเพียงเพื่อหาความสงบ : ลองนึกดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราที่วัด ถ้าเรายังทำใจไม่ได้ ยังร้อนรุ่มวุ่นวาย ถึงเวลาที่เราเจอความเจ็บป่วยชนิดที่หนีไม่พ้น มันตามติด มันเกิดกับร่างกายเราตลอด 24 ชั่วโมง เต็มไปด้วยความติดขัด เต็มไปด้วยความไม่สะดวกสบาย เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร ถ้าเรามัวแต่คิดว่าจะหนีปัญหา และคิดว่าปัญหาจะทำให้สงบได้ ถึงเวลาเจอความเจ็บป่วย ถึงเวลาเจอความสูญเสียพลัดพราก ชนิดที่เราไม่สามารถจะควบคุมบงการได้ แล้วเราจะอยู่อย่างไร เราจะรับมือกับมันอย่างไร ฉะนั้นการที่เรามาฝึกตนเพื่อ สามารถความสงบให้เกิดขึ้นกับใจได้ แม้ว่าสิ่งรอบตัวจะไม่ราบรื่น หรือแม้จะมีความคิดอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในใจ แต่ก็ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาควบคุมครอบงำจิตใจได้ นี้เป็นวิชาสำคัญในการที่เราจะรับมือกับความทุกข์ในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นกับเรา ความเจ็บป่วย ความพรากสูญเสีย สูญเสียของรัก สูญเสียคนรัก พวกนี้ถ้าไม่เจอเมื่อวานนี้หรือวันนี้ วันหน้าก็ต้องเจอ หากว่ายังไม่เจอ มันก็จะดีกว่า ถ้าเราจะใช้โอกาสที่ปลอดจากปัญหานี้มาฝึก ไม่ใช่มาหวังเสพความสงบ หรือหวังหาความสบาย แต่มาเพื่อฝึกฝนตน เจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่บ่น เอามาเป็นเครื่องฝึกฝน แม้กระทั่งความไม่สงบ หรือความคิดที่มันผุดขึ้นมาในใจก็สามารถรับมือกับมันได้ ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้มันหายฟุ้งหรือหยุดคิด ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ก่อนนะเราถึงจะมีวิชาที่รับมือกับความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสในวันหน้าได้
Tue, 05 Nov 2024 - 27min - 1026 - 25670722pm--อย่าจมในทุกข์ อย่าเพลินในสุข
22 ก.ค. 67 - อย่าจมในทุกข์ อย่าเพลินในสุข : "ความสุขเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา ตรงข้ามกับความทุกข์ซึ่งไม่มีใครต้องการ ในเมื่อความทุกข์เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราจึงควรเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง หาไม่แล้วเราก็จะลงเอยด้วยการซ้ำเติมตนเอง อันที่จริงแม้กระทั่งความสุข เราก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย หาไม่ความสุขก็จะกลายเป็นโทษ ใช่หรือไม่ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั้งหลายล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมาก่อน ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของหลายคน พระพุทธองค์ไม่ได้สอนให้ปฏิเสธความสุข แท้จริงทรงแนะนำว่าเราไม่ควรละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม แต่ก็อย่าหลงใหลมัวเมาหรือยึดติดความสุขเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะมันไม่เที่ยง ไม่จิรังยั่งยืน ส่วนความทุกข์ ในเมื่อเราไม่ชอบ ก็อย่าเอาทุกข์มาทับถมตน แทนที่จะจมอยู่ในความทุกข์หรือ “เป็น”ทุกข์ ก็ควรรู้จักมันหรือ “เห็น”มัน ด้วยการวางใจอย่างถูกต้อง ความสุขหรือความทุกข์ย่อมไม่อาจครอบงำจิตใจเราจนเรากลายเป็นทาสของมัน"
Mon, 04 Nov 2024 - 25min - 1025 - 25670721pm--ตั้งใจมั่นทำดีในพรรษานี้
21 ก.ค. 67 - ตั้งใจมั่นทำดีในพรรษานี้ : เอาแค่เรามีสติรู้สึกตัว เวลาเข้าห้องน้ำ แม้เพียงนิดเดียว จากเล็กจนแก่ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงมากเลยทีเดียว เพราะว่าตลอดชีวิตเราเข้าห้องน้ำรวมแล้ว 7 ปี เข้าห้องน้ำไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การแต่งตัว ตลอดชีวิต ถ้าเราอายุถึง 75 ปี เราจะอยู่ในห้องน้ำรวมทั้งหมดทั้งชีวิต 7 ปี ถ้าเราเพียงแต่พยายามเจริญสติแค่ 10% เท่านั้นของเวลาที่อยู่ในห้องน้ำ มันจะเป็นเท่าไหร่ ก็เท่ากับ 8 เดือนเลย มันก็ไม่น้อย เพราะว่าเรามาเดินจงกรม เข้าคอร์สเดินจงกรมทั้งชีวิตก็คงจะไม่เท่าไหร่ อาจจะอย่างมากก็ 12 เดือน แต่เพียงแค่อยู่ในห้องน้ำอย่างมีสติ 10% ทั้งชีวิตนี้ก็เท่ากับ 8 เดือนเลยทีเดียว ฉะนั้น เมื่อเราพาตัวอยู่มาได้จนกระทั่งจนถึงวันเข้าพรรษา ถ้าเราไม่รีบด่วนตายซะก่อน เราก็จะมีเวลาในการปฏิบัติมากทีเดียว 3 เดือน ให้ตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานคือตั้งจิตมั่นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำความดีให้เพิ่มขึ้น หรือว่าลดละ ถ้ายังเลิกไม่ได้ สิ่งแย่ๆ ตั้งใจทำทุกวัน บางอย่างอาจจะดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่ามันขัดกับนิสัย แต่ถ้าทำบ่อยๆ อย่างเช่น บางคนชอบบ่น ชอบจู้จี้ ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ลองตั้งกติกาของตัวเองว่า เราจะชมคนวันละ 10 คน ทุกวัน ใครที่ชอบบ่น ชอบตำหนิ ชอบวิจารณ์ ก็ลองตั้งจิตอธิษฐานว่า วันหนึ่งเราจะขอบคุณอย่างน้อย 10 คน เชื่อได้เลยว่า 3 เดือนนี้ มันจะทำให้เราเลิกนิสัยจู้จี้ ขี้บ่น หรือชอบตำหนิไปได้เยอะเลย แล้วจะรู้สึกจิตใจมีความสงบเย็นมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถจะนึกขึ้นมาเองได้ ให้มันเหมาะกับตัวเราเอง
Sun, 03 Nov 2024 - 27min - 1024 - 25670720pm--ทางออกจากทุกข์อยู่ที่ใจเรา
20 ก.ค. 67 - ทางออกจากทุกข์อยู่ที่ใจเรา : ก่อนอื่นก็ต้องดูว่า ใจของเรา ความคิดของเรา ทัศนคติของเรา เป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นเพราะความคิดลบ เป็นเพราะความยึดติด เป็นเพราะความคาดหวัง เป็นเพราะความยึดในความคาดหวังหรือเปล่า อย่าไปโทษภายนอก เพราะการมองหรือโทษภายนอกนี่มันมองง่าย เหมือนกับเวลาลิงมีแผลเหวอะหวะ หลายคนก็จะบอกทันทีว่าเป็นเพราะกะปิ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก ที่เราทุกข์ ที่เราหงุดหงิด ที่เราไม่พอใจ มันไม่ใช่เพราะสิ่งภายนอกมากระทบกับเราทางตาทางหูทางจมูก แต่เป็นเพราะความรู้สึกลบ ความเกลียด ความไม่ชอบสิ่งนั้นต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเสียง รูป การกระทำ คำพูดของใคร ถ้าไปแก้ข้างนอกไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ อย่างน้อยก็รู้จักปรับแก้ที่ใจของตัว นั่นแหละคือมรรค ที่จะพาเราไปสู่นิโรธคือทางออกจากปัญหาได้ อย่าลืมว่า the way out is in
Sat, 02 Nov 2024 - 44min - 1023 - 25670719pm--ทำอย่างไรจะหายโกรธ
19 ก.ค. 67 - ทำอย่างไรจะหายโกรธ : ถึงแม้เราจะยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้ความโกรธ ความเครียด ความทุกข์ใจ เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ใจก็ยังมีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ ถ้าหากว่ามีสติ สติช่วยทำให้ถอนใจออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น เหมือนกับพาตัวเราออกห่างจากกองไฟ และต่อไป พอเรามีปัญญา แม้จะยังไม่อาจจะหมดสิ้นซึ่งความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูได้ แต่ความยึดมั่นที่ว่ามันเบาบางลง ความโกรธก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง กองไฟที่มันเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง เพราะว่าไม่ว่ามีอะไรมากระทบ มีอะไรเกิดขึ้น มันก็ไม่กระทบกับตัวกูอีกต่อไป เพราะว่าไม่มีตัวกูตั้งแต่แรกแล้ว แม้แต่ก้อนหินตกลงมา ถ้าหากว่ามีกระจกขวางอยู่ กระจกก็แตก แต่ถ้าก้อนหินตกลงมา ไม่มีกระจกเลย มันก็ตกลงสู่อากาศธาตุ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น มีคนมาด่า แต่ว่าเราไม่ทุกข์เลย เพราะความโกรธมันไม่ได้มากระแทกกับตัวกู เพราะไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก สิ่งที่เขาพูด มันก็เป็นแค่อากาศธาตุ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ใช่เข้าหูซ้ายแล้วเก็บเอาไว้ที่หูขวา แล้วก็มาทุรนทุรายกลัดกลุ้ม ตราบใดที่ยังมีตัวกู มันก็ยังเป็นอย่างนั้น เหมือนกับใครโยนก้อนหินลงมาก็เอาตัวกูไปรับ ก็เจ็บ แต่ถ้าเขาโยนก้อนหินมา เราหลบ ไม่เอาตัวกูเข้าไปรับ มันก็ไม่เจ็บ แต่ที่เจ็บก็เพราะว่าเอาตัวกูเข้าไปรับทั้งนั้น หรือไม่ก็ไปยึด ว่าเป็นของกู
Mon, 21 Oct 2024 - 28min - 1022 - 25670718pm--ดีหรือร้ายอยู่ที่ใจเราSun, 20 Oct 2024 - 26min
- 1021 - 25670711pm--ทุกนาทีมีค่าเมื่อมีสติ
11 ก.ค. 67 - ทุกนาทีมีค่าเมื่อมีสติ : หลายคนก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยแต่ว่าใจมันก็ยังไปจมอยู่กับความทุกข์ ความโศกเศร้า ความหงุดหงิด ปล่อยวางไม่ได้กับเงินที่สูญไป หรือเงินที่จ่ายเกิน รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรจะไปหมกมุ่น แต่ว่ามันก็ยังหมกมุ่น อันนี้เพราะว่าไม่มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ ตรงนี้แหละที่เรียกว่า สัมมาสติ ถ้าเรามีสติโดยเฉพาะสติที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ การที่ใจมันจะไม่ไปจมอยู่กับความทุกข์เพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ มันก็จะเกิดขึ้นน้อยลง และทำให้มาอยู่กับปัจจุบัน และชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่กับปัจจุบัน หรือทำสิ่งที่ทำให้เวลาที่มีอยู่เกิดประโยชน์ อันนี้เรียกว่าทำปัจจุบันให้มีคุณค่า ซึ่งก็เป็นการเพิ่มสุขให้ใจ ไม่ใช่มาซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ใจ ฉะนั้น เราจะใช้เวลาให้มีคุณค่าได้มันต้องมีสติด้วย เพราะถ้าไม่มีสติมันก็หลุดลอยไปกับความทุกข์ยามที่เจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าเกิดขึ้นกับทรัพย์ เกิดขึ้นกับร่างกาย เกิดขึ้นความสัมพันธ์ หรือเกิดขึ้นกับหน้าตา
Sat, 19 Oct 2024 - 26min - 1020 - 25670710pm--ดูแลตัวกูไม่ให้กำเริบ
10 ก.ค. 67 - ดูแลตัวกูไม่ให้กำเริบ : คนจำนวนไม่น้อย เวลาต้องการอวด ต้องการประกาศตัวตน ไม่รู้ตัวเลยนะว่ามันเป็นการประจานตัวเอง ว่ามีความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือว่าหลงอยู่ในอำนาจของตัวมานะมาก อยากจะประกาศว่านี่กูนะ นี่กูเก่งนะ นี่กูดีนะ แต่ว่ามันกลับเป็นการเผยให้คนเห็นว่า ที่พูดมากิเลสทั้งนั้น หรือเป็นความหลงยึดหลงติดในตัวกูทั้งนั้นแหละ แล้วเดี๋ยวนี้มีแบบนี้เยอะเลย เห็นได้ทางโซเชียลมีเดีย ทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม การประกาศตัวตนโดยไม่รู้ตัว เพื่อเรียกร้องเรตติ้ง หรือเพื่อแสวงหาคำชื่นชมสรรเสริญ เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่โดยที่ไม่ได้คิดว่า มันเป็นตัวที่ทำให้กิเลสครองใจ แล้วสุดท้ายตัวเองก็ทุกข์ ทุกข์ที่คนไม่เห็นความเก่งของเรา จนต้องอวด เพราะถ้าไม่อวด เขาก็จะไม่เห็นความดีของเรา ไม่เห็นความเก่งของเรา หรือบางทีอวดแล้ว ปรากฏว่าคนก็ยังไม่ได้ชื่นชมสรรเสริญมากเท่าไหร่ ก็ทุกข์ เดี๋ยวนี้เพียงแค่โพสต์อะไรไปแล้วคนไม่กดไลค์หรือคนกดไลค์น้อยก็ทุกข์แล้วนะ นี่ขนาดยังไม่ได้โดนตำหนิ ยังไม่ได้โดนทักท้วง ยิ่งถ้าเกิดถูกทักท้วง ยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ คนเดี๋ยวนี้ผิวบางมาก แตะต้องไม่ได้ ทักท้วงไม่ได้ เพราะว่าปล่อยให้กิเลสครองใจ
Fri, 18 Oct 2024 - 28min - 1019 - 25670708pm--ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับใจที่ขาดสติ
8 ก.ค. 67 - ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับใจที่ขาดสติ : พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า โจรกับโจรทำร้ายกัน มันก็ไม่ได้สร้างความเสียหายมากเท่ากับจิตที่ฝึกไว้ผิด หรือจิตที่วางไว้ผิด จิตที่ฝึกไว้ผิดหรือจิตที่วางผิด ก็คือจิตที่ปรุงแต่งในทางลบทางร้าย จินตนาการ แล้วก็เชื่อความคิด เชื่อจินตนาการนั้น อันนี้ยังรวมไปถึงจิตที่ยึดติดถือมั่นในสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วรวมอยู่ด้วย เช่น คนที่สูญเสียทรัพย์ บ้านถูกยึด ไฟไหม้ หรือสูญเสียคนรัก ที่จริงความสูญเสียนั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับสิ่งภายนอก สิ่งนอกตัว แต่พอไปยึดติดถือมั่น วางไม่ได้ มันก็ส่งผลทำร้ายจิตใจ หรือทำให้จิตใจเกิดการปรุงแต่งในทางลบทางร้าย จนกระทั่งมันทำร้ายร่างกายของตัวเอง เริ่มต้นที่หัวใจก่อน หัวใจแย่ แล้วหัวใจก็ทำให้อวัยวะส่วนอื่นพลอยเสียหายไปด้วย ฉะนั้นให้เราตระหนักว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดมันไม่ใช่อะไรอื่น แต่มันคือใจของเรา ใจถ้าหากว่าฝึกไว้ดี ก็สามารถจะนำสิ่งดี ๆ มาให้กับเราอย่างที่พ่อแม่ให้ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นพุทธภาษิต สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เราควรจะได้ก็มาจากใจนั่นแหละ แม้แต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ก็ทำให้ไม่ได้ นั่นคืออะไร คือความสุข ความอิสระ นิพพานซึ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดเท่าที่มนุษย์เราพึงจะเข้าถึงได้ แม้กระทั่งเทวดา มาร พรหม ก็ไม่อาจจะเข้าถึงได้ดีเท่ามนุษย์ ก็เกิดขึ้นได้ บรรลุได้ก็ด้วยใจของเรานั่นแหละ ใจที่ฝึกไว้ดี แม้จะเจอความสูญเสีย เจอความทุกข์ เจอความเจ็บป่วยอย่างไร ใจก็ยังผ่องแผ้วอยู่ได้
Thu, 17 Oct 2024 - 24min - 1018 - 25670707pm--ธรรมะไม่ใช่เรื่องยาก
7 ก.ค. 67 - ธรรมะไม่ใช่เรื่องยาก : การปฏิบัติจริง ๆ มันก็ไม่ใช่ยาก เวลาใครมาถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็บอกเขาว่าให้อยู่กับปัจจุบัน ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ทำอะไรก็ทำด้วยใจเต็มร้อย ตัวอยู่ในห้องน้ำใจก็อยู่ห้องน้ำ ตัวอยู่บนที่นอนก็ใจก็อยู่ในห้องนอน ไม่ใช่ไปอยู่ที่อื่น การปฏิบัติแบบนี้นี่ที่เรียกว่าสร้างสติทำความรู้สึกตัว มันก็จะช่วยทำให้การรักษาศีลเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าหากว่ามีสติ ความรู้สึกตัวแล้ว โลภะโทสะก็จะมาครอบงำได้ยาก มันก็จะบังคับให้ผิดศีลได้ยาก มันก็เป็นการเสริมการสมาทานศีลการรักษาศีล แล้วมันก็ไปส่งเสริมปัญญาด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของกายและใจ ต่อไปก็จะเข้าใจ เห็นเลยว่ามันไม่มีตัวเรา มันมีแต่รูปกับนาม กายก็ไม่ใช่เรา ใจก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราทั้งกาย ไม่ใช่ของเราทั้งใจ มันก็จะเห็นสัจธรรมความจริงจากการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องยาก มันอยู่ที่การปฏิบัติ อยู่ที่ความเพียรนั่นแหละ การปฏิบัติไม่ใช่ยาก แต่ยากตรงที่การลงมือปฏิบัติ และทำอย่างต่อเนื่อง ที่จริงพุทธศาสนา สาระสำคัญก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ก็อย่างที่ท่านพอมยุมบอก อยู่ที่ไหนถ้าทำใจให้สงบบริสุทธิ์สะอาด ตรงนั้นก็เป็นวัดแล้ว การปฏิบัตินั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติชอบ และนี่คือพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรมาก ส่วนเรื่องหลักธรรมนี่ก็เป็นสิ่งที่ตามมาทีหลังจากการปฏิบัติ ถ้าเราทำให้พุทธศาสนานี่เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะไม่ใช่ง่ายต่อการเข้าใจเท่านั้น แต่ง่ายต่อการปฏิบัติด้วย คนก็จะเห็นคุณค่าของพุทธศาสนามากขึ้น แล้วก็เอาพุทธศาสนาหรือการปฏิบัตินี่มาช่วยแก้ปัญหาชีวิตของตนได้
Wed, 16 Oct 2024 - 27min - 1017 - 25670706pm--ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น
