Nach Genre filtern
- 81 - ธรรมละนิด : การุณยฆาต
พระอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับ ‘การุณยฆาต’ อย่างไร หากมนุษย์คนหนึ่งใช้ชีวิตมาอย่างเต็มที่แล้ว พอใจในชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองมาก และพอใจที่จะมีอายุขัยแค่อายุ ๖๐ ปี ไม่ได้ป่วยร้ายแรง ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า ทำไมการทำ ‘การุณยฆาต’ ถึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หากการมีอายุที่มากขึ้นคือการทรมาน สังขารอาจเสื่อมลงกว่านี้? ข้อแรก ก็ไม่เห็นด้วยกับการขโมยคำว่า “กรุณา” ใช้ในการฆ่าคน ก็แปลไม่ดี คือมันแปลแบบไม่ยุติธรรม มันกลับเป็นการบอกอยู่ในตัวว่าเป็นสิ่งที่ดี พอฟังว่า “กรุณา” โอ้...ฆ่าด้วยความกรุณามันอาจจะดี แต่เราไม่ถือว่าเป็นความกรุณา การที่มองชีวิตเหมือนเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ว่า ใช้ได้พอสมควรแล้ว อยากทิ้งแล้ว ใช้แล้วทิ้งนี่นะ ก็เป็นมุมมองต่อชีวิตที่อาตมาไม่เห็นด้วย การุณยฆาตมันจะมีเหตุผลบ้างถ้าเชื่อว่า ‘ตายแล้วสูญ’ แต่เราถือว่าผู้ที่ค้นคว้าในเรื่องจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้งที่สุด เป็นแบบนักค้นคว้า นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ คือพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งยืนยันในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด อายุหกสิบแล้ว ตายแล้วนี่จะไปไหน รับรองตัวเองได้ไหม มั่นใจว่ามันจะไปที่ดีไหม ถ้าคิดว่าปิดสวิตซ์หมดเรื่อง ก็อาจจะโอเคนะ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น จะอย่างไรไหม แล้วมั่นใจไหมว่าจะดับสูญ ด้วยเหตุผลอะไร เหมือนเราจะอยากรู้เรื่อง สมมติว่าอยากรู้เรื่องควอนตัมฟิสิกส์อย่างนี้ เราจะไปขอความรู้จากเด็กนักเรียน ม.สาม หรือจากศาสตราจารย์ที่ฮาร์วาร์ด คิดว่าถ้าเป็นไปได้นะ ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด ฉะนั้นอยากรู้ว่าตายแล้วไปไหนก็ไปศึกษาคำสอนพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้รู้ในเรื่องนี้ดีที่สุด หรือถ้าอย่างน้อย สมมติว่าเราบอกว่าไม่เชื่ออาจารย์ทางฮาร์วาร์ด ศาสตราจารย์ เชื่อเด็ก ม.สาม ก็เป็นสิทธิที่จะตัดสินอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันคิดว่า ถ้าปฏิเสธว่าอาจารย์ ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดนี่ไม่รู้เรื่องเลย เป็นคนงมงาย อาตมาว่านี่มันกล้าเกินไปนะ มันไม่ฉลาด การที่มองชีวิตเหมือนเป็นสิ่งที่...