6 ก.ค. 67 - ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น : ถ้าเราเห็นความจริงว่า รูปและนาม กายและใจ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เวลามีความปวดก็ไม่ใช่เราปวด ถ้าเห็นความจริงแบบนี้ เวลามีความปวดมันทุกข์น้อยกว่า คนที่เห็นว่าที่ปวดนี่คือกายปวด ไม่ใช่เราปวด ที่โกรธนี่มันคือความโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ มันช่วยทำให้หลุดจาก หรือเพลา หรือเบาจากความทุกข์ไปได้เยอะเลย คนที่ทุกข์มากเพราะว่าไม่ได้คิดว่ากายปวด แต่ไปคิดว่ากูปวด ไปสำคัญมั่นหมายว่าความโกรธเป็นกู เป็นของกู นี่ก็เหมือนกัน ความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่เห็น หรือสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ความจริง แล้วเห็นอีกว่ามันมีกูมีของกู เห็นอยู่ว่าเราโกรธ เราดีใจ แต่จริง ๆ ไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่เพราะมันไม่มีเราตั้งแต่แรก จะเห็นความจริงให้ได้นี่ ต้องมีสติเบื้องต้น เห็น ไม่เข้าไปเป็น เมื่อเห็นไม่เข้าไปเป็น มันก็จะเห็นเลยว่าความโกรธนี้อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง ความปวดก็อันหนึ่ง กายก็อันหนึ่ง จะว่ากายปวดก็ไม่เชิง เพราะว่าความปวดก็เพียงแต่อาศัยกายเป็นที่เกิด แล้วยิ่งไปคิดว่ากูปวดฉันปวดด้วยแล้วนี่ มันก็ยิ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก แต่เพราะไม่เห็นความจริงนี่แหละจึงทุกข์กันเยอะ เวลาปวดก็กูปวด กูปวดมันก็เลยยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ เป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ ฉะนั้น ที่ว่าความจริงเป็นมากกว่าที่เห็น หรือสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป อันนี้มันเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ทั้งในทางโลกและทางธรรม เวลาจะซื้อของอะไรหรือเวลาเจอโชค ก็ให้รู้ว่ามันอาจจะไม่ใช่โชคดีอย่างเดียวก็ได้ มันอาจจะแฝงโชคร้ายเอาไว้ หรือเวลาเจอโชคร้าย ก็ให้รู้ว่ามันอาจจะเป็นโชคดีที่แฝงอยู่ก็ได้ ความจริงอาจจะไม่ใช่เป็นอย่างที่เห็น เป็นข้อเตือนใจที่สำคัญมาก
Tue, 15 Oct 2024 - 24min - 1016 - 25670705pm--ปฎิบัติเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น
5 ก.ค. 67 - ปฎิบัติเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น : ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา มันก็ดีทั้งนั้นถ้าเรารู้จักใช้ เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติถ้าเรารู้จักมองได้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ว่ายังไม่ทันได้ความสงบ ยังไม่ทันได้สติ ไม่ทันได้ความรู้สึกตัว แต่ก็ได้เรียนรู้ได้เห็นอะไรหลายอย่างจากใจของเรา ซึ่งอันนี้เป็นตัวเพิ่มปัญญาให้เจริญงอกงามมากขึ้น และถ้ามองให้เป็น มันได้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติแล้ว ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะมองเป็นหรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่จะหาประโยชน์จากมันได้หรือเปล่า
Mon, 14 Oct 2024 - 25min - 1015 - 25670704pm--คาดหวังน้อยก็ทุกข์น้อย
4 ก.ค. 67 - คาดหวังน้อยก็ทุกข์น้อย : แต่ผู้คนไม่ค่อยตระหนักว่าความทุกข์ใจของตัว แท้จริงไม่ได้เกิดจากคนอื่น มันเกิดจากความคาดหวังของเราเอง อย่างที่เราสวดทุกเช้า “มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์” การที่เราไม่ได้อะไรนี้ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ถ้าหากว่าสิ่งที่เราไม่ได้นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา การที่เราแค่ไม่ได้อะไรนี้ มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์ จนกว่าเราจะปรารถนาสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็น สส. ไม่ได้เป็น สว. เราทุกข์หรือเปล่า เราไม่ทุกข์เพราะเราไม่อยาก ต้องมีความอยากก่อน แล้วไม่ได้จึงจะทุกข์ พูดอีกอย่างก็คือว่า ความอยากคือเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพราะไม่ได้ เราไม่ได้อะไรตั้งหลายอย่าง ทำไมเราไม่ทุกข์ ก็เราไม่ได้อยากได้สิ่งเหล่านั้น เมื่อไม่ได้ เราก็ไม่ทุกข์ รางวัลที่ 1 เราก็ไม่ได้อยากได้ เพราะฉะนั้นถึงไม่ได้รางวัลที่ 1 หรือว่าเลขท้าย 2 ตัว เราก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้มีความคาดหวัง ไม่ได้มีความอยาก ในทางตรงกันข้าม ได้อะไรแล้ว แต่ถ้าเราไม่อยากหรือไม่คาดหวัง บางทีอาจจะทุกข์ เช่น กินข้าวอิ่มแล้ว แต่ก็ยังมีคนเอาของมาให้กิน ทั้งที่อร่อยแต่เราไม่อยากแล้วเพราะเราอิ่ม หรือไม่มีการเจริญอาหาร การกินเข้าไปมันทำให้พะอืดพะอม ทั้งที่เป็นของอร่อย ของดี แต่เราไม่อยาก ลองมาคิดดูดี ๆ การที่เราเจออะไร จริง ๆ สิ่งที่เราเจอไม่ได้ทำให้เราทุกข์หรอก แต่ถ้าหากว่าเราจะทุกข์ก็เพราะเราไปคาดหวังในสิ่งที่มันไม่เป็นจริง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ตรงกับความคาดหวัง
Sun, 13 Oct 2024 - 27min - 1014 - 25670703pm--ปฎิบัติธรรมทำไม ในเมื่อยังไม่ทุกข์
3 ก.ค. 67 - ปฎิบัติธรรมทำไม ในเมื่อยังไม่ทุกข์ : เราไม่ควรจะรอให้เกิดความทุกข์เสียก่อน ทุกข์มาถึงตัวถึงค่อยสนใจปฏิบัติธรรม ในขณะที่เรามีสุขภาพดี มีการงานที่ราบรื่น ครอบครัวอบอุ่น ควรเป็นเวลาสำหรับการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอะไร อย่างน้อย หนึ่ง ให้รู้จักรักษาใจ ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ปล่อยใจให้หลงไปอยู่กับอดีต จมในอนาคต ปรุงแต่งกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อดีตผ่านไปแล้ว แม้เจ็บปวดเพียงใดก็ไม่ควรจะไปจมปลักอยู่กับมัน อนาคตมันจะเลวร้ายอย่างไรก็ยังไม่รู้ อย่าไปปรุงแต่งล่วงหน้า ถ้าหากรู้จักเอาใจอยู่กับปัจจุบัน ก็ช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ เพราะทุกวันนี้เราซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง ด้วยการปล่อยใจให้จมอยู่กับอดีต หรือไม่ก็ไปรออยู่อนาคต สอง รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ เพราะว่าคนเราทุกข์ก็เพราะความคิด แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ถูก ทุกข์เพราะหลงไปในความคิดต่างหาก ทุกข์เพราะหลงเข้าไปในอารมณ์ ถ้าหากว่ารักษาใจไม่ให้หลงเข้าไปในความคิด ไม่ให้หลงเข้าไปในอารมณ์ได้ มันคิดก็คิดไป แต่ใจไม่ไหลไปกับมัน จะมีความโกรธเกิดขึ้นในใจ จะมีความเครียดเกิดขึ้นในใจ ก็รู้ทัน ไม่เข้าไปยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา เรียกว่าเห็น ไม่เข้าไปเป็น นี่ก็ช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ หรือถ้าให้ดีก็คือ เปิดใจเห็นสัจธรรมความจริง ว่ามันไม่มีอะไรเที่ยง มีขึ้นมีลง มีกับหมด ได้กับเสีย เจอกับจาก พบกับพราก เป็นของคู่กัน ถึงเวลาเจอความสูญเสียพลัดพราก เจอความเจ็บป่วย มันก็ไม่ทุกข์ เพราะรู้ว่ามันเป็นธรรมดา อันนี้แหละคือความหมายของการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใจสงบ หรือว่าพาใจออกจากปัญหา หรือหนีปัญหาชั่วคราว แต่แม้กระนั้นแค่นี้ก็ยังดี เพราะพอเราพาตัวออกจากปัญหา หรือได้พักใจสักหน่อย ก็ทำให้พอมีสติมีกำลังที่จะไปสู้ต่อไป บางทีเราต้องรู้จักเว้นวรรคให้กับชีวิตบ้าง หรือว่ารู้จักสับสวิตช์ คือสับคัตเอาท์ ไม่ใช่ปล่อยให้มันคิดเรื่อยเปื่อยไป จนกระทั่งเป็นทุกข์หนักขึ้น อย่างน้อยเรารู้จักพักมันบ้าง หรือรู้จักสับคัตเอาต์ รู้จักเว้นวรรคให้กับความคิด รู้จักพักใจ อย่างนี้ยังช่วยได้ แต่จะให้ดีก็ต้องเปิดใจให้เห็นสัจธรรมความจริง จนกระทั่งไม่หลงเพลิดเพลิน ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายที่มีที่เป็น เมื่อไม่ยึดมั่น ถึงเวลามันแปรปรวนไป ใจก็ไม่ทุกข์
Tue, 08 Oct 2024 - 27min - 1013 - 25670629pm--พักใจไว้กับธรรมMon, 07 Oct 2024 - 1h 01min
- 1012 - 25670629pm--ถามตอบปัญหาธรรมSun, 06 Oct 2024 - 29min
- 1011 - 25670625pm--ทุกข์เพราะใจ ได้กลายเป็นเสีย
25 มิ.ย. 67 - ทุกข์เพราะใจ ได้กลายเป็นเสีย : ถ้าเรานึกแบบนี้เอาไว้ก่อน มันก็ไม่ทุกข์มากหากว่าจะต้องเจอ แล้วเรื่องนี้ยังสอนอีกนะ คนหลายคนมักจะถือคติว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก พอมีลดราคาก็รีบซื้อก่อน ก่อนที่จะหมดโอกาส แต่พอซื้อไปแล้วถึงค่อยพบว่า ช้าๆได้พร้าเล่มงาม คนเราบางทีมันก็ยากนะว่าเมื่อไหร่น้ำขึ้นให้รีบตัก หลายคนถือคตินี้แหละ น้ำขึ้นให้รีบตัก พอเขาลดราคาก็รีบซื้อเลย กลัวหมด แต่พอผ่านไปสองสามอาทิตย์ สองสามเดือนมันลดกระหน่ำยิ่งกว่าเดิม รู้อย่างนี้รอดีกว่า คนเราบางทีต้องรู้จักถือคติช้าๆได้พร้าเล่มงาม ก็คงไม่มีเหตุจะต้องทุกข์ เป็นเพราะเราเชื่อว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก ก็เลยต้องมาเสียใจ แต่ถ้าวางใจถูกมันก็ไม่มีเหตุผลต้องเสียใจ ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องได้หรือเสีย มันเป็นเรื่องการมอง มองไม่เป็นได้คือเสีย มองไม่ถูกมากก็คือน้อย มองไม่เป็น ซื้อถูกก็เข้าใจว่าซื้อของแพง ต้องกลับมาทักท้วงใจเราบ้าง อย่าปล่อยให้ใจมันเล่นตลกหรือปั่นหัวเรา ปัญหาที่ไปเชื่อความคิดในหัวเรามากเกินไป มันถึงทุกข์ กลุ้มใจจนนอนไม่หลับใจได้กลายเป็นเสีย
Sat, 05 Oct 2024 - 29min - 1010 - 25670624pm--ชีวิตสมบูรณ์แบบได้ด้วยการลดละ
24 มิ.ย. 67 - ชีวิตสมบูรณ์แบบได้ด้วยการลดละ : การที่คนเรานี่คิดแต่จะเอาอย่างเดียวนี่มันมันไม่พอ มันต้องคิดถึงการให้ด้วย การได้แชมป์หรือการยิงประตูเข้าเนี่ย อย่างที่บอกนะเป็นเรื่องยากก็จริง แต่การสละโอกาสที่จะได้แชมป์สละโอกาสที่จะยิงประตูเข้าเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมเขาได้ยิงประตู หรือว่าสละโอกาสเพื่อไปช่วยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังลำบากเนี่ย อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า แล้วเพราะฉะนั้นใครที่ทำได้เนี่ยจึงได้รับการชื่นชมสรรเสริญ อันนี้เป็นคุณธรรมที่เราทุกคนควรจะตระหนัก อย่าคิดถึงแต่การได้ แต่ต้องนึกถึงการให้ด้วย เพราะว่าอันที่จริง ถึงเวลาที่คนเรากำลังจะหมดลม เมื่อคนเราใกล้จะตายมันไม่ค่อยได้คิดหรอกว่า มีอะไร ได้อะไร สิ่งนั้นไม่ได้ช่วยเลย กลับทำให้ทุกข์เสียอีก แต่สิ่งที่ทำให้เราภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา แล้วก็สามารถที่จะยอมรับความตายได้ คือการที่เราได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือผู้คน ได้เสียสละ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า เงินทองที่ได้หรือรางวัลที่คนอาจจะพูดถึงชั่วคราว แต่ที่คนเขาจะกล่าวถึงยาวนาน คือความเสียสละ ความมีน้ำใจ ความขเอื้อเฟื้อ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญกว่า ซึ่งนับวันในวงการกีฬาก็จะลบเลือนไป สิ่งที่โรนัลโด้ทำ ชี้ให้เห็นเลยว่า การยิงประตูเข้าททนี่มันไม่สำคัญเท่ากับการที่เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมได้ยิง อันนี้คือน้ำใจที่ใครๆ ก็สรรเสริญ
Fri, 04 Oct 2024 - 26min - 1009 - 25670623pm--สุขเพราะช็อป ก็ทุกข์เพราะช็อป
23 มิ.ย. 67 - สุขเพราะช็อป ก็ทุกข์เพราะช็อป : เวลาใจเราไม่ยอมรับกับประสบการณ์บางสิ่งบางอย่าง หรือว่ายังรู้สึกเสียดายเงิน ไม่ต้องการจ่ายแพง หรือรู้สึกละล้าละลังเวลาจะซื้อของอะไร บางทีก็ต้องอาศัยการตัดใจ ยอมรับผลที่เกิดขึ้น แล้วก็ฝึกใจปล่อยวาง เรียกว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ แล้วที่สำคัญ ต้องเตือนใจว่า “ถ้าปรารถนาความสุขจากการซื้อของ ก็ต้องเตรียมใจทุกข์กับการซื้อของได้เลย” คนเรามักจะมองเห็นแต่ด้านดี “โอ ซื้อของ ฉันจะได้ของใหม่ มีความสุขกับการช็อป” แต่ลืมไปว่าอะไรที่ให้ความสุขกับเรา ก็สามารถจะทำความทุกข์ให้กับเราได้ ของที่เราพอใจที่ได้ซื้อมาเมื่อเช้า ตกบ่ายมันกลับกลายเป็นตัวทิ่มแทงใจเรา เพราะมันกลายเป็นของแพงไปเสียแล้ว อันนี้เป็นข้อเตือนใจคนเราได้อย่างดีเลย “สุขเพราะอะไร ก็เตรียมใจทุกข์เพราะสิ่งนั้นได้” ฉะนั้น ถ้าจะให้ดีก็อย่าไปปล่อยใจเพลินหรือมีความสุขกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก เพราะว่าวันดีคืนดีมันก็สามารถจะทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ โดยเฉพาะผู้คนที่ปรารถนาความสุขจากการช็อป จากการซื้อ โดยเฉพาะซื้อของถูกนี่ ถ้าวางใจไม่ถูก มันก็จะเจอความทุกข์ชนิดที่ไม่คุ้มกับเงินทองที่เสียไปเลย
Thu, 03 Oct 2024 - 23min - 1008 - 25670621pm--เติมสติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
21 มิ.ย. 67 - เติมสติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต : ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จะเห็นเลยว่า ความคิดนี่แม้ว่ามันจะยืดจะยาวเป็นสาย แต่จะมีจุดหนึ่งที่เกิดความระลึกได้ หรือความรู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวขึ้นมานี่ ความคิดที่ยืดยาวเป็นสายสะดุดเลย เหมือนกับว่าจิตหลุดจากความคิด หรือกระแสความคิดนั้น คนเรานี่ไม่ใช่ว่าจะหลงไปได้ตลอด จะหลงไปถึงจุดหนึ่งหรือฟุ้งไปในจุดหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา หรือรู้ตัวว่าเผลอไป แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จิตจะกลับมา กลับมาอยู่กับการปฏิบัติ กลับมาอยู่กับการทำในสิ่งนั้นๆ ในปัจจุบันขณะ เช่น ฟังบรรยายหรือสวดมนต์ ขณะที่ฟังบางช่วงใจลอย คิดถึงลูก คิดถึงงานการ แต่แล้วความคิดนี่ก็เกิดหยุด สะดุด เพราะเกิดความรู้ตัว ตรงนั้นแหละแปลว่าสติทำงานแล้ว สติ คือความระลึกได้ เมื่อเราระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ นั่นคือสติ และการปฏิบัติของเราก็คือทำให้เกิดความระลึกได้บ่อยๆ จะระลึกได้บ่อยๆ ก็ต้องทำเยอะๆ ให้เวลามากๆ ชั่วโมงแรกๆ อาจจะรู้สึกตัวหรือระลึกได้แค่ 6-7 ครั้ง ที่เหลือคือฟุ้ง แล้วก็หลง แต่พอเราทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ จะระลึกได้บ่อยขึ้น ไม่ใช่ 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง แต่ว่าอาจจะ 9 หรือ 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และถ้าทำต่อไปอีกวันรุ่งขึ้นก็อาจจะระลึกได้ไม่ใช่ 9 หรือ 10 ครั้งแล้ว แต่ 15 ครั้ง แปลว่าอะไร แปลว่าความคิดมันสั้นลง ๆ เคล็ดลับของการปฏิบัติก็คือ เคล็ดลับของการเจริญสติก็คือทำให้ความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้นบ่อย ทำให้ความระลึกได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ คือต้องทำเยอะๆ แล้วก็ทำแบบไม่ได้คาดหวัง เพราะถ้าคาดหวัง ไปจ้อง ไปเพ่ง ไปทำงานแทนสติ แทนที่จะปล่อยให้สติทำงาน ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ ต้องให้สติมันทำงานเอง หรือเกิดความระลึกขึ้นมาได้เอง สิ่งที่เราทำได้คือให้โอกาสสติเขาได้ทำงานบ่อยๆ ให้โอกาสสติทำงานบ่อยๆ คือการที่เราให้เวลากับการปฏิบัติเยอะ ๆ
Wed, 02 Oct 2024 - 24min - 1007 - 25670620pm--ขุมทรัพย์ล้ำค่ากลางใจ
20 มิ.ย. 67 - ขุมทรัพย์ล้ำค่ากลางใจ : แต่ก่อนเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อปกป้องความคิดใดความคิดหนึ่ง พอออกมาดูความคิดนั้นก็รู้ว่าไม่มีอะไรเลย แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทําไมตอนนั้นเราไปเป็นบ้าเป็นหลัง เอาเป็นเอาตายกับการปกป้องความคิด หรือตอนจมอยู่ในอารมณ์ ขลุกอยู่ในอารมณ์ก็ถูกอารมณ์ปั่นหัวจนกระทั่งต้องทำตามอำนาจของมัน แต่พอถอยออกมาจากอารมณ์นั้นก็พบว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีค่าควรแก่การใส่ใจด้วยซ้ำ และพบว่ามันไม่ได้มีอำนาจเหนือใจเราขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า พอเราถอยออกมาดู มันหมดพิษสงไปเลย กลายเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ตอนที่เข้าไปขลุกอยู่ในอารมณ์ มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เวลาโกรธถึงกับโวยวายว่า ถ้ากูไม่ด่ามัน กูไม่ได้ทำร้ายมัน เป็นหมาดีกว่า แต่พอถอยออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น โอ้ หัวเราะเยาะมันได้เลย มันทำอะไรเราไม่ได้ การถอยออกมาทำให้เราเห็น เห็นอย่างที่มันเป็น และเห็นว่ามันไม่ใช่เราด้วย แต่ก่อนไปคิดว่า มันเป็นเรา ๆ ๆ ความคิดก็เป็นเรา อารมณ์ก็เรา แต่ที่จริงมันไม่ใช่เราเลย พอเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันหมดพิษสงไปเลย ความคิดและอารมณ์นั้นไม่ว่าจะเป็นความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหงุดหงิด การเจริญสติ ก็คือ การทำให้ใจถอยออกมาเป็นผู้ดูผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น บางครั้งการที่เราจะรู้จักอะไรดี ต้องอาศัยการถอยออกมา แล้วเราจะพบว่า ความทุกข์ที่เราเคยเอาเป็นเอาตายที่จริงมันไม่มีอะไรเลย และการที่เราถอยมาทำให้เราได้เห็นสิ่งที่มีค่าที่มีอยู่แล้วในใจของเราด้วยก็ได้
Tue, 01 Oct 2024 - 28min - 1006 - 25670616am--สวดมนต์ให้ได้ทั้งบุญและธรรม
16 มิ.ย. 67 - สวดมนต์ให้ได้ทั้งบุญและธรรม : เวลาเรามาสวดมนต์ อย่านึกถึงแต่บุญ ให้นึกถึงธรรมะด้วย เราสามารถจะเรียนรู้ธรรมจากการสวดมนต์ได้ ไม่ว่าจากการอ่านบทสวดมนต์ ถ้าเป็นภาษาไทยหรือมีการแปล เราก็ได้ธรรมะ อย่างเช่น ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข ความสุขไม่ได้เกิดจากการได้ แต่เกิดจากการสลัด สลัดของหนัก นี่ก็ธรรมะ หรือว่าฝึกสติในขณะที่สวดมนต์ นี่ก็ธรรมะ ฝึกสติ ใจไหลใจลอยไปไหนก็ดึงกลับมา ใจหงุดหงิดขุ่นมัวก็ให้ปล่อยให้วางสิ่งที่ทำให้วิตกหรือหงุดหงิดขุ่นมัว ถ้าเราเข้าใจจุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ได้ถูกต้อง เราก็จะได้ทั้งบุญทั้งธรรม เวลาทำบุญเราก็ได้ทั้งบุญและธรรม ไม่ว่าจะทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน หรือทำบุญด้วยการรักษาศีล
Mon, 30 Sep 2024 - 31min - 1005 - 25670615pm--ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุขSun, 29 Sep 2024 - 42min
- 1004 - 25670615pm--จะทุกข์หรือไม่อยู่ที่ใจเราSat, 28 Sep 2024 - 25min
- 1003 - 25670614pm--ยิ่งกดข่ม ใจยิ่งทุกข์
14 มิ.ย. 67 - ยิ่งกดข่ม ใจยิ่งทุกข์ : จะดีกว่าถ้าเกิดว่ามันมีความรู้สึกหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็แค่รับรู้มัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่าให้รู้ซื่อ ๆ คืออันนี้แหละที่เคยพูดว่านักปฏิบัติเราต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ รู้ในที่นี้คือรู้แบบรู้ซื่อ ๆ รู้โดยไม่ตัดสินว่า ดีหรือชั่ว เพราะถ้าตัดสินว่ามันชั่วก็จะเผลอกดข่มมันเอาไว้ อย่างที่เกิดขึ้นกับ 2 ตัวอย่างหลัง แต่ถ้ารู้โดยที่ไม่ต้องไปตัดสินว่าดีหรือชั่ว ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แค่รู้ซื่อ ๆ มันโกรธก็รู้ว่าโกรธ มันอิจฉาก็รู้ว่าอิจฉา มันอยากได้หรือมีจิตปฏิพัทธ์กับสามีของพี่สาวก็รู้ ทำตามมันก็ไม่ได้ เกิดข้อเสีย เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าไปกดข่มมันเอาไว้ก็มีปัญหา การรู้ซื่อ ๆ นี้มันช่วยได้เยอะทีเดียว แล้วทุกวันนี้คนจำนวนมากมีความทุกข์เพราะกดข่มความคิดที่ไม่ดี ที่มันไม่ควรจะเกิดในใจของตัว อาจจะไม่ใช่โกรธ หรือว่ามีราคะ หรืออิจฉา แต่อาจจะรู้สึกไม่ดีที่มีเสียงจ้วงจาบครูบาอาจารย์ มีเสียงต่อว่าพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือบางทีก็จ้วงจาบพระพุทธเจ้า พยายามกดข่มมันเอาไว้ ไม่สำเร็จสักราย แล้วก็ไม่มีความสุขด้วย จนกว่าจะยอมรับว่า มันมีความคิดแบบนี้ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส แต่ก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรา พอไปคิดว่ามันเป็นเราเมื่อไหร่ เสร็จเลย มันจะรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ถ้ามองว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นเรื่องที่คิดขึ้นได้ ความคิดที่เลวร้าย หรือ ความคิดแบบอุบาทว์ มันไม่ใช่เรา ที่จริงถ้ามีสติรู้ซื่อ ๆ มันก็ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเป็นความคิดอุบาทว์ มันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็จะผ่านเลยไป
Tue, 17 Sep 2024 - 26min - 1002 - 25670613pm--ใฝ่รู้ อย่าใฝ่เสพ
13 มิ.ย. 67 - ใฝ่รู้ อย่าใฝ่เสพ : ถ้าสร้างนิสัยใฝ่รู้จะนําไปสู่นิสัยใฝ่ธรรม ถ้าเราใฝ่รู้ ขยันรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุก ยิ่งเพลิดเพลิน และยิ่งเกิดฉันทะในการเพียร ในการทำ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีความฟุ้งซ่าน บางครั้งใจไม่สงบเลย แต่ถ้าใฝ่รู้แล้ว ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน นี่ถือว่าได้กําไร แต่ถ้าใฝ่เสพ ใฝ่เสพความสงบ พอฟุ้งซ่าน พอมีความคิดมาก ๆ หงุดหงิดหัวเสีย บางทีจะท้อ ไม่อยากปฏิบัติ ทำแล้วฟุ้งซ่าน ทำทีไรก็ฟุ้งซ่าน ความคิดเยอะเหลือเกิน แต่นักปฏิบัติที่ใฝ่รู้ ความฟุ้งซ่านก็ให้ความรู้กับเรา เพราะว่าดูจิตก็เห็นธรรม จิตที่ฟุ้งซ่านก็สอนธรรมให้กับเราได้เยอะแยะ เช่นเดียวกับร่างกายที่ป่วยก็สอนธรรมให้กับเราได้เหมือนกัน
Mon, 16 Sep 2024 - 25min - 1001 - 25670612pm--ในบวกมีลบ ในลบมีบวก
12 มิ.ย. 67 - ในบวกมีลบ ในลบมีบวก : อาจารย์พุทธทาสท่านก็บอกว่าความเจ็บป่วยมาเตือนให้ฉลาด ป่วยทุกครั้งก็ฉลาดทุกที เพราะว่าความเจ็บป่วยเขาสามารถสอนธรรมให้เราเห็นเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ซึ่งถ้าเราเข้าใจก็พ้นทุกข์ได้ ในทุกข์นี่มีหนทางแห่งความพ้นทุกข์อยู่ เหมือนกับสวิตช์ไฟ สวิตช์ไฟจะใช้ปิดจนห้องมืดก็ได้ หรือจะเปิดเพื่อห้องสว่างก็ได้ หรือเหมือนกับประตู ประตูมันจะขังเราก็ได้ หรือประตูมันจะเปิดสำหรับเป็นอิสระก็ได้ รูกุญแจก็เหมือนกัน รูกุญแจนี่มันสามารถจะขังเรา แต่รูกุญแจรูเดียวกันก็สามารถจะเปิดให้เราพบอิสรภาพหรือออกจากทุกข์ได้ ฉะนั้นเวลาเจอทุกข์ อย่าจมอยู่กับความรู้สึกลบ เพราะว่าในทุกข์มันก็มีทางออกจากทุกข์ แม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เช่น ความคิดฟุ้งซ่านในเวลาปฏิบัตินี่มีประโยชน์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเทศน์ว่า มองกายเห็นจิต มองคิดเห็นธรรม คิดนี่หมายถึงความคิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราดูดีๆ ก็เห็นธรรมจากความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นโทษ ก่อความว้าวุ่นกับเรา อันนี้เรียกว่าในลบมีบวก ขณะเดียวกันเมื่อเราเจอบวก เราก็อย่าไปหลงกับมัน เพราะว่าในบวกมันก็มีลบแทรกอยู่เหมือนกัน
Sun, 15 Sep 2024 - 24min - 1000 - 25670609pm--เผชิญความป่วยไข้ด้วยใจที่ปล่อยวางSun, 15 Sep 2024 - 1h 23min
- 999 - 25670604pm--ทำอะไรใจไม่ลืมเป้าหมาย
4 มิ.ย. 67 - ทำอะไรใจไม่ลืมเป้าหมาย : หลายคนอยากจะทำงานให้มันได้ดี ได้เร็ว ได้สะดวก ก็ต้องมีรถ มีรถเพื่ออะไร เพื่อจะได้ทำงานได้ดี ได้สะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ มีเงินค่าซ่อมรถ ดูแลรถ มันกลับกันเลยนะ แต่ก่อนนี่รถมีไว้เพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ตอนหลังนี่กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินเอาไว้ผ่อนรถ สิ่งที่เคยเป็นเป้าหมาย มันกลับลดระดับกลายเป็นอุปกรณ์ไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอุปกรณ์ที่จะส่งเสริมเป้าหมาย มันกลับกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว แล้วเป็นอย่างนี้กันเยอะเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไม่ค่อยได้ตั้งคำถาม ไม่ค่อยได้ตรวจสอบ ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใคร่ครวญว่าเราทำไปเพื่ออะไร อันนี้เรียกว่าขาดสติก็ได้ ทำไปๆ มันลืม ลืมว่าเราทำไปเพื่ออะไร หลายคนสนใจภาวนา แล้วคิดว่าจะภาวนาได้มันต้องหาที่สงบๆ อาศัยสถานที่สงบเพื่อจะเกื้อกูลต่อการภาวนา แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่อาศัยความสงบเพื่อเป็นปัจจัยส่งเสริมการภาวนา กลับกลายเป็นว่าภาวนาเพื่อจะเอาความสงบ พอเจอความไม่สงบเข้าก็ไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด คับแค้น ลืมไปว่าความสงบนี่ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนา เป็นสิ่งที่เสริมอำนวยให้การภาวนาก้าวหน้า คนเราถ้าเราไม่ระวัง ไม่มีสติ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นเป้าหมาย มันกลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว เหมือนกับที่เขาพูดว่าเรากินเพื่ออยู่ แต่ไปๆ มาๆ อยู่เพื่อกิน มันก็ไม่ต่างจากคนที่มีรถเพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ ทำงานหนักเพื่อครอบครัว แต่ไปๆ มาๆ ทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานเยอะๆ อันนี้เพราะขาดสติ มันก็เลยเอาสิ่งที่เป็นมรรควิธีกลายเป็นเป้าหมาย สิ่งที่เป็นเป้าหมายก็กลายเป็นเรื่องรองไปเสีย ฉะนั้นเวลาเราทำอะไร การมีสติหรือมีการใคร่ครวญ นี่สำคัญ ว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีเรามาบวชเพื่อปฏิบัติ ไปๆ มาๆ บวชเพื่อจะหาลาภสักการะ ลืมไปเลย การปฏิบัติเป็นเพียงแค่สิ่งที่เสริมภาพลักษณ์เพื่อให้มีลาภสักการะมากขึ้น แบบนี้ก็มีเยอะนะ อันนี้เป็นเพราะว่าเพลินกับความสะดวกสบาย เพลินกับความสุขที่ลาภสักการะนำมาให้ หรือไม่เช่นนั้นก็เพลินกับสิ่งที่กำลังทำ จนลืมไปว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อครอบครัวหรือเปล่า หรือว่าทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานได้มากๆ
Wed, 11 Sep 2024 - 28min - 998 - 25670603pm--บำรุงใจเหมือนดูแลสวน
3 มิ.ย. 67 - บำรุงใจเหมือนดูแลสวน : จิตของเรา จะว่าไปก็ไม่ต่างจากสวนหรือไม่ต่างจากพื้นที่ที่สามารถจะปลูกต้นไม้นานาชนิดได้ การฝึกจิตถ้าเราคิดว่า จิตของเราบังคับบัญชาได้ สามารถจะบงการให้เป็นไปดั่งใจ ก็คงจะไม่ต่างจากการคิดแบบช่างไม้ แล้วถ้าเราทำกับจิตของเรา เหมือนกับช่างไม้ทำกับไม้ ก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะว่าจิตนี้บังคับไม่ได้ ไม่สามารถจะปรับแต่งให้เป็นไปดั่งใจได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การส่งเสริม ฝึกฝนให้จิตได้เจริญงอกงาม โดยสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา ซึ่งใจหรือจิตเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ จะให้จิตเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ใจเรา จิตบังคับไม่ได้ แต่ฝึกฝนได้ อำนวยส่งเสริมเกื้อกูลให้เป็นไปในทางที่ดีงาม นี่ทำได้ ก็ไม่ต่างจากคนที่ปลูกต้นไม้ ต้นทุเรียน ต้นมะม่วง เราจะบังคับให้เป็นต้น ให้ออกดอกแบบอื่น ออกผลแบบอื่น มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะสนับสนุนให้เขาเติบโต ใส่ปุ๋ยหรือว่าตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งจัดหาสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล นี่ทำได้ เวลาเราฝึกจิต ให้เราลองมองแบบนี้บ้างว่าเหมือนกับปลูกต้นไม้ เหมือนกับทำสวน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในการบังคับบัญชาของเราได้ นอกจากขึ้นอยู่กับต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ มีเหตุปัจจัยมากมายที่เราต้องคำนึง ไม่ได้อยู่ที่ใจเรา
Tue, 10 Sep 2024 - 27min - 997 - 25670602pm--สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของการปฎิบัติ
2 มิ.ย. 67 - สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของการปฎิบัติ : ถ้าเราเจริญสติได้ดี แม้จะมีความหงุดหงิดขึ้นก็ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ รักษาใจให้สงบได้ เพราะอะไรเพราะมีสติเห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นหรือไม่เข้าไปยึด ไม่ไปผลักไสมันด้วย บางคนพอเวลาไม่มีความฟุ้ง ใจก็สงบ แต่พอมีความคิดเกิดขึ้นใจ ไม่สงบก็เลยเข้าไปกดข่มมัน ก็เลยยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่ ยิ่งหงุดหงิดเพราะว่ากดข่มเท่าไหร่มันก็ไม่ไป มีความโกรธ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าใจจะต้องว้าวุ่น เป็นทุกข์เสมอไป อยู่ที่ว่า เห็นมันไหม เห็นได้ไวพอหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของการปฏิบัติจะต้องวัดตรงนี้ด้วย วัดว่าสงบได้ไม่ใช่เฉพาะเวลาปฏิบัติ แต่ว่าสงบได้แม้มีสิ่งกระทบ มีสิ่งเร้า ถ้าหากว่าสงบได้เมื่อไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งกระทบ อันนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก นักปฏิบัติต้องทำได้มากกว่านั้นคือว่าแม้เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งกระทบ ตา หู จมูก ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ ใจก็สงบได้ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดว่าเข้าใจเรื่องหรือเห็นเรื่องรูป เรื่องนาม เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราก็ช่วยทำให้ใจสงบได้ง่าย ไม่ใช่สงบด้วยสติอย่างเดียว แต่สงบด้วยปัญญาด้วย
Mon, 09 Sep 2024 - 27min - 996 - 25670601pm--สอนคนอื่น อย่าลืมดูใจตนเอง
1 มิ.ย. 67 - สอนคนอื่น อย่าลืมดูใจตนเอง : ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ฉะนั้นหมั่นเตือนตนอยู่เสมอ ทำอะไรก็ตามมันไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร แม้จะทำเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องบุญกุศล แต่ว่าถ้าขาดสติหรือทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็สามารถจะเกิดโทษได้ เตือนใจเสมอเวลาเจอความไม่ถูกต้อง อย่างแรกที่ต้องทำก็คือ รักษาใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปจัดการคนอื่นเพื่อให้เขาทำถูกต้อง ถ้าขืนไปจัดการคนอื่นโดยที่ไม่ทันดูใจของตัว ไม่ทันรักษาใจของตัวให้ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ทำกับคนอื่นก็จะกลายเป็นความไม่ถูกต้องหนักกว่าเดิมก็ได้ เรื่องนี้มันเป็นอุทธรณ์สอนใจที่ดีโดยเฉพาะกับคนที่สนใจธรรมะ นักปฏิบัติธรรม จะได้ไม่หลงตัวลืมตน ว่ามาปฏิบัติธรรมว่ามาแสดงธรรม แล้วก็ลืมมองตัวเองไป
Sun, 08 Sep 2024 - 25min - 995 - 25670531pm--ใฝ่ทำดีกว่าใฝ่เสพ
31 พ.ค. 67 - ใฝ่ทำดีกว่าใฝ่เสพ : คนเราถ้าเป็นคนที่ใฝ่รู้ แค่ได้ความรู้เขาก็พอใจแล้ว คะแนนจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ หรือไม่ใช่เรื่องสำคัญ และกรณีนี้พอโตขึ้นแล้วเขาจะมีความสุขจากการที่ได้ทำความดี ซื่อสัตย์สุจริต ภูมิใจในความดีที่ทำ เรื่องเงินเรื่องทองจะเป็นเรื่องเล็กน้อย คนเราถ้าเอาความสุขไปผูกกับเงิน ไปผูกกับชื่อเสียง จะหาความสุขไม่ได้เลย อย่างที่เราเห็น ดาราที่มีชื่อเสียงร่ำรวยหลายคน ฆ่าตัวตายเพราะว่าถูกต่อว่า ถูกสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าเล่นไม่ได้เรื่อง หรือว่าเป็นเพราะอกหัก แฟนทิ้ง อันนี้เพราะว่าไม่เข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ไปเอาความสุขของตัวไปอยู่ผูกติดอยู่กับสิ่งของ อยู่กับชื่อเสียง อยู่กับเงินทอง หรือแม้แต่อยู่กับคนอื่น เอาความสุขหรือคุณค่าไปผูกติดกับคนอื่น พอเขาก็ทิ้งเรารู้สึกหมดคุณค่าทันที แต่ถ้าหากว่าคนเราพบว่าความสุขอยู่ที่ใจ อยู่ที่การทำความดี อยู่ที่ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความสุขที่ผูกติดอยู่กับความดีในตัวไม่มีสูญหายไปง่าย ๆ ใครเขาจะทิ้ง ใครเขาจะดูถูกอย่างไร ตัวเองก็ยังมีความสุขความภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม้จะไม่รวยแต่ก็มีความสุข นี่แหละคือสิ่งที่ศาสนาจะสอนเราได้ จะนำทางให้เราพบความสุขอย่างนี้ แล้วก็การมาวัดก็สามารถช่วยทำให้เราได้พบกับความจริงข้อนี้ได้ วันนี้นักเรียนอาจจะยังไม่เห็น เพราะยังคิดว่าความสุขอยู่ที่การกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป มีแฟน แต่ให้จำในสิ่งที่หลวงพ่อพูดเอาไว้วันนี้ พอถึงวันที่พวกเธอโตมากกว่านี้และในยามที่เจอกับความไม่สมหวังในชีวิต เจอกับความพลัดพราก อาจจะได้คิด แล้วถึงตอนนั้นก็อาจจะรู้วิธีที่จะหาทางออกจากความทุกข์ได้
Sat, 07 Sep 2024 - 28min - 994 - 25670528pm--อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้Fri, 06 Sep 2024 - 51min
- 993 - 25670527pm--เจอทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์Thu, 05 Sep 2024 - 1h 17min
- 992 - 25670526pm--สร้างสมดุลชีวิตด้วยสติWed, 04 Sep 2024 - 1h 10min
- 991 - 25670524pm--โกรธก็ได้ ใจไม่ทุกข์