ก็มีความสุขเมื่อไร ก็อยู่ไป หมดความสุขแล้วก็ให้ดับ ให้ปิดสวิตซ์ แล้วต่อมาสมมติว่าคนห้าสิบก็รู้สึกอย่างนั้น หรือว่ามีลูก ลูกก็จบปริญญาตรีแล้ว รู้สึกชีวิตเราสมบูรณ์นะ ได้ปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโทเกียรตินิยม จากนี้ชีวิตก็คงไม่มีอะไรดีกว่านี้ จบตรงนี้แบบ end on high จากนี้ชีวิตก็คงไม่มีอะไรสนุก หรือว่า อกหักแล้วคงไม่มีอีกแล้ว พอไม่มีคนนี้แล้ว ไม่รู้จะอยู่ทำไมแล้ว ชีวิตไม่มีค่าแล้ว คือเหตุผลอยากฆ่าตัวตายหรือที่จะดับชีวิตสำหรับคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ มันมีมาก ส่วนที่อาตมาเป็นห่วงโดยเฉพาะในสังคมไทยที่กำลังเป็นสังคมคนสูงอายุ ซึ่งในอนาคตเราก็จะลำบากมากในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มๆ จะมี ก็มีอยู่แล้วที่ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นภาระกับลูกหลาน อู้ว...ลูกหลานต้องเสียค่ารักษาพยาบาล โอ...เราตายดีกว่า จะได้ไม่เป็นภาระ ก็จะนำไปสู่กระแสสังคมว่า ถ้าผู้สูงอายุรักลูกรักหลานจริงๆ แล้วไม่อยากเป็นภาระกับเขา ให้ตายดีกว่า อันนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้นะ ในต่อไป ถ้าเราทิ้งหลักเรื่องความเวียนว่ายตายเกิด ในหลักการเห็นคุณค่าของชีวิต ในการดูแลชีวิต มันก็เป็นไปได้ทุกอย่าง ฉะนั้นเรื่องการุณยฆาตนี่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Feb 2024 - 80 - ธรรมละนิด : ประโยชน์สูงสุดของมนุษย์
ศิษย์เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความเข้าใจในคำว่า ‘ประโยชน์’ เช่นนี้ เพียงพอแล้วหรือไม่ พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร? คือประโยชน์ตน ความสุขตน ใช่ แต่มองในทางบวกก็คือ การปฏิบัติถึงขั้นนี้ ก็มีผลทำให้ความเมตตากรุณา ปัญญา ความเป็นอิสระภายในจะอุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่ปล่อยวางหรือว่าหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย แล้วถึงพร้อมด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ที่สามารถสร้างประโยชน์กับส่วนรวมได้เต็มที่ เพราะไม่มี ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีกแล้ว แล้วก็มีความเมตตากรุณา มีเจตนาบริสุทธิ์ในการสร้างประโยชน์ และมีปัญญา มีกุศโลบายในแนวทางที่จะสร้างประโยชน์ให้มาก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเน้นในสิ่งที่ปล่อยวางไป บางทีมันจะฟังแบบ ไม่มีอะไร ไม่รู้จะอยู่ทำไม เรียกว่าเราก็ต้องบาลานซ์ (balance) ด้วยคุณธรรมที่เกิดทดแทนสิ่งที่ไม่ดีที่จากไปหรือขาดไป พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 16 Jan 2024 - 79 - ธรรมละนิด : ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ขอท่านอาจารย์โปรดให้คำแนะนำการดูแลคุณพ่อหรือคุณแม่ซึ่งป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย? หนึ่ง ก็ต้องเคารพในความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ อย่างเช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบฟังเทศน์ ไม่ชอบเลย ไม่ชอบ...อย่าไปบังคับมาก ...นี่ก็ต้องเปิดเสียงธรรมะ เปิดนั่น… ใช่ ถ้าเป็นเรานี่ก็คงดี แต่ต้องดูใจท่าน บางทีท่านอาจจะฟังเพลงมากกว่า คืออย่าไปแบบเข้มงวดมากเกินไป อย่าไป… เคารพในความต้องการของท่าน สอง นี่ก็ควรจะมีการสลับพอสมควร เพราะถ้าเหนื่อยมากเกินไป บางทีอารมณ์เราเสียแล้วตอนหลังก็เสียใจ ต้องดูแลสังขารของเราด้วย บางที...มันไม่ใช่บางที หลายครั้ง ผู้ที่อยู่วาระสุดท้ายเขาอยากไปเต็มที่แล้ว แต่ท่านไม่ไปเพราะเกรงใจลูก ลูกก็ทำท่าจะทำใจไม่ได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่จากเราไป ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้ท่าน… ลูกก็รักมาก ลูกก็อยากให้อยู่นานๆ แต่ถ้าถึงเวลาคุณพ่อก็ไม่ต้องเกรงใจนะคะ ไม่ต้องเป็นห่วง ของเราก็เรียบร้อยทุกอย่าง ไม่ต้องเป็นห่วง มันจะไปเมื่อไรก็ตามสบาย คือเหมือนเราอนุญาตว่า ท่านรู้สึกท่านพร้อมเมื่อไรท่านก็ไม่ต้องแบบอึดอัดใจว่า มันเป็นบาปไหมหนอ ทิ้งลูกที่กำลังทุกข์ใจ ก็เป็นการเสียสละของลูก แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ที่อยู่วาระสุดท้ายท่านเป็นคนเข้าวัด ถ้าเรามีเปิดธรรมะบ้าง หรือว่าช่วงเช้าช่วงเย็น ชวนลูกหลานไปทำวัตรสวดมนต์กับท่านนี่จะดีมาก แต่อยู่ในห้องนี่ต้องดูแลอารมณ์ ถ้าเกิดความไม่พอใจกัน อย่าเพิ่งทะเลาะทั้งๆ ที่ท่านนอนแบบไม่รู้ คือคนที่หลับตาดูไม่รับรู้อะไรนี่ บางทีได้ยินหมดเลย คือหูจะเป็นอวัยวะสุดท้ายที่จะเสื่อมไป ถ้าท่านยังรู้ตัวอยู่ พยายามดูว่าท่านยังมีอะไรวิตกกังวลไหม มีอะไรที่ท่านไม่สบายใจไหม ชวนให้ท่านปล่อยวางในเรื่องนั้น ท่านเป็นห่วงเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เรื่องที่ดิน เรื่องลูกหลาน เรื่องนั้น เรื่องนี้ ชวนคุยให้ค่อยๆ ชำระในเรื่องนี้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 28 Nov 2023 - 78 - ธรรมละนิด : โฆษณากับมุสาวาท
ในการทำการค้า บางครั้งอาจจะต้องใช้คำโฆษณาเชิญชวนให้คนคล้อยตาม เราจะมีวิธีรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร? ก็คือศีลข้อนี้เป็นมาตรฐาน คือศีลห้าข้อนี่เป็นเครื่องระลึกของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือไม่ใช่ว่ารักษาศีลจะได้เจริญสติ แต่ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ศีลห้าข้อนี่มันเป็นเครื่องระลึกของสติ นี่มันจะอยู่ในใจว่า “เอ๊ะ จริงหรือไม่จริงอย่างไร” อันนี้ก็คือตัวสติ ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ศีลบริสุทธิ์ต้องพูดตรงตามความเป็นจริง แต่ถ้าในบางกรณีรู้สึกเหลือวิสัยจริงๆ ก็ต้องให้มันตรงเท่าที่จะตรงได้ อย่างน้อยมันก็เป็นความคิดอยู่ในใจว่า พยายามให้ตรงที่สุด เพราะเป็นเครื่องระลึกของสติ บางทีมันก็จะทำให้ปัญญาทำงาน เอ้อ...เราสามารถพูดได้โดยไม่ต้องโกหกก็ได้ มันก็มีเทคนิคในการพูดที่เราค่อยเรียนรู้ คือจะโฆษณาของ บางทีมันไม่ใช่ว่ามีทางเลือกระหว่าง พูดความจริงกับโกหกเต็มที่ มันก็มีวิธีพูดที่มันเป็นเรื่องศิลปะของการถ่ายทอดกับการสื่อสารกัน คือเราจะพูดกับคนล่าสัตว์เหมือนกันว่า ล่าสัตว์นี่อย่างไรก็เป็นบาป แต่ทำให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วทำอย่าให้โหดเหี้ยม อย่าให้มันมีการทรมาน ถ้าจริงๆ มีทางเลือกไม่ได้ อย่างน้อยให้ทำให้น้อยที่สุด ให้เป็นบาปให้น้อยที่สุด