24 พ.ค. 67 - โกรธก็ได้ ใจไม่ทุกข์ : แต่ยิ่งเราไม่ยอมรับ ยิ่งเราผลักไสมัน มันก็ยิ่งมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา วิธีที่จะทำให้มันหมดพิษสงก็คือยอมรับมัน หรือว่าถ้าพูดแบบภาษาธรรมะก็คือว่าแค่เห็นมันเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ หรือยอมรับมันได้ มันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือว่าไม่ผลักไส ไม่ต่อต้าน ไม่กดข่ม แล้วถ้าเราใช้ท่าทีนี้กับสิ่งอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเซ็ง ความเบื่อ แต่ยังใช้กับเสียงที่มากระทบหู หรือภาพที่กระทบตา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับได้ ใจไม่ผลักไสอยู่ลึก ๆ อันนี้ท่านเรียกว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” อำนาจที่มันมีต่อจิตใจของเราทำให้ทุกข์ใจก็น้อยลง จะเหลืออยู่ก็แค่ความทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว ความซังกะตายก็เหมือนกัน จริง ๆ มันก็ไม่ได้ทำร้ายใจเราเท่าไหร่ แต่ที่มันทำร้ายจิตใจผู้หญิงคนนั้นมากคือเพราะไม่ยอมรับ ความซังกะตายไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การที่เราไม่ยอมรับความซังกะตาย ความรู้สึกเฉาต่างหากที่ทำร้ายเรา เหมือนกับนอนไม่หลับ นอนไม่หลับนี้ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา แต่ที่ทุกข์กันมากก็เพราะว่าไม่ยอมรับ เวลานอนไม่หลับก็เกิดความวิตกกังวล พยายามข่มตาให้หลับ ความกลัวว่าจะไม่หลับ หรือความอยากให้หลับ แล้วพอไม่หลับก็เลยวิตกกังวล ตัวนี้ต่างหากที่สร้างปัญหา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรามากเท่ากับปฏิกิริยาหรือท่าทีที่เรามีต่อสิ่งนั้น ถ้าเราแค่ดู เห็น รู้ซื่อ ๆ หรือเป็นมิตรกับมัน มันก็หมดพิษสงลง อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้หรือทดลองดูได้ ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันของเรา
Tue, 03 Sep 2024 - 27min - 990 - 25670523pm--ฟังธรรมอย่างไรใจเปลี่ยนแปลง
23 พ.ค. 67 - ฟังธรรมอย่างไรใจเปลี่ยนแปลง : การตั้งคำถามกับตัวเองเวลาฟังธรรมนี้ ช่วยให้เกิดการปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นฟังแล้วก็ไม่เกิดการปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็เกิดปัญญา รู้จักใคร่ครวญ แล้วทำให้เกิดความเฉลียวใจ แล้วส่วนใหญ่ฟังก็ไม่ค่อยได้ถามตัวเองว่าจริงไหม ที่ท่านพูดจริงไหม แล้วการใคร่ครวญก็ไม่ใช่แค่ใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียว แต่ว่าเอาประสบการณ์ตัวเองมาเทียบหรือตอบโดยอาศัยประสบการณ์ตัวเอง จริงไหม แล้วเวลาท่านพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก เราก็ต้องถามตัวเองว่า “เออ เราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า” “เราเป็นอย่างที่ท่านว่ามาไหม” แล้วเวลาท่านแนะนำทางออกหรือข้อที่ควรปฏิบัติ ก็ควรจะถามตัวเองด้วยว่า “แล้วเราได้ทำอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า” หรือคิดจะไปทำบ้างไหม ฉะนั้นถ้าเราไม่ถามตัวเองอย่างน้อย 3 คำถาม การฟังธรรมก็ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แล้วนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว การฟังธรรมก็เป็นเพียงแค่การทำให้ใจเพลิน ฟังแล้วเพลินดี ก็คงไม่ต่างจากวัยรุ่นฟังเพลง แต่ว่าคนแก่หรือว่า สว. ก็ฟังธรรม เหมือนกันตรงที่ว่าฟังแล้วเพลิน แต่ว่าไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาอย่างจริงจัง
Mon, 02 Sep 2024 - 24min - 989 - 25670522pm--ประโยชน์ที่ควรได้จากการเป็นชาวพุทธ
22 พ.ค. 67 - ประโยชน์ที่ควรได้จากการเป็นชาวพุทธ : แต่ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ความทุกข์บางอย่างก็ยังสามารถมาถึงตัวเราได้ เช่นความแก่ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตาย ไม่ต้องพูดถึงคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความล้มเหลว ความไม่สมหวัง สิ่งเหล่านี้แม้เราจะเจอ แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าเรามีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ หรือดียิ่งกว่านั้นคือรู้ทันการปรุงแต่ง จนกระทั่งไม่ว่าเห็น ไม่ว่าได้ยิน ก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน หรือแม้มีอารมณ์เกิดขึ้นก็แค่รู้ซื่อๆ ใจก็ไม่ทุกข์ นี่เป็นโอกาสแห่งการพ้นทุกข์ที่เราทุกคนสามารถทำได้ แล้วเราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ศึกษาว่าพระองค์ทรงค้นพบอะไร และอะไรทำให้พระองค์ทรงออกจากทุกข์ได้ และที่พระองค์ชี้ทางออกจากทุกข์ให้กับเรา ก็คือชี้เรื่องนี้แหละ ฉะนั้นถ้าเรารู้จักใคร่ครวญและนำไปปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าเราได้ประโยชน์จากการเป็นชาวพุทธ เราได้ประโยชน์จากการที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดาของเรา รวมทั้งได้ประโยชน์สูงสุดจากศาสนาที่เรานับถือ ไม่อย่างนั้นเราก็ได้ประโยชน์อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาเป็นมนุษย์
Sun, 01 Sep 2024 - 37min - 988 - 25670521pm--อยู่กับความรู้สึกตัวให้เป็น
21 พ.ค. 67 - อยู่กับความรู้สึกตัวให้เป็น : ความรู้สึกตัว ถ้าเราอยู่กับมัน หรือถ้าเรากลับมารู้สึกตัวบ่อย ๆ การอยู่กับตัวเองเป็นเรื่องง่าย อยู่กับผู้คนก็ไม่ได้ว้าวุ่น หงุดหงิด อยู่กับตัวเองคนเดียวก็ไม่ได้เหงาอะไร แล้วถึงเวลาที่เราต้องอยู่กับตัวเองจริง ๆ หรือถึงเวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว เพราะว่าคนที่คุ้นเคยล้มหายตายจากไป หรือว่าต้องไปนอนอยู่คนเดียวในโรงพยาบาล ก็อยู่ได้ หรือถึงแม้อยู่บ้าน ไม่มีคู่ครอง ก็ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องมีใครมาอยู่ใกล้ ๆ เพราะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ อาการแบบนี้มันก็ไม่มี อยู่กับตัวเองหรืออยู่คนเดียว ไม่ใช่ไม่เหงา ไม่เบื่อ แต่ว่าความเหงาความเบื่อทำอะไรไม่ได้เพราะว่ารู้สึกตัว ยอมรับมัน ไม่ผลักไสมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าการผลักไส การกดข่ม การไม่ยอมรับอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็เป็นตัวการสร้างปัญหา อย่างการปฏิบัติที่นี่ เราไม่เน้นเรื่องการไปกดข่มความคิด ไปผลักไสอารมณ์ อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นก็ยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเรามีวิชา วิชาอะไร วิชารู้ซื่อ ๆ เห็นมัน เห็นมัน เมื่อรู้แล้วว่ามันมีอยู่ ก็แค่รู้ซื่อ ๆ ไม่ผลักไส ก็ทำให้ไม่เข้าไปเป็น ก็ทำให้เกิดความรู้สึกตัวได้ การปฏิบัติ ถ้าเราอยู่กับตัวเองเป็น มันไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเหงา ไม่มีความเบื่อ ไม่มีความเซ็ง มันมีแต่ว่าอยู่กับมันได้ เป็นมิตรกับมันได้ คนเราถ้าอยู่กับตัวเองเป็นคืออยู่กับความรู้สึกตัวแล้วนี้ มันก็อยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ โดยที่ไม่ถูกมันเบียดเบียน ครอบงำ ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์เหล่านี้ มีแต่มันทำอะไรไม่ได้ เพราะต่างคนต่างอยู่ อยู่กับความรู้สึกตัวเป็น ก็อยู่กับตัวเองได้ อยู่กับความเหงา อยู่กับความเบื่อ ก็อยู่ได้ ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร
Sat, 31 Aug 2024 - 27min - 987 - 25670519pm--ธรรมนำชีวิตให้ผาสุก
19 พ.ค. 67 - ธรรมนำชีวิตให้ผาสุก : ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นเป็นเรา เป็นของเราได้เลย ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือแม้กระทั่งร่างกายนี้ ก็ไม่อาจยึดได้ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ ความที่ท่านเข้าใจ หรือเข้าถึงสัจธรรมความจริงนี้แหละ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านเปี่ยมด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ ที่เราทุกท่านเมื่อได้สัมผัสแล้วก็รู้สึกประทับใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราระลึกนึกถึงท่านแม่ชีสุขี ก็อย่าพึงนึกถึงแต่เพียงแค่บุญที่ท่านบำเพ็ญ แต่ให้นึกถึงธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติด้วย ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบุญ จนบางทีลืมธรรมะไป เพราะเราคิดว่าถ้าเราได้บุญเยอะๆ เราก็จะได้โชคได้ลาภ มีอายุยืน มีสุขภาพดี เพราะเราเชื่อว่า บุญนั้นย่อมอำนวยให้เกิดอายุ วรรณะ สุขะ พละ รวมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา จึงอยากได้บุญกันมากๆ จนกระทั่งจำนวนไม่น้อย ลืมธรรมะไป
Sun, 25 Aug 2024 - 50min - 986 - 25670518pm--เมืองร่มรื่น ใจร่มเย็น เป็นรมณีย์
18 พ.ค. 67 - เมืองร่มรื่น ใจร่มเย็น เป็นรมณีย์ : ใจรมณีย์คืออะไร ใจรมณีย์ คือ ใจที่ร่มเย็น สงบเย็นได้ด้วยธรรม เราเย็นกายด้วยร่มไม้ และเราสามารถจะเย็นใจได้ด้วยร่มธรรม ร่มไม้สามารถจะปลุกกระตุ้นให้ร่มธรรมในใจของเราเจริญงอกงามได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเกิดว่าเราอาศัยความร่มรื่นของต้นไม้มาใช้ในการฝึกจิต เพื่อทำให้ร่มธรรมในจิตใจของเราเจริญงอกงามยิ่งขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ใจที่เป็นรมณีย์ ไม่ใช่แค่ถิ่นรมณีย์ที่ภายนอก ใจรมณีย์ ไม่ใช่หมายถึงใจที่สงบเย็นเพราะร่มธรรมเท่านั้น แต่ยังอาศัยธรรมะช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้การเป็นสุขได้ เหมือนกับต้นไม้สามารถเปลี่ยนแสงแดดที่ร้อนให้กลายเป็นร่มเงาที่เย็น ต้นไม้สามารถเปลี่ยนสิ่งปฏิกูล ขยะ ให้กลายเป็นใบไม้ที่เขียวขจี ดอกไม้ที่สวย ผลไม้ที่หอมหวาน ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าใจของเราเป็นรมณีย์ ก็เพราะสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้ เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นปัญญา ก็เกิดขึ้นได้ ใจที่เป็นรมณีย์ คือใจที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้รับ แต่ยังเป็นผู้ให้ เหมือนต้นไม้ที่ไม่เพียงแต่รับเอาปุ๋ยจากดิน แต่ยังทิ้งกิ่ง ทิ้งใบ เพื่อเป็นปุ๋ยกลับคืนสู่ดิน เป็นการตอบแทนผืนดินที่ช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้ ต้นไม้ไม่เพียงแต่รับเอาน้ำจากฟ้ามาบํารุงกิ่งก้านและใบ แต่ยังคายน้ำคืนสู่ธรรมชาติ คืนสู่ฟ้า เป็นการตอบแทน
Sat, 24 Aug 2024 - 34min - 985 - 25670516pm--ธรรมสั้นๆที่ปฎิบัติได้แม้ไม่มีเวลา
16 พ.ค. 67 - ธรรมสั้นๆที่ปฎิบัติได้แม้ไม่มีเวลา : คนที่บอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ที่จริงแล้ว สามารถจะมีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องใช้เวลาอะไรเลย ไม่ต้องสละเวลาเพิ่มเติม เพราะทุกวันนี้ ก็รับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่แล้ว ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพียงแต่เติมสติลงไป การกินก็เหมือนกัน เรากินอยู่แล้ว ฆราวาสก็ 3 มื้อ ก็เติมสติลงไปในการบริโภค ทำงานก็ทำอยู่แล้ว ก็เติมสติลงไปในการทำงาน อปัณณกปฏิปทานี้ จะว่าไปแล้ว มันเป็นธรรมที่สำคัญ ที่ถูกมองข้ามไป เพราะว่าสามารถจะเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่มีคำว่าผิด อปัณณก แปลว่าไม่ผิดอยู่แล้ว เป็นทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติธรรม ที่สามารถจะทำได้ ในชีวิตประจำวัน มันไม่ต้องการเวลาเพิ่มเติม เพราะว่าทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือว่าการทำงาน เพียงแต่เติมสติลงไป ให้เป็นอินทรียสังวร ให้เป็นโภชเน มัตตัญญุตา ให้เป็นชาคริยานุโยค แล้วมันก็ช่วยทำให้ไม่เพียงแต่การงานดำเนินด้วยดี แต่ยังช่วยทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบาง และเป็นกำลังในการสนับสนุนให้เกิดการเห็นธรรมที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
Fri, 23 Aug 2024 - 22min - 984 - 25670515pm--สอนอะไร ควรทำสิ่งนั้นให้ได้
15 พ.ค. 67 - สอนอะไร ควรทำสิ่งนั้นให้ได้ : เวลาเราจะแนะนำใคร ไม่ว่าเรื่องอะไร ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ หรือว่าใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง เล่นเกมให้น้อยลง รวมทั้งการนั่งสมาธิ เจริญสติ มันต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อนนะว่า “ทำได้หรือยัง” หรือ “ได้ลองทำบ้างหรือเปล่า” เชื่อจริง ๆ หรือเปล่าอย่างที่พูดว่ามันมีคุณค่าจริง ๆ หรือไปฟังเขามาแต่ไม่ได้เชื่อจริง เพราะถ้าเชื่อจริงก็ต้องทำด้วยตัวเองแล้ว แต่พอไม่ได้เชื่อจริงก็เลยไม่ได้ทำ แต่อยากให้คนอื่นทำ เสร็จแล้วคนอื่นเขาก็รู้นะว่าคนพูด คนแนะนำนี้ก็ไม่ได้เชื่อจริง พูดอย่างทำอย่าง เขาก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเกิดว่าเราจริงจังหรือจริงใจในสิ่งที่พูด ในสิ่งที่แนะนำ เราต้องทำให้ได้ก่อน หรือพยายามทำแล้วเราถึงจะแนะนำคนอื่นได้เต็มปาก เราปล่อยวางได้แล้วไม่มากก็น้อย เราถึงแนะนำให้คนอื่นปล่อยวางบ้าง หรือว่าเราได้ทำสมาธิเจริญสติมาพอสมควร แล้วก็รู้รสชาติ รู้ความยากลำบากของมันว่ามันเป็นอย่างไร เราถึงจะแนะนำเขาได้ ไม่งั้นมันก็จะเป็นคำพูดที่ไม่มีความหมาย หรือกลายเป็นการกระทำแบบนกแก้วนกขุนทองแบบที่เด็กคนนั้นพูด
Thu, 22 Aug 2024 - 24min - 983 - 25670508pm--ทางออกจากทุกข์ อยู่ที่ใจเรา
8 พ.ค. 67 - ทางออกจากทุกข์ อยู่ที่ใจเรา : ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอกับสายตาเหยียดหยามของคนทั้งโลก แต่จู่ๆ แกก็ได้คิด ว่าเราเปลี่ยนความคิดของใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนความคิดของเราเองได้ แทนที่เราจะไปเรียกร้องให้คนอื่นเขามองเรา ชื่นชมเรา เราก็หันมาเข้าใจเขาแทนว่าทำไมเขามองเราแบบนี้ ปรากฏว่าแกหายทุกข์เลย แทนที่จะไปเรียกร้องใครให้เป็นไปดั่งใจ ก็กลับมาปรับใจตัวเอง อันนี้คือวิถีหรือวิสัยของนักปฏิบัติธรรม เราอย่าคาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเรา เราอย่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างรอบตัวต้องสงบ ต้องเรียบร้อย ถูกต้อง ถูกระเบียบ เราถึงจะมีความสุขหรือจะมีความสงบได้ อย่าไปเรียกร้องความสงบจากโลกภายนอก เพราะว่าแม้แต่วัดนี้ก็ยังมีเสียงรบกวน เสียงประทัด เสียงดังอยู่เรื่อยๆ แต่ถึงแม้โลกรอบตัวจะดังอย่างไร แต่ใจเราสงบได้ เพราะเรารู้จักฝึกใจ แม้โลกมันจะแปรปรวนอย่างไร แต่ใจเราสงบเย็นได้ หากว่าเรามาฝึกที่ใจ เวลาเราเจออะไรต่ออะไรไม่เป็นไปดั่งใจ เจอความไม่ราบรื่น ไม่ปกติ เจอเสียงดัง เจอคนทำตัวน่าระอา แทนที่เราจะปล่อยใจให้ทุกข์ ก็กลับมาฝึกว่าเราจะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้อย่างไร เป็นเพราะเราวางใจผิดหรือเปล่า เราจึงทุกข์ เราจึงโมโห เราจึงหงุดหงิด เป็นเพราะเราคาดหวังจากคนอื่นหรือเปล่า แต่พอเรามาปรับที่ใจของเรา เรายังสามารถพบความสงบได้ ตัวอย่างของคนที่พูดมานี่เขาไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมเลยนะ แต่ว่าเขาพบว่าเขาออกจากทุกข์ได้ เพราะว่าเขาปรับที่ใจ แก้ที่ใจ ลดความคาดหวัง หรือแก้ที่ใจของตัว ฉะนั้นเวลาเราเจอปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ให้ถือว่ามันเป็นแบบฝึกหัด ให้เรากลับมาดูใจของเรา แล้วก็ลองปรับ ลองแก้ที่ใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักไม่ใส่ใจ ไม่ไปผลักไสสิ่งต่างๆ หรือว่าไม่คาดหวังว่ามันจะต้องเป็นไปดั่งใจ แล้วเราก็จะพบว่ากุญแจออกจากทุกข์ มันอยู่ที่ใจเรานั่นเอง
Wed, 21 Aug 2024 - 26min - 982 - 25670507pm--หาประโยชน์จากความวิตกกังวล
7 พ.ค. 67 - หาประโยชน์จากความวิตกกังวล : เมื่อใดก็ตามที่เรามีความกลัวก็ดี ความวิตกกังวลก็ดี ความโกรธก็ดี อย่าไปมองว่ามันเป็นอารมณ์ที่แย่อย่างเดียว มันมีประโยชน์ มันสามารถจะบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้เยอะเลย เป็นการชี้ช่องให้เราเห็นว่า เรายังมียึดติดถือมั่นที่ตรงไหน และถ้าเราใส่ใจการปฎิบัติธรรม เราก็จะพยายามลดละตรงนั้นให้มันเบาบางลง แม้ว่าจะลดละไม่ได้ทั้งหมด และสิ่งที่ได้คืออะไร คือความอิสระ ความเบา ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความยึดติดถือมั่นในหน้าตา ใครเขาจะต่อว่านินทาเรา เราก็ไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร หรือว่าถ้าเราไม่ยึดติดในทรัพย์ หรือยึดแต่น้อย เราก็ไม่ห่วงว่าเศรษฐกิจมันจะเป็นอย่างไร เพราะว่าถึงอย่างไรเราก็อยู่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยมาก ดังนั้น เราต้องรู้จักใช้ความวิตกกังวลให้เป็นประโยชน์ เอามาเป็นเครื่องสอนบ่งบอกว่าเรายังสอบตกในเรื่องอะไร และเราจะฝึกตนพัฒนาตนในเรื่องไหนได้บ้าง
Tue, 20 Aug 2024 - 24min - 981 - 25670506pm--ผู้รู้จักคอยย่อมมีความสำเร็จเป็นรางวัล
6 พ.ค. 67 - ผู้รู้จักคอยย่อมมีความสำเร็จเป็นรางวัล : การรู้จักอดทนรอคอยนี่สำคัญมาก คือหมายความว่ายอมลำบาก ยอมเหนื่อยวันนี้ เพราะเชื่อว่าผลพวงข้างหน้า มันก็คือความสำเร็จ ความสำเร็จมันจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะกับคนที่รู้จักคอยเท่านั้น ถ้าไม่รู้จักคอยแล้วมันก็ได้แค่ความสุขชั่วครู่ชั่วยาม เพราะฉะนั้นฝึกเอาไว้ สะสมนิสัยให้รู้จักอดทนรอคอย ซึ่งมันไม่ใช่แค่ขันติอย่างเดียว มันต้องมีสติด้วย เพราะถ้าไม่มีสติมันก็จะพ่ายแพ้ต่อกิเลส ต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวน ต่อนิวรณ์ 5 ไม่ว่าจะเป็น กามฉันทะ พยาบาท อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน หรือว่าในความง่วงเหงาหาวนอน รวมทั้งความลังเลสงสัยวิจิกิจฉา เราจะฝ่าทะลุนิวรณ์ 5 หรืออุปสรรคของการปฏิบัติ มันต้องมีความรู้จักอดทนรอคอย โดยมีสติเป็นตัวนำ แล้ววิริยะเป็นตัวผลัก มันถึงจะประสบความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ
Mon, 19 Aug 2024 - 26min - 980 - 25670505pm--เป็นมิตรกับความเบื่อ
5 พ.ค. 67 - เป็นมิตรกับความเบื่อ : แต่ในเมื่อเราเจริญสติ เรามาฝึกจิตกันแล้ว ก็ต้องมีความสามารถมากกว่าคนทั่วไป ในการที่จะรู้ทันความเบื่อ หรือไม่ปล่อยให้ความเบื่อครอบงำ ในแง่หนึ่ง เราก็เหมือนคนทั่วไป เราก็มีความเบื่อ มีความเศร้า มีความโกรธ ไม่ต่างจากคนอื่น แต่ที่เราต่างจากคนอื่นก็คือว่า เรามีความสามารถในการรักษาใจไม่ให้อารมณ์พวกนี้มาครอบงำได้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้ว จะไม่มีความเบื่อ ไม่มีความเหงา ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความคับข้องใจ ไม่มีราคะ ไม่ใช่ มันมีเหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ แต่มีแล้วมันทำอะไรเราไม่ได้ สามารถจะยกจิตอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ หรือวางใจเป็นกลางกับสิ่งเหล่านี้ เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ และวางใจเป็นกลางกับมันได้ หรือยิ่งกว่านั้นก็คือว่า เป็นมิตรกับมัน เป็นมิตรกับความเบื่อ อันนี้มันเป็นการบ้าน สำหรับนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะผู้ฝึกใหม่ แม้กระทั่งผู้ที่ฝึกมานาน มันก็หนีพวกนี้ไม่พ้น อารมณ์พวกนี้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร ซึ่งที่สำคัญก็คือการมีสติ เห็นมัน แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ก็ได้ หรือว่าเป็นมิตรกับมันเสียเลย โอบกอดความเบื่อ เหมือนกับที่ท่านติช นัท ฮันห์ สอนไว้ โอบกอดความโกรธ โอบกอดความทุกข์ พอเราเป็นมิตรกับมัน ไม่ผลักไสมัน มันก็ทำอะไรใจเราไม่ได้ แล้วจะว่าไป มันก็ทำให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้า และทำให้เราสามารถจะปฏิบัติได้ต่อเนื่อง แล้วก็เกิดความเจริญงอกงามยิ่งขึ้น
Sun, 18 Aug 2024 - 26min - 979 - 25670504pm--ดูแลใจให้เป็นอิสระจากอารมณ์
4 พ.ค. 67 - ดูแลใจให้เป็นอิสระจากอารมณ์ : แม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจมากระทบ เสียงต่อว่ามากระทบหู แต่ว่าเราไม่ใส่ใจ มันก็ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความหงุดหงิด หรือเรารู้จักปรุงแต่งในทางบวก เราก็ไม่โกรธ หรือเรารู้ทัน ว่าเราชอบมีความรู้สึกลบต่อสิ่งนี้ เช่น เขาเรียกเราว่าลุง ว่าป้า เราก็รู้นะ ว่าเป็นเพราะเราไม่ชอบความแก่ ใครมาเรียกลุงเรียกป้า เราก็เลยโกรธ แต่พอเรารู้ทันความคิดปรุงแต่งนี้ ก็วางใจเป็นกลางได้ ใครเขาเรียกลุงเรียกป้าก็ไม่โกรธ ก็ไม่ทุกข์แล้ว ฉะนั้นใครเขาจะพูดอย่างไร เราไม่ทุกข์ เพราะว่าเรารู้ทันความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในใจ หรือถึงเกิดความโกรธขึ้นมา เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เราก็รู้ทันอารมณ์นั้น ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ ก็ไม่ทุกข์เหมือนกัน
Sat, 17 Aug 2024 - 27min - 978 - 25670503pm--ทักท้วงความกลัว
3 พ.ค. 67 - ทักท้วงความกลัว : เพราะไม่เห็นคุณค่าของปัจจุบันเพราะก็ไปหวังความสุขจากอนาคต เพราะไปวาดภาพสวยงาม ทั้ง ๆ ที่ถ้าเกิดว่าสมหวังจริง ๆ ก็ไม่ได้สุขอย่างที่คิดเท่าไหร่ ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันนี่มันจะทำให้เรานี่ไม่ไปหลงเพลินกับภาพฝันในอนาคต แล้วก็ทำให้เราไม่กลัวไม่วิตกมากกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า คนเดี๋ยวนี้เครียดมาก วิตกกังวลมาก จนจะประสาทไปเพราะความที่ปรุงแต่ง วาดภาพอนาคตในทางลบทางร้าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง หรือว่าอยู่ในสถานะใดก็ตาม แม้กระทั่งเป็นคนไข้ไปให้หมอตรวจ ยังไม่ทันรู้ผลเลยใจก็ห่อเหี่ยวเสียแล้ว เพราะไปวาดภาพว่า ผลมันคงจะออกมาในทางที่เลวร้าย หรือถ้าเป็นอย่างที่หมอว่า เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ฉันคงตายแน่ ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างนั้น อาจจะไม่เกิดขึ้นหรือถึงเกิดขึ้นจริงก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แต่เป็นว่าคนเราไปเชื่อความคิด ไปปล่อยให้ความวิตกกังวลที่ชอบปรุงแต่งขยายความให้เกินจริง มันก็เลยไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ใจเรามันมีความสามารถในการขยายผลทั้งในทางบวกทางลบได้มาก แล้วถ้าเราเชื่อมัน ไม่รู้จักทักท้วง ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบนี่เราก็อาจจะเสียผู้เสียคน หรือว่าเป็นทุกข์ได้ ฉะนั้นกลับมาอยู่กับปัจจุบัน พึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ แล้วก็เห็นความสุขจากสิ่งที่มีอยู่ อย่าไปหลงเชื่อกับภาพฝันในอนาคตมาก หรือไปวิตกกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหนึ่งมันก็ไม่ได้สวยอย่างที่คาดแล้วมันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่นึก
Fri, 16 Aug 2024 - 24min - 977 - 25670502pm--อย่าเชื่อความคิดไปเสียหมดThu, 15 Aug 2024 - 25min
- 976 - 25670501pm--ปัญญาก่อนถึงสมาธิ
1 พ.ค. 67 - ปัญญาก่อนถึงสมาธิ : ความคิดอารมณ์เกิดขึ้น เรายังไม่ทุกข์ อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติกับมันอย่างไร ถ้าปฏิบัติถูกก็ไม่ทุกข์ ถ้าปฏิบัติผิดก็ทุกข์เลย นี่ก็คือความรู้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปัญญา จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่ามีสมาธิก่อนแล้วจึงจะเกิดปัญญา ก่อนที่จะถึงสมาธิ ก่อนที่จะถึงความสงบ ปัญญาก็เกิดขึ้นได้ แต่มันเป็นปัญญาในระดับย่อย ยังไม่ใช่เป็นปัญญาชนิดที่จะรื้อถอนความทุกข์ได้ แต่ก็เป็นปัญญาที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐาน เป็นเหมือนกับอิฐก้อนแรก ๆ ที่เป็นฐานให้กับปัญญาที่สำคัญในระดับที่เรียกว่าวิปัสสนา อันนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติต้องช่างสังเกต อย่าไปมองแต่เป้าหมายข้างหน้าคือ ความสงบ ระหว่างทางมีอะไรให้เราได้เรียนรู้เยอะแยะเลย เหมือนกับคนที่เป็นนักเดินทาง เขาจะไม่มุ่งจดจ่อที่จุดหมายปลายทาง แต่เขาจะสนใจเส้นทางหรือระหว่างทางด้วย ทัศนียภาพระหว่างสองข้างทางมีอะไรให้เรียนรู้ มีอะไรให้ชื่นชมเยอะ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปถึงจุดหมายแล้วถึงจะได้พบกับสิ่งดี ๆ สองข้างทางหรือสิ่งที่เป็นปัจจุบัน มันก็มีอะไรให้เราได้เรียนรู้มากมาย อันนั้นแหละคือปัญญาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่มันจะมีคุณค่าต่อการปฏิบัติและต่อชีวิตของเรา
Wed, 14 Aug 2024 - 24min - 975 - 25670429am--คุณค่าของสังฆทานและการพิจารณาผ้าบังสุกุล
29 เม.ย. 67 - คุณค่าของสังฆทานและการพิจารณาผ้าบังสุกุล : เมื่อเราให้ทาน อานิสงส์ประการหนึ่งก็คือ ช่วยลดความตระหนี่ อันนี้คืออานิสงส์ที่คนไม่ค่อยได้นึกถึง ไปนึกถึงเรื่องโชค เรื่องลาภ ยศ ทรัพย์ สรรเสริญ แต่ว่าลืมนึกว่าหรือไม่ตระหนักว่า มันเป็นสิ่งที่ช่วยลดความตระหนี่ ลดความตระหนี่ก็คือ ลดความยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นของเรา ลดความโลภที่อยากได้สิ่งนั้นเยอะ ๆ มาก ๆ ถ้าเราให้ทานเป็น ความตระหนี่ก็จะลดลง ความโลภก็จะบรรเทาลง ความยึดติดถือมั่นในสิ่งนั้นว่าเป็นของเราหรือตัวเราก็จะน้อยลง และต่อไปถ้าเราวางใจให้ดี มันจะช่วยลดความยึดมั่นในตัวกู ลดในสิ่งที่ทางพระเรียกว่ามานะคือกิเลสได้ เพราะบ่อยครั้งเราทำบุญ ทำความดี เราก็อยากจะให้คนชื่นชมสรรเสริญ ความชื่นชมสรรเสริญมีความหมายต่อเราเพราะมันไปตอบสนองตัวกู เราอยากจะให้คนเห็นว่าเราเป็นคนใจบุญ เป็นคนดี ตรงนี้คือกับดักของคนที่ชอบทำบุญ ชอบทำความดี คืออยากเป็นคนดี อยากให้คนยกย่องสรรเสริญ หลายคนเป็นทุกข์เพราะทำดีแล้วไม่มีคนเห็น ดังนั้นเวลาทำบุญก็อยากจะให้คนเห็น เขาจะได้ชื่นชมสรรเสริญ แล้วเดี๋ยวนี้มันมีช่องทางในการที่จะสนองอัตตาหรือตัวมานะ มีเยอะมาก เช่น ถวายทาน เป็นเจ้าภาพกฐิน เป็นเจ้าภาพผ้าป่า ก็อยากประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันมาทำบุญนะ ประกาศอย่างไร ก็ถ่ายภาพขึ้น Facebook บางทีถวายเงินไปแล้ว เพื่อนที่นัดแนะไว้ให้ถ่ายภาพ ลืมถ่ายภาพ โมโหเพื่อน หรือบางทีลืมเอากล้องมา โมโหอีก โมโหตัวเอง เดี๋ยวนี้ทำอะไรต้องถ่ายเพื่อประกาศให้โลกรู้ รวมทั้งทำบุญ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน
Tue, 13 Aug 2024 - 24min - 974 - 25670426pm--มรณสติกถาMon, 12 Aug 2024 - 46min
- 973 - 25670425am--วางแผนก่อนตาย
25 เม.ย. 67 - วางแผนก่อนตาย : โดยทำพินัยกรรม และจะให้ดี ต้องทำพินัยกรรมชีวิตด้วย ซึ่งเรื่องหนึ่งในการทำพินัยกรรมนั้น เราจะต้องคิดแล้วระบุไว้คือ จะให้ทำอย่างไรกับตัวเราหากว่าเราอยู่ในระยะท้าย ไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือไม่สามารถสื่อสารได้ ซึ่งข้อนี้เรียกว่า Living Will ที่เหลือเป็น Will ธรรมดา หรือพินัยกรรมธรรมดา ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ธรรมดาถ้าหากว่าเราทำให้เรียบร้อย เราจะได้ไม่มีความกังวลเมื่อเราใกล้จะสิ้นลม ก็จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราแม้จะไม่ใช่ในเรื่องของทรัพย์สมบัติก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น งานศพ เดี๋ยวนี้งานศพ ทำกันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมาก โดยเฉพาะคนที่รวย คนที่มีสถานภาพทางสังคม บ่อยครั้งเป็นไปเพื่อหน้าตาของเจ้าภาพ แต่เราจะเรียกว่าผู้เป็นเจ้าของงาน เขาจัดงานศพให้เรา เราอยากให้งานศพของเราเป็นงานที่มีสาระ ถ้าเราไม่ระบุไว้ ลูกหลานหรือทายาทที่ยังอยู่ เขาก็คิดว่าทำเต็มที่ให้สมเกียรติของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนาก็ได้ เราอยากจะได้งานศพมีน้อยวัน 3 วัน ไม่สิ้นเปลืองมาก ไม่ทำลายหรือผลาญทรัพยากรเป็นต้น
Sun, 11 Aug 2024 - 41min - 972 - 25670423pm--ธรรมรักษาใจSat, 10 Aug 2024 - 30min
- 971 - 25670421pm--ทำเล่นๆและทำเยอะๆ
21 เม.ย. 67 - ทำเล่นๆและทำเยอะๆ : การปฏิบัติธรรมของพวกเราก็เหมือนกัน คนที่ทำมากจะได้เปรียบ เพราะว่าสติจะเติบโตได้เร็ว ถึงแม้ว่าใหม่ ๆ จะฟุ้งเสียเยอะ ทำเล่น ๆ แต่ทำเรื่อย ๆ ทำเยอะ ๆ กว่าจะรู้ตัวก็คิดไปแล้ว 10 เรื่อง แต่ว่าพอทำเยอะ ๆ บ่อย ๆ จะเห็นความก้าวหน้า แต่ก่อน คิด 10 เรื่องถึงจะรู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว แต่พอทำไป ๆ ความคิดสั้นลง คิดไปได้ 8 เรื่องก็รู้ตัวแล้ว ทำไปอีก เดินจงกรมไปอีกหลายร้อยเที่ยว คราวนี้ความคิดสั้นลง เหลือแค่ 5 เรื่องก็รู้ตัวแล้ว และสุดท้าย คิดเรื่องเดียวยังไม่ทันจะจบเลยก็รู้แล้ว นี่เรียกว่าสติเร็ว รู้ทันความคิดได้เร็ว โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ปล่อยให้สติทำงานเอง ไม่ได้คิดจ้อง ไม่ได้จ้องความคิด ไม่ได้พยายามบังคับความคิด เพราะทำเล่น ๆ ทำเล่น ๆ แต่ว่าทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ ก็รู้เอง สติได้โอกาสทำงานบ่อย ๆ พอสติได้ทำงานบ่อย ๆ หรือว่าถูกใช้งานบ่อย ๆ ก็จะคล่องแคล่ว กลายเป็นว่า ทีแรกเอาปริมาณไว้ก่อน เน้นปริมาณเป็นหลัก แต่ผลสุดท้ายได้คุณภาพ จิตมีคุณภาพ คือ มีสติ อันนี้ยังไม่ต้องเชื่อ ลองไปทำดู ทำเล่น ๆ แต่ทำเยอะ ๆ ทำมาก ๆ แล้วยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วเราจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับใจเราในที่สุด
Fri, 09 Aug 2024 - 24min - 970 - 25670420pm--สิ่งดีๆทำให้เป็นเรื่องง่าย
20 เม.ย. 67 - สิ่งดีๆทำให้เป็นเรื่องง่าย : เวลาสวดมนต์ หรือว่าเวลาฟังธรรม หรือว่าเวลาเจริญสติ ใจนึกถึงสิ่งที่จะทำต่อไป เดี๋ยวจะต้องไปเช็ค Mail เดี๋ยวจะต้องโทรศัพท์ไปคุยกับแม่ พอใจคิดถึงเรื่องที่จะต้องทำต่อไปหรือทำลำดับถัดไป เกิดความรุ่มร้อน อยากจะรีบทำให้เสร็จ ๆ จะได้ไปทำสิ่งที่อยากจะทำในลำดับถัดไป อันนี้เราต้องวางใจ คือ ต้องวางสิ่งที่อยากจะทำลำดับถัดไป คืออะไร สำคัญแค่ไหน วางเอาไว้ก่อน ให้เราเอาใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเจริญสติ ทำสมาธิ สวดมนต์ ฟังธรรม หรือว่าออกกำลังกาย ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าทำ แต่ว่าเป็นแค่รูปแบบ แต่ว่าใจไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำ แล้วขณะเดียวกัน ต้องตระหนักว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคกับการทำสิ่งดี ๆ ก็คือ กิจวัตรเดิม ๆ ซึ่งเป็นการทำเพื่อสนองกิเลส หลายคนไม่สามารถทำสิ่งดี ๆ ได้ เพราะว่าใจยังติดอยู่กับ หรือหวนนึกถึงการเล่นเกม การดูหนัง การออนไลน์ แล้วหลายคนจะพบว่าห้ามใจลำบาก รู้ว่าไม่ดี แต่ว่าห้ามลำบาก ที่จริงไม่ใช่เฉพาะการทำวัตรสวดมนต์ การเจริญสติ การออกกำลังกาย แม้กระทั่งการทำงาน หลายคนไม่มีสมาธิกับการทำงาน ไม่มีสมาธิกับการศึกษาหาความรู้เลย ไม่ว่าเตรียมสอบ หรือเตรียมทำวิทยานิพนธ์ เพราะว่าติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ รู้ว่าไม่ดี แต่ห้ามไม่ได้ ถึงตอนนี้ต้องรู้จักทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องยาก สิ่งดีต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย สิ่งไม่ดีต้องทำให้เป็นเรื่องยาก
Thu, 08 Aug 2024 - 27min - 969 - 25670419pm--ได้ดีชีวิตงามเพราะความทุกข์
19 เม.ย. 67 - ได้ดีชีวิตงามเพราะความทุกข์ : ไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม ความทุกข์มันมีประโยชน์ ไม่เจอความทุกข์เสียเลยมันก็ไม่ดี แต่ถ้าเจอความทุกข์หนักไปก็อาจจะไม่รอด ถ้าเจอความทุกข์พอประมาณก็สามารถที่จะเป็นเครื่องหนุนส่งให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามได้ ไม่ใช่เฉพาะในทางโลก แต่ว่ารวมถึงในทางธรรม เพราะฉะนั้นชาวพุทธจริง ๆ ไม่กลัวทุกข์ เพราะว่าถ้าไม่เจอทุกข์ จะรู้ธรรมหรือเห็นธรรมได้อย่างไร แต่ถ้ารู้จักพุทธศาสนาอย่างผิวเผิน คิดแต่จะหนีทุกข์อย่างเดียว ทำบุญเพื่อหนีทุกข์ เพราะคิดว่าบุญนี้จะทำให้มีโชคมีลาภ ไม่เจ็บไม่ป่วย ทั้งที่มันก็สวนทางกับความเป็นจริง แต่ถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะอย่างแท้จริง ก็จะรู้ว่าทุกข์นี้มีประโยชน์ เพราะว่าถ้ารู้ทุกข์ก็สามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านติช นัท ฮันห์ ถึงกับเขียนเป็นคติธรรมสั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ No Mud, No Lotus ไม่มีโคลนตมก็ไม่มีดอกบัว คือไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีการรู้ธรรมหรือตรัสรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเจอทุกข์ให้ถือว่าได้ของดี แม้จะเจอทุกข์หนักๆ แต่ถ้าหากว่ามีธรรมะ ทุกข์หนักๆ ก็สามารถจะกลายเป็นแรงผลักให้เกิดดวงตาเห็นธรรมได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเจอทุกข์แบบพอประมาณ แต่อันนี้ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยด้วย เจอทุกข์หนักๆ แต่มีกัลยาณมิตรก็สามารถที่จะเกิดสติได้ปัญญาได้