ในการโฆษณานี่ส่วนมากคนก็รู้อยู่ในระดับหนึ่งว่า เขาพูดเกินอย่างนั้นเอง “ดีที่สุดในประเทศไทย” หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นการอวดตัวของเจ้าของสินค้า แต่ถ้าเราโกหกในลักษณะที่ทำให้เป็นการหลอกลวง หรือว่าทำให้คนเข้าใจว่าคุณภาพเป็นอย่างนี้ ซึ่งที่จริงคุณภาพก็แค่นี้ อันนี้เรียกว่าเป็นบาปมาก แต่ถ้าเป็นโฆษณาแบบ “ใช้สินค้านี้ จะมีความสุขเหลือเกิน” อะไรนี้ก็ถือว่าธรรมดาของการโฆษณาอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Nov 2023 - 77 - ธรรมละนิด : ขี้กังวล
มักจะขี้กังวลกับการใช้ชีวิต คอยพะวงหน้าพะวงหลังกลัวว่าจะทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ครบถ้วน ควรแก้ไขอย่างไรดี? ความรอบคอบเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะทำอะไร เราก็ทบทวนว่า ควรไม่ควร อย่างไร แต่ถ้าไม่ระวังมันจะเกินพอดี มันจะกลายเป็นการพะวง ซึ่งสิ่งที่ควรจะระลึกอยู่เสมอก็คือ ‘ชีวิตของเรานี่ ทุกครั้งที่เราต้องตัดสิน เป็นการเสี่ยง’ ไม่มี...ไม่มีในชีวิตที่เราจะรู้ล่วงหน้าร้อยเปอร์เซนต์ว่า แน่นอน ใช่เลย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะผิดหวังหรือจะไม่เหมือนที่คิด มันก็มีอยู่เสมอไป พระพุทธองค์ก็เน้นที่จิตใจของเราที่มีความพร้อมที่จะรับมือ ที่จะได้กำไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม เพราะฉะนั้นเราก็คิดแล้ว...มันน่าจะทำอย่างนี้นะ ถ้าเกิดไม่เหมือนที่คิด เราก็พร้อมที่จะปรับแก้ไขได้อยู่เสมอ เวลาเราให้กำลังใจใครก็บอกว่า “ประตูนี้ปิด ก็ทำให้ประตูนี้เปิด” ใช่ไหม แต่ในทำนองเดียวกัน ทุกครั้งที่ประตูนี้เปิด ก็มีประตูอีกหลายประตูที่ปิด เพราะฉะนั้นมันก็เป็นธรรมดาของชีวิต เราจึงต้องสังเกตตัวเองว่า การคิดพะวงอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์กับชีวิตเลย หนึ่ง ก็ทำให้เหนื่อย สอง ก็จิตใจก็ไม่มีความสุข สาม การคิดพะวงกลับไปกลับมา ก็ไม่ได้ทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้นในการตัดสิน ในการวิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหา ก็มีแต่ลบ มีแต่เสียอย่างเดียว ก็เป็นนิสัยความคิดที่เราควรจะเห็นโทษ แล้วปล่อยวาง มันไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ทำตามอารมณ์ แต่เราต้องหาความพอดี หรือถ้าเรารู้สึกว่าหาความพอดียาก ให้กำหนดเวลา อย่างเช่น โอเค วันนี้เราก็จะคิดทบทวน แต่พรุ่งนี้เช้าแปดโมง ต้องตัดสิน อะไรแบบนี้ คือให้เวลาเต็มที่ แต่หลังจากนั้นตัด...จบ นี่ก็จะเป็นวิธีที่จะสร้างวินัยกับตัวเองแบบไม่ค่อยธรรมชาติทีเดียว แต่ว่าพอเราทำไปทำมาก็จะง่ายขึ้นๆ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 17 Oct 2023 - 76 - ธรรมละนิด : นั่งสมาธิแล้วหลับ