Wed, 07 Aug 2024 - 27min - 968 - 25670418pm--ไฟป่าสอนธรรม
18 เม.ย. 67 - ไฟป่าสอนธรรม : ไฟก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างเดียว มีประโยชน์สำหรับการรักษาป่าด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าไฟมันยังช่วยทำให้เมล็ดหรือเม็ดของต้นไม้หลายชนิดมันสามารถจะเติบโตเป็นต้นกล้าได้ ถ้าไม่มีไฟเผามัน มันก็ไม่แตกเป็นต้นกล้านะ มันต้องโดนไฟเผา มันถึงจะแตกเป็นต้นกล้า แล้วก็ทำให้เกิดต้นไม้รุ่นต่อไป มันก็สอดคล้องกับความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์ ตัณหาก็ดี หรือว่าความคิดฟุ้งซ่านก็ดี ความหลงก็ดีมีประโยชน์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอ อย่างเช่นความโกรธ ท่านก็เคยสอนว่ามันทำให้เราเห็นสัจธรรม ความโกรธก็ทำให้เราเห็นสัจธรรม ถูกต่อว่าก็เห็นสัจธรรมได้ ความหลงก็เป็นเชื้อให้เกิดความรู้ตัว เปลี่ยนความหลงให้กลายเป็นความไม่หลง เปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ หรือที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้” หมายความว่ายิ่งคิดฟุ้งซ่าน ก็ยิ่งรู้ตัวได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น แล้วเราก็ต้องรู้จักใช้ของเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วรู้จักเกี่ยวข้องกับมันให้ถูกวิธี
Tue, 06 Aug 2024 - 30min - 967 - 25670417pm--อย่าหลงเชื่อความคิดที่สนองกิเลส
17 เม.ย. 67 - อย่าหลงเชื่อความคิดที่สนองกิเลส : คนเราเมื่อมีความเชื่อ มีความคิดใดก็ตาม แม้จะเจอข้อมูลที่หักล้าง ที่ขัดแย้งก็ไม่เปลี่ยนใจ ข้อมูลไม่ได้ช่วยทำให้คนเราเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความเห็นได้เลย เพราะว่าเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าความคิดของฉันดี เจอข้อมูลที่แตกต่างที่ขัดแย้งก็ไม่สนใจ สนใจแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความเห็นเดิมของฉัน คนเราเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่า คนเรามีความยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตัวมาก และมีโอกาสที่จะคล้อยตาม คล้อยตามยังไม่พอ ปกป้องด้วย ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องระวัง เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทันความคิด แล้วรู้จักทักท้วงความคิด มันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเลย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหลงเชื่อความคิดตะพึดตะพือ เพียงแค่ว่าเป็นความคิดของฉันก็หลงเชื่อแล้ว และก็ปกป้องทั้งที่มันอาจจะผิดก็ได้ การเจริญสติทำให้เรามีโอกาสที่จะรู้ทันความคิด แล้วก็ทักท้วงความคิดด้วย ไม่หลงเชื่อง่าย ๆ แล้วก็ทำให้เราสามารถจะเป็นอิสระจากความคิด หรือว่าเปิดโอกาสให้ความคิดหรือความเห็นที่มาจากปัญญาจริง ๆ มันทำงาน เข้ามาเป็นตัวนำพาชีวิตเราไปสู่ทางที่ถูกต้องได้ ไม่ใช่หลงเชื่อแต่ความคิดหรือเหตุผลที่กิเลสสรรหา หรือปกป้องความคิดที่มันผิดพลาด เพียงเพราะเป็นความคิดของกูเท่านั้น
Mon, 05 Aug 2024 - 28min - 966 - 25670416pm--อันตรายอยู่ที่ใจเรา
16 เม.ย. 67 - อันตรายอยู่ที่ใจเรา : บางทีสิ่งที่เราวิตกกังวลก็ไม่ใช่เรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆไม่ได้น่ากลัว แต่มาปรุงแต่งและขยายความสร้างภาพให้รุนแรงขึ้น ก็ทำให้เกิดความเจ็บป่วยจริงๆ บางคนเดินกลางแดดไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่พอคิดว่าเดินกลางแดดแล้วต้องเป็นไข้ ต้องปวดหัว ปรากฏว่าเป็นจริงๆ ไม่ใช่ความร้อนของแดด แต่เป็นเพราะความวิตกกังวล วิตกกังวลเรื่องอะไร หรือวิตกกังวลว่าจะเป็นอะไร มันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เจอที่ประสบนี้เล็กน้อยมาก แต่สิ่งที่วิตกกังวลในใจต่างหากที่มันทำร้ายเรา เพราะฉะนั้นอะไรที่มันยังไม่เกิดขึ้นก็อย่าไปวิตกกังวลมาก เราเตรียมใจเผื่อไว้ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไปเอาจริงเอาจังกับมันจนกระทั่งเกิดความวิตกกังวลอย่างหนัก อะไรที่ยังไม่เกิด อย่าพึ่งไปวิตกกังวลกับมัน เพราะว่ามันอาจจะไม่เกิดก็ได้ หรืออาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คิดก็ได้ อันนี้เป็นข้อเตือนใจสำหรับคนที่กำลังอยู่ในความทุกข์ หรือกำลังอยู่ในเหตุการณ์ที่ชวนให้ทุกข์ แต่ถ้าใครมีชีวิตที่ราบรื่นปกติ เตือนใจไว้หน่อยก็ดี ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ หมายถึงสิ่งที่ไม่คาดคิด สิ่งที่ไม่ปรารถนาก็เกิดขึ้นได้ ถ้าทำได้สองอย่างนี้ก็จะช่วยทำให้การวางจิตวางใจของเราอยู่ในสภาวะจิตที่สมดุล เจอทุกข์ก็เตรียมตัวรับมือไว้แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ประสาทจนกระทั่งความวิตกกังวลมาเล่นงานเราเสียย่ำแย่
Sun, 04 Aug 2024 - 26min - 965 - 25670415pm--สงบได้เพราะใจกลับมาไว
15 เม.ย. 67 - สงบได้เพราะใจกลับมาไว : (การดักจ้องความคิด) ทำแบบนี้บ่อยๆ ก็จะเครียด อย่าไปทำแทนสติ เราต้องให้สติทำงาน แม้จะช้าแต่ว่าเขาก็จะเติบโต เขาก็จะเรียนรู้ได้ เหมือนกับเราให้ลูกซักผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ใหม่ๆ ลูกก็ทำไม่สะอาดหรอก ใช้เวลานาน พ่อแม่บางคนเห็นลูกทำงานช้าแล้วก็ไม่ละเอียดลออ เลยทำเองเลย เร็ว ผลงานออกมาดี จานก็สะอาด แต่ลูกก็ไม่ได้ฝึกเลย แล้วเราก็เหนื่อยเพราะว่าเราก็ต้องทำหลายอย่าง เราต้องให้โอกาสลูกได้ทำเอง แม้ว่าจะช้า แม้ว่าจะไม่เนี้ยบ แต่ว่าถ้าเราให้เขาได้ทำบ่อยๆ เขาจะทำได้ดีขึ้น แล้วก็จะทุ่นแรงเรา เราก็จะได้ไปทำอย่างอื่น เราก็จะเหนื่อยน้อยลง เพราะฉะนั้นในการฝึกให้มีความระลึกได้ หรือฝึกให้จิตกลับมา ต้องให้สติ เขาทำของเขาเองนะ แล้วพอสติพาจิตออกมาจากความคิด ต่อไปไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว อารมณ์นานาชนิดที่จิตมันเคยเผลอจมเข้าไป สติก็จะดึงจิตออกมาจากอารมณ์นั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วสิ่งที่ตามมาคือความสงบ แต่ก่อนนี้ว้าวุ่น รุ่มร้อน เพราะความโกรธ เพราะความเครียด เพราะความเศร้า แต่ตอนหลังอารมณ์พวกนี้มันจะบรรเทาลง เราจะทุกข์น้อยลง ใจเราจะสงบมากขึ้น เพราะว่าสตินี้พาจิตกลับมาสู่ปัจจุบันได้เร็ว อารมณ์พวกนี้มันก็เลยไม่รบกวน รังควาน หรือเผาลนจิตนานเหมือนเมื่อก่อน เป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากการที่รู้ทันความคิดและอารมณ์ เป็นความสงบที่เกิดจากการที่จิตกลับมาสู่ปัจจุบันได้เร็ว ให้เราฝึกแบบนี้แหละ
Wed, 31 Jul 2024 - 26min - 964 - 25670414pm--ความตั้งใจดีสำเร็จได้ด้วยตัวช่วย
14 เม.ย. 67 - ความตั้งใจดีสำเร็จได้ด้วยตัวช่วย : ถ้าต้องการสร้างนิสัยใหม่ ก็ต้องไปใช้อาศัยสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่นไปร้านใหม่ พอไปร้านใหม่ มันก็จะไม่ไปมองหาแต่ของชอบที่เคยกิน แต่ว่าอยากจะเลิกกินเพราะว่าไม่ดีต่อสุขภาพ นี่ก็เป็นตัวช่วยซึ่งมันทำให้นิสัยความเคยชินใหม่ๆ นี้เกิดขึ้นได้ มันก็คล้าย ๆ กับคนที่เวลามาวัด แล้วเลิกบุหรี่ได้ เลิกเหล้าได้ แต่พอกลับไปบ้านทีไร หวนกลับไปสู่นิสัยเดิม เพราะว่านิสัยเดิมมันไปผูกติดกับสถานที่ พอกลับไปสถานที่เดิม นิสัยเดิมก็เกิดขึ้น มันก็ถูกกระตุ้นเร้าทันที เขาจึงบอกว่าถ้าอยากจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนัน มันต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าไปอยู่สิ่งแวดล้อมเดิม นิสัยเดิมก็จะเลิกยาก นิสัยใหม่ก็จะสร้างขึ้นได้ยากเหมือนกัน อันนี้เป็นตัวช่วยที่ควรจะเอามาใช้เพื่อเสริมความตั้งใจ อย่าไปคิดว่าความตั้งใจอย่างเดียวมันจะพอ มันต้องมีตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถทำอย่างที่ตั้งใจได้ รวมทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อม อันนี้คือเหตุผลที่พระจึงมีวินัยซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยทำให้ความตั้งใจของพระที่มาบวชมันสัมฤทธิ์ผล มีความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่มันเกื้อกูลด้วย แต่ว่าฆราวาสจะให้มีสิ่งแวดล้อมแบบพระก็ยาก แต่ว่าเราสามารถที่จะสร้างตัวช่วยของเราเอง ที่จะทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ ทำให้ปณิธานนี้มันเป็นจริง ไม่ว่าเป็นการออกกำลังกาย การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การเจริญสติ หรือว่าการฟังธรรม
Tue, 30 Jul 2024 - 26min - 963 - 25670413pm--คลายร้อนด้วยสติ
13 เม.ย. 67 - คลายร้อนด้วยสติ : เจอะอะไรก็ตาม เช่น เจอความร้อน มันคิด มันนึก มันรู้สึกอย่างไร ก็เห็นมัน แค่เห็นก็ช่วยได้เยอะแล้ว เห็นความหงุดหงิด เห็นความขุ่นมัว เห็นความสุข เห็นความโศกความเศร้า หรือแม้กระทั่งเห็นความดีใจ สงกรานต์หลายคนก็ได้สนุกสนาน ดีใจหรือรู้สึกสนุกก็ควรจะเห็นมัน เห็นความดีใจ เห็นความเพลิดเพลิน อันนี้ก็ควรจะเห็นด้วย เห็นแล้วก็อย่าได้ไปติดมัน เจอความเพลิดเพลินก็เห็นใจที่มันเพลิน จะได้ไม่ไปติดกับความเพลิดเพลิน เจอความร้อนก็เห็นใจที่หงุดหงิด จิตจะได้ไม่ไปผลักไสความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ เพราะยิ่งผลักไสก็ยิ่งเท่ากับเพิ่มทุกข์ให้กับใจ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะมัวบ่นโวยวายตีโพยตีพายกับความร้อน อย่างนี้เรียกว่าขาดทุน หลวงพ่อคำเขียนท่านก็คงจะพูดว่า “ทุกข์ฟรี ๆ” อย่าทุกข์ฟรี ในเมื่ออากาศร้อน กายมันร้อนแล้วคือกายทุกข์ ก็อย่าทุกข์ฟรี ๆ ให้มาเรียนรู้จากความทุกข์ด้วยการเห็น เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้น หรือถ้ายังเห็นไม่ถนัด ก็เห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความทุกข์ เห็นความทุกข์โดยเฉพาะทุกข์กาย เรียกว่าเห็นเวทนา ซึ่งยากส่วนใหญ่พอเห็นความปวดก็เป็นผู้ปวดเลย แต่ว่าเห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความปวด เห็นปฏิกิริยาของใจเมื่อเจอความร้อน อันนี้ทำได้ง่ายกว่า เพราะว่ามันจะมีเสียงบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย มีความหงุดหงิด แค่เห็นนี้ก็ถือว่าได้ปฏิบัติแล้ว แต่ต้องเห็น ไม่ใช่เข้าไปเป็น ไม่ผลักไส หรือไหลตาม แล้วคือโอกาสดีของการปฏิบัติ เจอความร้อน ก็ฝึกสติกับความร้อนแหละ และแน่นอนถ้าทำอะไรก็ให้มีสติกับการทำสิ่งนั้น ฝึกสติกับการทำ และการได้เจอะเจอกับอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
Mon, 29 Jul 2024 - 28min - 962 - 25670412pm--สอนเด็กไปด้วย สอนตนไปด้วย
12 เม.ย. 67 - สอนเด็กไปด้วย สอนตนไปด้วย : การสอนการบรรยาย ถ้าเราจริงใจกับการสอนการบรรยายเราก็พลอยได้ประโยชน์จากเนื้อความที่เราสอน คือเข้าใจชัดเจนขึ้น ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็ไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจได้ แล้วขณะเดียวกันถ้าเราต้องการให้เขามีความสนุกกับการเรียน เราก็ต้องมีความสุขกับการสอน ครูที่ไม่มีความสุขหรือความสนุกกับการสอน มันก็ยากที่จะทำให้เด็กมีความสุข หรือสนุกกับการเรียน ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่คนที่เป็นครูจะได้รับ ส่วนผู้สอนผู้บรรยายก็เหมือนกัน ยิ่งถ้าเกิดว่าจะแนะนำให้เขาทำอะไร ในเรื่องศีลเรื่องธรรมมันก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ตัวเองต้องทำสิ่งนั้นด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าตัวเองไม่ทำ หรือทำไม่ได้ สิ่งที่พูดไปมันก็ไร้ประโยชน์ พ่อแม่ถ้าเกิดว่าสอนอะไรไป แต่ตัวเองทำไม่ได้อย่างที่สอนลูก มันก็ไม่ค่อยมีค่าเท่าไหร่ ดังนั้นการสอนใคร การแนะนำใคร ไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพ่อแม่หรือเป็นครู มันก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ตัวเองทำให้ได้อย่างที่พูด แนะนำเขาอย่างไรเราก็ควรจะทำได้อย่างนั้น อันนี้ก็เป็นประโยชน์ แนะนำให้เขาทำความเพียรเราก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ไม่ว่าเราคือครูหรือเป็นผู้ปกครองก็ตาม อันนี้ก็เป็นประโยชน์ที่ผู้สอน ผู้เป็นครูจะได้รับ ในสมัยพุทธกาล มีพระบางท่านเทศน์ไป สอนไป ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้อื่นตรัสรู้เท่านั้น ตัวท่านเองก็พลอยตรัสรู้ไปด้วย บรรลุธรรมขั้นสูงไปด้วย มีประเภทว่าสอนให้ผู้อื่นบรรลุธรรมแต่ตัวเองไม่บรรลุธรรม แต่ว่าก็มีบางท่านสอนไป ๆ ก็เกิดบรรลุธรรมในขณะที่กำลังสอน กำลังบรรยายนั้น อันนี้เรียกว่าทำทั้งประโยชน์ท่านและประโยชน์ตน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึงให้ได้ เมื่อเราทำประโยชน์ท่านแล้ว ก็อย่าลืมเก็บเกี่ยวประโยชน์ตนให้เกิดขึ้นกับตนด้วย
Sun, 28 Jul 2024 - 29min - 961 - 25670411pm--เติมสติลงไปในทุกนิสัย
11 เม.ย. 67 - เติมสติลงไปในทุกนิสัย : สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ามองข้าม และเราสามารถที่จะพัฒนาชีวิตหรือคุณภาพจิตเราได้ด้วยการสร้างนิสัยใหม่ กิจวัตรเดิมนั่นแหละ แต่ว่าทำด้วยคุณภาพใหม่ คือทำด้วยความรู้สึกตัว เช่น เมื่อนอนรู้สึกตัวขึ้นมาก็ลุกเลย ไม่ต้องนอนแช่ ลุก ในที่นี้หมายถึง ลุกนั่ง แล้วอาจจะทำความรู้สึกตัว ตามลมหายใจ ยังไม่ต้องหยิบโทรศัพท์มาดู พอลุกก็ลุกด้วยความรู้สึกตัว ไม่หุนหันพลันแล่น แล้วเก็บที่นอน ระหว่างที่เก็บที่นอน พับที่นอน ก็ทำอย่างมีสติ ด้วยความรู้สึกตัว ทำเสร็จเป็นอย่าง ๆ ไม่ใช่ปล่อยค้างเอาไว้ ด้วยความเข้าใจว่า เดี๋ยวก่อนจะก่อนจะออกจากบ้านไปทำงานค่อยมาเก็บที่นอน อันนั้นไม่ทำให้เกิดนิสัยใหม่ที่ทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ทำให้เรามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือว่าช่วยเสริมสร้างความรู้สึกตัวให้มากขึ้น อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า หวีผม ใส่เสื้อผ้า แม้กระทั่งว่าจะสวมหรือว่าใส่เสื้อด้วยแขนซ้ายหรือแขนขวาก่อน ก็เป็นนิสัย สวมกางเกง จะเริ่มจากขาซ้ายก่อนหรือหรือขาขวาก่อน นี่ก็เป็นนิสัย แต่จะขาซ้ายก่อนหรือขาขวาก่อน แขนซ้ายก่อนหรือแขนขวาก่อน ไม่สำคัญ แต่ขอให้ทำอย่างมีสติ แล้วไม่ต้องคาดหวังว่าต้องมีสติเต็มร้อย แม้ว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็มีค่า มีความหมาย ถ้าหากว่าทำทุกวัน ด้วยความตั้งใจว่าจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ ครบปี ตัวเลขมันเยอะ เอาง่าย ๆ เวลาที่เราใช้ในห้องน้ำ ตลอดทั้งชีวิต ถ้าเราอายุ 75 รวมเวลาที่เราใช้ในห้องน้ำตลอดชีวิต 7 ปีได้ ถ้าเราอยู่ในห้องน้ำอย่างมีสติเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกวัน รวมแล้วจะเยอะแค่ไหน รวมแล้วเกือบปีเลย แต่คนเราถ้าหากว่าทำทุกวัน ๆ จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ 13 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เวลาเราคิดถึงการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว หรือต้องการทำให้เราเป็นคนที่มีสติ อย่านึกแต่เพียงแค่มาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ทำเต็มที่ เสร็จแล้วกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม นิสัยเดิม ๆ อย่างนี้สู้การที่เราอยู่ที่บ้าน แต่ว่าเราพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการทำให้กิจวัตรที่ทำเป็นนิสัย สิ่งละอันพันละน้อยดีขึ้นเรื่อย ๆ ใส่สติ ความรู้สึกตัว เติมไปเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือสร้างความเป็นตัวเราให้ดีกว่าเดิม หรือที่เขาเรียกว่า “ตัวเราในเวอร์ชั่นใหม่” ที่ดีกว่าเดิมได้
Sat, 27 Jul 2024 - 26min - 960 - 25670410pm--ทุกข์หรือไม่ อยู่ที่ใจFri, 26 Jul 2024 - 26min
- 959 - 25670409pm--ความดีถ้ายึดติด จิตก็ตกได้
9 เม.ย. 67 - ความดีถ้ายึดติด จิตก็ตกได้ : คลิปที่หลวงจีนสวดมนต์แล้วมีหมามากวน มีข้อความหนึ่งพ่วงมากับคลิปนี้ คล้าย ๆ พูดแทนความรู้สึกของหลวงจีนว่า “จะไปนิพพานไม่ได้เพราะหมา 2 ตัวนี้แหละ” ที่จริงไม่ใช่เลย ถ้าจะไปนิพพานไม่ได้เพราะปล่อยวางไม่ได้ต่างหาก ขนาดหมา 2 ตัวนี้ยังทำให้ใจไม่สงบ ไม่สามารถจะมีสติ มีสมาธิกับการสวดมนต์ได้ ไม่ต้องพูดถึงนิพพานแล้ว เพราะว่านิพพานเป็นทางที่ยาวไกล ต้องเจออะไรอีกเยอะ นี่แค่หมา 2 ตัวมาเล่นกัน แล้วถ้าเกิดโดนคนด่า คนนินทา จะยิ่งไม่ว้าวุ่นหงุดหงิดงุ่นง่านยิ่งกว่านี้หรือ หมา 2 ตัวเล่นยังน่ารักเลย ถ้าไม่ใส่ใจกับมัน หรือว่าเห็นว่ามันก็สนุกของมัน ขนาดทำใจกับหมา 2 ตัวไม่ได้แล้ว จะทำใจอย่างไรกับคำต่อว่าด่าทอเสียดสีวิจารณ์หรือว่าอะไรที่หนักกว่านั้น ที่จริงหมา 2 ตัวนี้มาฝึก ฝึกให้รู้จักปล่อยวาง ให้รู้จักไม่ใส่ใจกับมัน มันจะเล่นก็ช่างมัน แต่ว่าใจอยู่กับการสวดไป ฝึกให้อยู่กับปัจจุบัน ฝึกให้น้อมจิตถึงพระพุทธองค์ พระอมิตาภะก็ได้ ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าหลวงจีนคนนั้นเชื่อจริง ๆ ว่า นิพพานไม่ได้เพราะว่าหมา 2 ตัวนี้ แสดงว่าผิดแล้ว ที่จริง นิพพานไม่ได้เพราะยังไม่ปล่อยวาง หรือพูดอีกอย่างคือว่า เรื่องแค่นี้ยังปล่อยวางไม่ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องนิพพานแล้ว เอาแค่ว่าอยู่อย่างปกติสุขก็ทำได้ยากแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรมหรือทำความดีอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เรื่องการปฏิบัติธรรมแล้ว สาระสำคัญอยู่ที่การวางใจ หรือ การฝึกใจ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบใจก็ไม่กระเทือน หรือรู้จักที่จะไม่ใส่ใจ ไม่ถือสา เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา นี่แหละเป็นการฝึกขั้นต้นของการปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ จิตใจก็ขุ่นมัวหงุดหงิดได้ง่ายกับอะไรต่ออะไรที่มากระทบ ที่มาเป็นอุปสรรคให้เราไม่สามารถจะทำความดีอย่างที่ต้องการได้ และที่จริงแล้ว เป็นไปเพราะความยึดมั่นในความต้องการ ความยึดมั่นในแบบแผนที่อยู่ในใจเราต่างหากที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นเลย
Thu, 25 Jul 2024 - 26min - 958 - 25670408pm--ไม่ใส่ใจ ก็ไม่ทุกข์
8 เม.ย. 67 - ไม่ใส่ใจ ก็ไม่ทุกข์ : แต่เพราะว่าเรามัวแต่ใส่ใจทุกความคิดทุกอารมณ์ มันคิดอะไรก็หลงเชื่อมัน ความโกรธสั่งอะไรก็คล้อยตามมัน เราก็เลยไม่มีความสงบสุขเสียที การปฏิบัติธรรม หรือการเจริญสติ ก็คือการเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับความคิดและอารมณ์เหล่านี้ ไม่ใส่ใจกับอดีตหรืออนาคต แต่ว่าใส่ใจกับปัจจุบัน ใส่ใจกับสิ่งที่กายกำลังทำ จึงรู้กาย แล้วก็ เวลามันมีความคิดอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น พอไม่ใส่ใจมัน จิตมันก็กลับมาสู่ความปกติ ถ้าเราฝึกให้รู้จักที่จะไม่ใส่ใจกับความคิดและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นกุศล หรืออกุศล แต่ว่าเลือกที่จะใส่ใจกับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถึงเวลาที่ไปเจออารมณ์จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือการกระทำ คำพูด หรือว่าอากาศร้อน อากาศหนาว เราก็สามารถจะเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ไม่ถือสามันได้ และเราก็สามารถจะเลือกใส่ใจกับสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่า เรียกว่าสิ่งล่อเร้าเย้ายวนก็ดี หรือสิ่งยั่วยุก็ดี ก็ไม่มีอำนาจเหนือจิตใจเราอีกต่อไป เพราะเราสามารถที่จะไม่ใส่ใจ หรือไม่ถือสา หรือว่าแม้จะเผลอไปใส่ใจกับมัน แต่ก็สามารถจะวางมันได้ หรือปล่อยให้มันผ่านเลยไป
Wed, 24 Jul 2024 - 28min - 957 - 25670407pm--คนมีปัญญาย่อมไม่ถือสา
7 เม.ย. 67 - คนมีปัญญาย่อมไม่ถือสา : คนเราถ้าไม่รู้จักให้อภัยก็น่าสงสาร เพราะว่าความโกรธความเกลียดจะล้นเกินในจิตใจ การให้อภัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถึงแม้การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา จะเป็นเรื่องยาก แต่การมีชีวิตอยู่โดยมีความโกรธความเกลียดล้นเกินในจิตใจ กลับเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า ชีวิตที่เต็มไปด้วยความโกรธความเกลียดเป็นชีวิตที่อยู่ยาก หลายคนยอมให้อภัย เพราะพวกเขาพบว่าเขาอยู่ต่อไปไม่ได้ถ้ายังมีความโกรธความเกลียดอยู่ พอให้อภัยจิตใจก็โปร่งโล่ง เบาสบาย หลายคนถึงกับบอกว่า ถ้ารู้แบบนี้ก็ทำไปนานแล้ว การให้อภัยมันดีกับตัวเราเอง ผู้ซึ่งถูกความโกรธความเกลียดเล่นงาน เวลาเรามีความโกรธความเกลียด มันเหมือนกับว่าเรามีแผลที่ใจ เมื่อเรามีแผลที่ใจ เราก็ต้องรู้จักเยียวยารักษาตัวเอง
Thu, 11 Jul 2024 - 30min - 956 - 25670406pm-เยียวยาใจจากความเจ็บปวดในอดีต
6 เม.ย. 67 - เยียวยาใจจากความเจ็บปวดในอดีต : ชดใช้กรรมกับการใช้กรรมให้เป็นประโยชน์ไม่เหมือนกัน คนเราเวลาเจ็บป่วย บางคนก็ป่วยเพราะกรรม ป่วยเพราะชดใช้กรรมก็อาจมี อาจจะเป็นจริง เพราะว่าตอนที่สุขภาพดีก็กินเหล้าสูบบุหรี่จนกระทั่งป่วย อันนี้ถือว่าเป็นการชดใช้กรรม ไม่ใช่กรรมในอดีต แต่เป็นกรรมในปัจจุบัน แต่ว่าเรายังสามารถ “ใช้กรรมให้เป็นประโยชน์” ได้ ใช้ความเจ็บป่วยเป็นประโยชน์ ให้ความเจ็บปวดมันสอนธรรม สอนสัจธรรมให้เห็นว่าสังขารไม่เที่ยง คือให้ความเจ็บป่วยนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต เกิดความกระตือรือร้นที่จะทำความดี ในขณะที่เวลาเหลือน้อยลงไป อันนี้เราใช้กรรมให้เพื่อเป็นประโยชน์ คือใช้กรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศล ทำให้เกิดความไม่ประมาท ทำให้เกิดความเข้าใจในสัจธรรม ซึ่งการที่เธอได้รับประสบการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด ถ้าหากว่าใช้เป็นประโยชน์มันก็มีคุณ อย่างน้อยก็เอามาเป็นเครื่องฝึก เอามาเป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นความสำคัญของการฝึกจิต ทำยังไงจิตของเราจะหลุดพ้นจากความโกรธ ความเกลียดที่มันฝังใจ ในเมื่อมีความทุกข์ก็พยายามฝึกจิตจนกระทั่งสามารถที่จะหลุดจากความทุกข์ หลุดจากความเจ็บปวดที่ฝังใจได้ หลายคนมีความทุกข์แต่ก็อาศัยความทุกข์นั้นเป็นตัวกระตุ้น เป็นแรงผลักให้เกิดการทำความเพียรในการฝึกจิต จนอยู่เหนือความโกรธ ความเกลียด อยู่เหนือความเจ็บ ความปวด คนเราถ้าไม่เจอทุกข์บางทีก็ไม่สนใจที่จะเข้าหาธรรม หรือว่าปฏิบัติธรรม คนที่เจอทุกข์แล้วหันมาสนใจปฏิบัติธรรมจนกระทั่งหลุดจากทุกข์ได้ อันนี้เรียกว่าใช้กรรมให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมีเยอะมาก ฉะนั้นถ้าหากเข้าใจว่า ที่ทำดีกับแม่เวลานี้มันไม่ใช่เป็นการชดใช้กรรม แต่ก็คือการทำกรรมดี แล้วจะดียิ่งขึ้นถ้าหากว่ารู้จักใช้กรรม หรือความทุกข์ที่ประสบให้เป็นประโยชน์ ก็สามารถทำได้ เข้าถึงธรรมได้
Wed, 10 Jul 2024 - 29min - 955 - 25670405pm--การเจริญสติในชีวิตประจำวันWed, 10 Jul 2024 - 1h 01min
- 954 - 25670331pm--ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง
31 มี.ค. 67 - ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง : พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้น ความเพียร ถ้าเพียรน้อยไปก็เกียจคร้าน แต่ถ้าเพียร (คือขยัน) มากไปก็ฟุ้งซ่าน” ฟุ้งซ่านก็รวมไปถึงความเครียดด้วย ต้องเพียรแต่พอดี พอพระพุทธเจ้าแนะนำเช่นนี้ พระโสณะก็เริ่มปรับ ปรับท่าทีเสียใหม่ ปรับใจเสียใหม่ ความเพียรก็กลับมาสู่ความพอดี ใจก็ไม่ได้คิดแต่จะทำด้วยอาการคร่ำเคร่ง คิดจะเอา จะเอาให้ได้ ใจก็ผ่อนคลาย แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยหรือลืมตัว พอความเพียรปรับให้พอดี ปรากฏว่าการปฏิบัติธรรมของพระโสณะก็เห็นผลทันที ในที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าความเพียรแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกินความพอดีไปก็จะไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนเรื่องความเพียรแต่พอดี ท่านใช้คำว่า วิริยสมตา ความเพียรแต่พอดี อันนี้ไม่เกี่ยวกับทางสายกลาง ทางสายกลางเป็นอันหนึ่ง แต่ความพอดีหมายถึงว่าเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่น้อยแล้วก็ไม่มาก เช่น ความสบายไม่มากเกินไป แล้วก็ไม่น้อยเกินไป มีเงินมีทรัพย์ก็ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป สิ่งที่ดี ๆ หรือคุณธรรม เช่น ความเพียร ก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักความพอดี เมื่อทำความพอดีให้เกิดขึ้นก็จะเกิดผลดี ของดีถ้าเกินความพอดีไปก็กลายเป็นไม่ดี อันนี้ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่มองว่า อะไรที่ดี ยิ่งมากยิ่งดี แต่ว่าในโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพอนามัย หรือเรื่องของธรรมะ สุขภาพจิต หรือเรื่องของการปฏิบัติธรรม มีความพอดีของมัน ช่วงแรก ๆ มีมากก็ดี แต่พอถึงจุดหนึ่ง ยิ่งมากยิ่งไม่ดีแล้ว ฉะนั้น ต้องรู้จักหาความพอดี ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรม เราต้องรู้จักความพอดี ถ้าเราหาความพอดีไม่เจอ อาจจะทำให้ ถ้าไม่หย่อน ไม่น้อยเกินไป ก็มากเกินไป ซึ่งไม่ดีทั้งนั้น แม้ว่าจะรู้ว่าทางสายกลางคืออะไร แต่ถ้าหากว่ายังไม่รู้จักความพอดีก็พาหลงทิศหลงทางหรือว่าเข้ารกเข้าพงได้
Wed, 19 Jun 2024 - 28min - 953 - 25670330pm--ทำความทุกข์ ให้พ้นจิตพ้นใจ
30 มี.ค. 67 - ทำความทุกข์ ให้พ้นจิตพ้นใจ : “เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไป” อาการที่ดับไปบางทีเราก็เรียกว่าหลุดจากอารมณ์หรือว่าปล่อยวางจากอารมณ์นั้นได้ ปล่อยวางไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ แล้วคราวนี้พอเราเห็นความคิดหรือเห็นอารมณ์อยู่เรื่อยๆ เห็นความคิดและอารมณ์อยู่เรื่อยๆ มันจะทำอะไรจิตใจเราได้น้อยลง มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่าหลุดจากความทุกข์ หลุดจากอารมณ์ ที่เคยหนักอกหนักใจ มันก็จะไม่หนักอกหนักใจ ที่เคยหงุดหงิด รำคาญ เคียดแค้น จนจิตใจรุ่มร้อน มันก็จะเย็นขึ้น ก็ยังอยู่ที่เดิม ยังเจอกับลูกน้อง หรือว่าเจอกับเพื่อนร่วมงานคนเดิม หรือว่าเจอกับเพื่อนบ้านคนเดิม แต่ว่าใจมันไม่ทุกข์เหมือนก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องไปจัดการกับคนเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องหาทางเอาคนเหล่านั้นให้มันหลุดออกไปจากชีวิต หรือว่าพ้นหูพ้นตา หลายคนคิดแค่นั้น ก็คือว่าทำยังไงก็ได้ให้มันพ้นหูพ้นตาเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่ว่าที่จริงเรามีวิธีที่ดีกว่านั้นที่ทำได้ ก็คือว่าทำให้อารมณ์เหล่านั้นมันไม่ครอบงำใจ หรือทำให้อารมณ์ที่เคยทำความทุกข์ให้กับเรามันพ้นไปจากใจของเรา ไม่ใช่พ้นหูพ้นตา แต่ว่าทำให้พ้นจากใจ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่ายกว่าเยอะ ถ้าเรามีสติ เพราะว่าเราไม่ต้องทำอะไรกับใคร เราก็แค่มาทำให้ถูกต้องกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่จะช่วยทำให้เรายังคงความปกติสุขอยู่ได้
Tue, 18 Jun 2024 - 27min - 952 - 25670329pm--กายป่วย แต่ใจไม่ทุกข์
29 มี.ค. 67 - กายป่วย แต่ใจไม่ทุกข์ : แต่พอใจนี้ยอมรับได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่กลัวแล้ว จะตายก็ตาย ใจก็สงบ กายก็ค่อยๆ ดีขึ้น ยิ่งถ้าเกิดว่ารู้จักเจริญสตินะ สตินี้มันช่วยทำให้ความตื่นตระหนกมันบรรเทาเบาบางลง แล้วยิ่งถ้ารู้จักเอามาใช้ในการมองพิจารณาความเจ็บความปวดยิ่งมีประโยชน์นะ เวลามันหงุดหงิด โมโห เพราะความเจ็บความปวด เห็นมัน เห็นมันตื่นตระหนก อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่บ่อยๆ เห็นมันกลัว เห็นมันตื่นตระหนก เห็นมันผลักไส อันนี้เรียกว่า ‘เห็นจิต’ หรือว่าเอามาดูเวทนา เห็นมันปวด เห็นมันปวด พอเห็นมันปวดนี้ มันก็ไม่เกิด ‘ผู้ปวด’ ขึ้นมาแล้ว พอเห็นมันตื่นตระหนก ความเป็น ‘ผู้ตื่นตระหนก’ ก็จะหายไป จิตก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ เห็นมันปวด การผลักไสความปวด หรือ การเข้าไปเป็นผู้ปวด ก็จะเบาบางลง พอไม่เป็นผู้ปวดแล้ว ไอ้ความทุกข์ใจมันก็น้อยลง ฉะนั้นถ้าเราเอาสติมาใช้นะกับใจ กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้ใจนี้เป็นปกติได้ แล้วมันทำให้ยอมรับ ให้ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ แม้กระทั่งเวลาใจตื่นตระหนกก็ยอมรับได้ว่า “เออ มันเป็นเช่นนั้นเอง” บางทีเราไม่เพียงแต่ต้องรู้จักยอมรับความเจ็บความปวดเท่านั้น แต่ต้องยอมรับใจที่มันยังไม่สามารถจะยอมรับความเจ็บปวดได้ บางทีใจมันตื่นตระหนก นักปฏิบัติหลายคนก็ผิดหวัง ทำไมใจเราเป็นอย่างนี้ เราปฏิบัติมาตั้งนาน ทำไมใจเรายังตื่นตระหนก ทำไมใจเรายังว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ทำไมใจของเรายังกระวนกระวาย ถ้ายอมรับอาการของใจไม่ได้ ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ แต่ถ้ายอมรับได้ว่า เออ ใจมันเป็นอย่างนี้ คุมไม่ได้ ความทุกข์ก็น้อยลง ความผิดหวังในตัวเองหรือในการปฏิบัติก็จะน้อยลง แล้วมันก็ทำให้ทุกข์น้อยลงไปด้วย ฉะนั้นการรู้จักยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มแต่ความเจ็บ ความปวด หรือยอมรับอาการตื่นตระหนกตกใจ ยอมรับอาการที่ใจมันไม่เป็นปกติ อันนี้จะช่วยทำให้ใจนี้กลับมาเป็นปกติ หรืออยู่กับความเจ็บความปวดได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า กายป่วย แต่ว่าใจไม่ทุกข์
Mon, 17 Jun 2024 - 27min - 951 - 25670328pm--สัจธรรมต้องคู่กับจริยธรรม
28 มี.ค. 67 - สัจธรรมต้องคู่กับจริยธรรม : ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะเข้าถึงสัจธรรมความจริง ก็อย่าทิ้งธรรมะในระดับจริยธรรม ต้องฝึกด้วย จะเป็นบันได เป็นพื้นฐานให้เข้าถึงความจริงขั้นสูง และเช่นเดียวกัน เวลาเราทำความดีหรือปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรม ก็จำเป็นที่เราจะต้องมีความเข้าใจเรื่องสัจธรรมความจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะท้อในการทำความดี ทำความดีไม่ตลอด เพราะฉะนั้น จริยธรรมกับสัจธรรม จึงเป็นของคู่กัน สัจธรรมเป็นตัวทำให้การปฏิบัติระดับจริยธรรมหรือการทำความดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และนำความสุขสวัสดีมาให้กับเราเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน เมื่อจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงแล้ว การปฏิบัติระดับจริยธรรมก็อย่าไปมอง อย่าไปดูแคลนว่าเป็นเรื่องต่ำ เพราะอันที่จริงก็เป็นพื้นฐานที่จะช่วยรองรับให้จิตใจของเราพัฒนา จนกระทั่งเข้าถึงภาวะที่ไม่มีตัวไม่มีตน หรือไม่มีความยึดถือในตัวตนได้ เรียกว่าเข้าสู่ภาวะที่เป็นปรมัตถ์ หรือเข้าใจเรื่องปรมัตถ์ได้อย่างแท้จริงซึ่งก็ทำให้พัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
Sun, 16 Jun 2024 - 26min - 950 - 25670327pm--ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ
27 มี.ค. 67 - ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ : การที่คนเรารู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไปคาดหวังกับสิ่งที่ควรอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปยังที่ควรจะเป็น แต่ไม่สามารถที่จะยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมา เกิดความทุกข์ แล้วสุดท้ายมันก็ไปคาดหวังกับตัวเองด้วย ไม่ได้คาดหวังคนอื่นอย่างเดียว คนที่มาเจริญสติ ปฏิบัติที่นี่หลายคน เขาก็รู้ ว่าความสงบเป็นสิ่งที่ดี แต่พอมาปฏิบัติก็คาดหวังว่าจิตจะต้องสงบ ไม่คิดอะไร ไม่ฟุ้งซ่าน แต่พอมีความคิดขึ้นมาก็ยอมรับไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจตัวเอง หรือบางครั้งมันมีจิตคิดในทางลบต่อผู้มีพระคุณ หรือว่ามีอารมณ์บางอย่างซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น เช่น ความโลภ ความโกรธ ราคะ พอมันเกิดขึ้นมาก็ทำใจยอมรับไม่ได้ เพราะมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ความคิดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับเรา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่สามารถยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นได้ แค่มีความฟุ้ง ความคิดมันผุดขึ้นมาเยอะแยะ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้นเลย เราอุตส่าห์ปฏิบัติมาตั้งหลายวันแล้ว ทำไมยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ความจริงกับความคาดหวังมันสวนทางกัน ในเมื่อยอมรับความจริงหรือความเป็นจริงไม่ได้ มันก็เลยเกิดความทุกข์ ทั้งที่ถ้าเกิดยอมรับความเป็นจริงได้ มันเกิดขึ้นก็แค่ยอมรับแล้วก็แค่รู้ แค่รู้เฉย ๆ การเจริญสติท่านก็สอนให้แค่รู้เฉย ๆ หลวงพ่อคำเขียนเคยบอกว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง บางคนพอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง กับพ่อแม่ กับครูบาอาจารย์ เป็นทุกข์มากเลย อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะความเป็นจริงบางครั้งมันก็ห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็น แต่เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ เพราะถ้าไม่ยอมรับ เราก็จะทุกข์มาก
Sat, 15 Jun 2024 - 28min - 949 - 25670326pm--ปล่อยเมื่อไหร่ ทุกข์หลุดเมื่อนั้น
26 มี.ค. 67 - ปล่อยเมื่อไหร่ ทุกข์หลุดเมื่อนั้น : ที่จริงแล้ว เพียงแค่ลิงคลายมือออก มันก็เป็นอิสระแล้ว เพราะพอคลายมือออกมันก็จะดึงมือออกมาจากช่องเล็ก ๆ นั้นได้ แต่ลิงไม่ยอมคลาย มันกำแน่น เพราะอะไร เพราะมันหวงถั่วในมือของมัน จึงถูกจับได้ในที่สุดจะว่าไปแล้ว ชะตากรรมของลิงเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากคนเราเลย จริงอยู่คนเราอาจไม่ได้กำอะไรที่มือ แต่ใจนั้นกำไว้แน่น พอกำไว้แน่น ความทุกข์จึงตามมา ที่จริงเพียงแค่คลายหรือปล่อย เราก็เป็นอิสระจากทุกข์ได้ แต่คนเราส่วนใหญ่เหมือนกับลิง คือ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมคลาย กำไว้อย่างนั้น ไม่ได้กำที่มือ แต่กำที่ใจ เรียกว่ายึดติด ความทุกข์ของคนเราเมื่อถึงที่สุดแล้วก็เกิดจากความยึดติด เป็นเพราะใจเรากำไว้ไม่ยอมปล่อย ทุกข์กายนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ สารพัด เช่น อากาศร้อน อากาศหนาว เชื้อโรค อาหารเป็นพิษ มลภาวะ หรือภัยธรรมชาติ หรือมีคนมาทำร้าย แต่ถ้าเป็นทุกข์ใจแล้ว สาเหตุมีอยู่ประการเดียว ถ้าสาวไปให้ถึงที่สุด ก็คือความยึดติด หลวงพ่อชา สุภทฺโท สรุปไว้ดีมาก ท่านว่า “ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหลุด ทุกข์หยุดเพราะปล่อย” คนเราก็เหมือนกับลิง ถ้าลิงเพียงแค่คลายมือ ปล่อยถั่ว มันก็เป็นอิสระได้ แต่เพราะคนเราไม่ยอมปล่อย ทั้งที่สิ่งที่ยึดเอาไว้นั้นบางครั้งเป็นอดีตไปแล้ว
Fri, 14 Jun 2024 - 25min - 948 - 25670325pm--ความร้อนสอนธรรม
25 มี.ค. 67 - ความร้อนสอนธรรม : ความรู้สึกว่าร้อนเป็นเวทนา ในยามนี้สำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือทุกขเวทนา แต่ถ้าเกิดใจบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” อันนี้มันเจือไปด้วยความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ตรงนี้เป็นสังขารแล้ว เวทนาอย่างเดียวเราจะมองว่าเป็นสัญญาก็ได้ เวทนาก็ได้ สังขารก็ได้ มันสำคัญยังไง สำคัญตรงที่ว่าเวลาเรารู้สึกร้อน แล้วมันไม่ใช่แค่รู้สึกร้อน แต่ใจมันบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” ตรงนี้มันแปลว่าไม่ใช่กายที่ร้อนอย่างเดียว ใจก็ร้อน ไม่ใช่กายที่ทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย แล้วถ้าเราปล่อยให้ใจทุกข์ มันก็เหมือนกับว่าทุกข์ 2 ชั้น หรือว่าร้อน 2 ต่อ ร้อนกายแล้วก็ร้อนใจ ถ้าร้อนแล้วมันทำให้ทุกข์กาย แล้วก็ทุกข์ใจตามไปด้วย ในเมื่อจะร้อนทั้งที ก็ให้มันร้อนอย่างเดียวคือร้อนกายแต่ว่าใจอย่าร้อน ในเมื่อมันทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กายแต่ว่าใจอย่าทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ปล่อยให้ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ แทนที่จะรู้สึกว่าร้อนเท่านั้น ใจมันก็บ่นว่าร้อน ร้อน มีความหงุดหงิด มีความไม่พอใจ เราเห็นไหม เห็นใจที่มันบ่นไหม เห็นใจที่มันหงุดหงิดไหม เห็นใจที่มันโวยวายไหม ถ้าไม่เห็นนี้ขาดทุน เพราะถ้าไม่เห็น มันก็ทุกข์ 2 ต่อ ทุกข์กายด้วย ทุกข์ใจด้วย ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ และถ้าไม่เห็น ไม่เห็นว่าใจมันบ่น ใจมันโวยวายตีโพยตีพาย นอกจากจะแยกไม่ออกระหว่างสัญญา เวทนา และสังขาร ที่สำคัญก็คือ กลายเป็นทุกข์ฟรี ๆ
Thu, 13 Jun 2024 - 25min - 947 - 25670323pm--ของดีอยู่ข้างหน้า อย่ามองข้าม
23 มี.ค. 67 - ของดีอยู่ข้างหน้า อย่ามองข้าม : ที่จริงไม่ใช่เฉพาะสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเราก็ต้องรู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นตัวขัดขวางการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างเช่นปฏิบัติธรรม เมื่อวานนี้เราปฏิบัติได้ดีมากใจสงบ มันรู้สึกตัวมากเลย แล้วเราก็เพลินหรือว่าเกิดความติดใจในภาวะอารมณ์แบบนั้น อยากให้มันเกิดขึ้นอีกในวันนี้ แต่พอทำวันนี้แล้วมันไม่ได้อย่างที่ เหมือนเมื่อวาน ก็เกิดความหงุดหงิดเกิดความไม่สบายใจ เกิดความไม่พอใจ บางคนทุกข์มากเลย ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันก็ไม่ได้แย่อะไร แต่เป็นเพราะว่าไปติดใจกับอารมณ์การปฏิบัติของเมื่อวาน แล้วก็อยากให้มันเกิดขึ้นในวันนี้ ความอยากให้มันเกิดขึ้นวันนี้อย่างที่เป็นเมื่อวาน มันก็แสดงว่าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันแล้ว ถ้ายังอยู่กับปัจจุบันมันก็ต้องวางให้หมด เมื่อวานนี้เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องของเมื่อวาน วันนี้เราจะอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วเราก็จะพบว่าถ้าเราวางเหตุการณ์ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้
Wed, 12 Jun 2024 - 26min - 946 - 25670322pm-จิตที่ฝึกไว้ดี มีความสุขเป็นรางวัล
22 มี.ค. 67 - จิตที่ฝึกไว้ดี มีความสุขเป็นรางวัล : ปกติเราชอบมองออกไปข้างนอก แล้วเราส่งจิตออกนอก ซึ่งก็ทำให้เราเผลอปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ เล่นงานจิตใจ เผาลนจิตใจด้วยความโกรธ กรีดแทงใจด้วยความเกลียด หรือหนักอกหนักใจเพราะแบกโน่นแบกนี่ เพราะเราไม่รู้จักมีสติเห็นใจของตัว เพราะมัวแต่ส่งออกนอก เราต้องหันกลับมาดูใจของเราอยู่เสมอซึ่งจะทำได้นี้มันก็ต้องทำเป็นนิสัย แล้วนิสัยจะเกิดขึ้นได้ต้องทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ และไม่ใช่แค่ปฏิบัติที่นี่ กลับไปบ้านเราก็ปฏิบัติได้ เช่น เวลาเก็บที่นอน อาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า แทนที่จะปล่อยใจลอยคิดโน่นคิดนี่ ก็กลับมารู้สึกตัว หรือว่าฝึกใจให้เห็นความคิดที่มันเกิดขึ้น ขณะที่ทำนั่นทำนี่ รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง หมายถึงรู้ความคิดว่ามันเผลอคิดไป รู้แล้วก็วาง วาง ถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ แม้กระทั่งเวลากินข้าว เราก็มีสติกับการกินข้าว ไม่ใช่ปากเคี้ยวแต่ใจไม่รู้ คิดไปโน่นคิดไปนี่ แต่ถึงคิดไปก็พาใจกลับมาบ่อยๆ อันนี้จะเป็นการสร้างนิสัยใหม่ที่จะทำให้เรานี้มีสติเป็นเครื่องรักษาใจ แล้วก็จะช่วยให้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเล่นงานจิตใจ สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจเราได้น้อยลง แล้วตรงนี้ที่มันจะช่วยให้เรารู้จักสลัดความคิด สลัดอารมณ์ หรือปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยวางความทุกข์ออกไปจากใจได้เร็ว ฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้บ่อยๆ ก็เรียกว่าเรามีจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว และอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส “จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้” หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่พาเอาทุกข์มาทับถมใจของเรา ฝึกจิตเอาไว้ให้ดีก็จะมีความสุขหรือความปกติเป็นรางวัล
Tue, 11 Jun 2024 - 28min - 945 - 25670321pm--มองไม่เป็น ก็เป็นทุกข์Sun, 09 Jun 2024 - 26min
- 944 - 25670315pm-- รักษาใจให้ไกลทุกข์Sat, 08 Jun 2024 - 59min
- 943 - 25670313pm--เสียคนเพราะหลงตัวกู
13 มี.ค. 67 - เสียคนเพราะหลงตัวกู : การลดความยึดว่าเป็นของกูและตัวกู มันทำได้เยอะเลย แม้กระทั่งการให้ทาน การสละสิ่งของที่เรารัก สิ่งของที่มีค่า ก็เป็นการลดความยึดในของกู หรือการทำใจเป็นกลาง เวลาความคิดของตนไม่มีคนเห็นด้วย เวลาความคิดที่เราพูดไปมีคนแย้ง ก็ถือว่าดี ถือว่ามันได้มาช่วยขัดเกลาความยึดมั่นในของกู สังเกตใจของตัวไปด้วย เวลาคนเขาแย้งความเห็นของเรา ใจมันกระเพื่อม ใจมันไม่พอใจหรือเปล่า อันนี้แสดงว่าเรายังมีความยึดในความคิดความเห็นอยู่ เรียกว่าที่ทิฏฐุปาทาน ยึดในสิ่งของทรัพย์สมบัติ เรียกว่ากามุปาทาน ถ้ายึดในตัวกู หรือยึดในความเชื่อว่ามีตัวกู หรือความยึดมั่นว่าตัวกู เรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ตัวนี้ไถ่ถอนยากที่สุด แล้วถ้าเราไม่ลดมัน นอกจากเราจะไปสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างตัวอย่างที่เล่ามา ถึงขั้นไปทำร้ายคนที่เรารัก หรือคนที่เราไม่รู้จัก บางทีเราเองนั่นแหละจะทุกข์เอง ทุกข์เพราะยึดอะไรต่ออะไรว่าเป็นของกู ยึดว่าความทุกข์เป็นกู ยึดว่าความทุกข์เป็นของกู สิ่งที่ไม่ดี ความโกรธ ความเกลียด ความเจ็บความปวดนี่ไม่ดี แต่ทำไมเราไปยึดว่าเป็นของกู ความโกรธเป็นกู ความปวดเป็นของกู แล้วยิ่งยึดว่าเป็นของกู หรือเกิดกูผู้ปวดขึ้นมา เกิดกูผู้ทุกข์ขึ้นมา มันยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย
Fri, 07 Jun 2024 - 27min - 942 - 25670310pm--อย่าปล่อยให้เสียงในหัวรบกวนใจ
10 มี.ค. 67 - อย่าปล่อยให้เสียงในหัวรบกวนใจ : ปัญหาของจำนวนมากคือ พอมาพบธรรมะ บางทีก็ ติดดี ติดดีก็เลยยอมรับไม่ได้ว่า สมัยก่อน ตอนที่ยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เราไม่มีศีล เราไม่มีธรรม รู้สึกละอายตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่เป็นโทษของการมีธรรมะ แต่เป็นเพราะติดดีมากกว่า วางใจไม่เป็น ถ้าวางใจเป็นมันก็จะไม่ได้รู้สึกแย่อะไรกับตัวเองสมัยที่ยังเป็นหนุ่ม ก็ถือว่า เออ เรายังไม่มีประสบการณ์ เรายังอ่อนต่อโลก เราก็เลยพลั้งเผลอไป แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แล้ว เราพบว่าอะไรเป็นคุณค่าของชีวิตแล้ว ก็น่าจะยินดีที่เรามืดมา สว่างไป ไม่ใช่พอสว่างไปแล้วก็มาโทษว่าทำไมตอนเด็กมันมืดอย่างนั้น น่าจะยินดีที่ตอนนี้เราพบทางสว่างแล้ว ถ้าเราวางใจให้เป็น คำว่า "ไม่น่าจะ" "ไม่น่าเลย" หรือ "น่าจะ" มันจะไม่รบกวนจิตใจเรา เราจะไม่เอาคำนี้มาใช้ในทางที่ผิด คือเอามาใช้กับเหตุการณ์ในอดีต แต่เราจะเอามาใช้กับสิ่งที่เราจะทำในวันข้างหน้า หรือกำลังจะทำในวันนี้ต่างหาก และนี่คือสิ่งที่ควรทำ
Sun, 26 May 2024 - 27min - 941 - 25670309pm--มงคลสูงสูดของชีวิต
9 มี.ค. 67 - มงคลสูงสูดของชีวิต : เมื่อเจอโลกธรรม จิตใจไม่หวั่นไหว มันทำได้ ที่จริงแล้วไม่ใช่โลกธรรมฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายบวกก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดขึ้นก็อย่าไปเพลิดเพลินยินดีกับมัน ใครชมก็อย่าไปเคลิ้มคล้อย เวลาได้อะไรก็อย่าไปหลงใหลเพลิดเพลิน เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่เที่ยง คำชมเมื่อสูญไป หรือมีคำด่ามาแทนที่ ถ้าเราดีใจในคำชม เราก็ทุกข์ในคำด่าว่า ถ้าเราเพลินในการมี ถึงเวลาเสีย เราก็ทุกข์ ถ้าจะให้จิตไม่หวั่นไหวเมื่อโลกธรรมฝ่ายลบ ก็อย่าไปยินดีเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายบวก เมื่อไม่ยินดีในโลกธรรมฝ่ายบวก ถ้ามันเปลี่ยนเป็นโลกธรรมฝ่ายลบ มันก็ไม่เกิดความยินร้าย นี่คือสิ่งที่เราฝึกได้ในชีวิตประจำวัน ข้อสำคัญก็คือว่า เราต้องเอาสิ่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต จิตของผู้ใดเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เป็นจิตไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ มงคลสูงสุดประการสุดท้ายควรจะเป็นจุดหมายสำคัญของชีวิต แล้วก็เป็นจุดหมายสำคัญของการปฏิบัติของเรา ถ้ายังหวั่นไหวใจกระเพื่อมเพราะเจอโลกธรรมฝ่ายลบ แสดงว่าเรายังต้องฝึกต่อไป อย่าไปโทษคนนั้นคนนี้ แต่ให้รู้ว่า เป็นเพราะเรายังปฏิบัติได้ไม่ก้าวหน้าพอ แค่นี้มันก็ช่วยทำให้เราเกิดความเพียรในการปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าเราไปโทษคนนั้นคนนี้ เราก็ไปไม่ถึงไหน
Sat, 25 May 2024 - 28min - 940 - 25670308pm--ใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า
8 มี.ค. 67 - ใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า : ถ้าคนเราตระหนักว่า เวลาเราเหลือน้อย เราก็จะเห็นความสำคัญของการที่ไม่ไปเสียเวลามากกับเรื่องราวต่างๆ ที่มันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว ซึ่งแต่ก่อนตอนที่เรายังหนุ่มยังสาว เราก็จะพลอยหงุดหงิดหัวเสียกับมัน รถติดบ้าง ซื้อของไม่ได้ตามหน้าปกบ้าง หรือว่าไปกินอาหารแล้วมันไม่อร่อยสมราคาบ้าง แล้วมาหงุดหงิดหัวเสีย หรือใครมาส่งเสียงดัง เช่น เพื่อนบ้าน ก็ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเขา แล้วก็ไปหงุดหงิดหัวเสียจนนอนไม่หลับ นี่คือการปล่อยเวลาให้สูญไปอย่างไม่คุ้มค่า ถ้าในเมื่อเราต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า มันก็ควรรู้จักปล่อยวางเรื่องพวกนี้ ไม่ยอมเสียเวลาที่มีน้อยลงไปทุกทีกับเรื่องพวกนี้ แต่ใช้เวลาในการทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล ใช้เวลาในการเปิดใจรับความสุข ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ด้วยการทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล ปฏิบัติธรรม ฝึกจิตฝึกใจ ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่เฉพาะวันหน้าแต่รวมถึงวันนี้ด้วย เพราะถ้าเราฝึกปฏิบัติธรรมได้ดี เราจะปล่อยวางเรื่องไม่เป็นเรื่องได้ง่าย ถึงแม้จะไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน เราก็มีความสุข อาจจะมีความสุขกว่าคนที่ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แต่ก็หัวเสียกลับมา เพราะไม่รู้จักปล่อยหรือไม่รู้จักวางใจ แต่ถึงแม้เราจะอยู่บ้าน แต่เราก็มีความสุขได้เพราะรู้จักวางใจ อันนี้เรียกว่า “ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า” เป็นการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ดีกว่าการ “ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” อย่างที่พูดๆ กัน
Fri, 24 May 2024 - 29min
Podcasts ähnlich wie Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล)
- นิทานชาดก 072
- พี่อ้อยพี่ฉอด พอดแคสต์ CHANGE2561
- หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม dhamma.com
- People You May Know FAROSE podcast
- เล่าเรื่องรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี karunabuakamsri
- ลงทุนแมน longtunman
- Mission To The Moon Mission To The Moon Media
- ธรรมนิยาย หลวงพ่อจรัญ (สัตว์โลกย่อมเป็นไปตา Ploy Techa
- พระเจอผี Podcast Prajerpee
- SONDHI TALK sondhitalk
- คุยให้คิด Thai PBS Podcast
- หน้าต่างโลก Thai PBS Podcast
- พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) Thammapedia.com
- พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) Thammapedia.com
- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน Thammapedia.com
- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย Thammapedia.com
- The Secret Sauce THE STANDARD
- THE STANDARD PODCAST THE STANDARD
- คำนี้ดี THE STANDARD
- 2 จิตตวิเวก ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana
- 5 นิทานพรรณนา ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana
- พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
- พุทธวจน พุทธวจน
- หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