เวลานั่งสมาธิมักจะหลับเสมอ ไม่ทราบมีวิธีใดบ้างที่จะปรับปรุง หรือพัฒนาการภาวนาได้บ้าง? เหตุผลที่หลับระหว่างการนั่งสมาธิมีหลายข้อด้วยกัน มันแล้วแต่ หนึ่ง บางทีก็เพราะขาดการพักผ่อน ถ้านั่งก็หลับ ลืมตาลุกขึ้นก็ยังง่วงอยู่ ก็ไปพักผ่อนดีกว่า แต่ถ้านั่งก็หลับ ลุกขึ้น สดชื่นเบิกบาน ก็คงเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของนิวรณ์ เหตุผลข้อแรกก็คือ ความเข้าใจ ว่าการทำสมาธิคืออะไร เพื่ออะไร มันผิดพลาดเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างเช่น เข้าใจความสงบคือความผ่อนคลาย ก็เลยต้องการความผ่อนคลาย พอเราอยู่กับลมหายใจเรื่อยๆ ความฟุ้งซ่านลดน้อยลง เริ่มจะรู้สึกผ่อนคลายก็ไปเพลินอยู่กับความผ่อนคลาย ก็เลยกลายเป็นง่วง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าการภาวนาหรือการทำสมาธิ ก็เพื่อฝึกสติ ฝึกความตื่นรู้ ฝึกในการป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดครอบงำจิต ฝึกในการปล่อยวางกิเลส ฝึกในการปลูกฝังคุณธรรม ฝึกในการบำรุงพัฒนาคุณธรรม เป็นเรื่องการทำความเพียรแล้วก็จะเป็นการป้องกันอยู่ในระดับหนึ่ง ที่สองก็คือ ฉันทะ ความพอใจ คือถ้า...เออถึงเวลานั่งก็นั่ง แต่ว่าความพร้อม ความกระตือรือล้นไม่มี มันก็มีสิทธิจะง่วงได้ง่าย สอง นอกจากนั้นในยุคปัจจุบันนี่ จิตใจของเรามันจะยุ่งทั้งวันนะ จิตมันจะคุ้นเคยกับความยุ่งเหยิงต่างๆ พอจะภาวนาแล้วมันจะไม่คิดอะไร มันเหมือนกับสมองจะเข้าใจว่าได้เวลาหลับแล้ว เพราะปกติในชีวิตประจำวันก็จะมี ฟุ้งซ่านกับหลับ สองอย่าง ไม่ฟุ้งก็หลับ ไม่หลับก็ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นพอมันเริ่มฟุ้งซ่านน้อยลง สมองมันจะ...ได้เวลาหลับแล้ว วิธีจะป้องกันคือเปลี่ยนความคิด แล้วก็ก่อนจะนั่งให้สำรวจความรู้สึก มันมีความกระตือรือล้นไหม มันมีศรัทธาไหม ทีนี้เวลาถ้านั่งสมาธิก่อนนอนมันก็ยากที่จะมีฉันทะ ที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าในธรรม ส่วนมากมันกลายเป็นพิธีพอจิตสงบบ้างก่อนจะหลับ ก็ไม่ใช่ว่าไม่ควรทำ แต่ช่วงเช้านี่จะสำคัญกว่า จะได้ผลมากกว่า และถ้านั่งตอนเช้าแล้วคอยประเมินผลในชีวิตประจำวัน เออ...ถ้าทำตอนเช้าแล้วรู้สึก เออ...ใจก็เย็นลง ความอดทนความเมตตา ก็เอ้อ...ใช่ได้ผล มันก็เป็นกำลังใจ อีกข้อหนึ่งก็คือ นิสัยคนบางคนนี่คือ จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อมีปัญหาอะไรนะ เดินออกไปไม่อยากยุ่ง ถ้าผู้หญิงก็อยากพูด อยากคุย แต่ผู้ชายนี่แบบสร้างกำแพงเลย ไม่พูดดีกว่า คือมันเป็นการปิดสวิตซ์เวลาเกิดไม่สบายใจ เกิดทุกข์ใจ ก็ปิดสวิตซ์เสียดีกว่า คือ ดับ เวลานั่งสมาธิเกิดเบื่อ เกิดอะไรขึ้นมา ก็เลยปิดสวิตซ์นะบางที ให้เวลามันผ่านไป เพราะฉะนั้นกิเลสที่จะปรากฏในรูปแบบความง่วงเหงาหาวนอนมันก็มีหลายตัว มันแล้วแต่ นั่งตัวตรงๆ ลืมตา ไม่จำเป็นต้องหลับตา แต่ไม่เพ่งนะ วางสายตาให้นุ่มนวล ให้สบายๆ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Oct 2023 - 75 - ธรรมละนิด : การแผ่เมตตา
วิธีการแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร? เรื่องวิธีนี่มันไม่มีถูกต้อง ไม่ถูกต้อง คือมันแล้วแต่ แต่ละคนจะใช้เทคนิคไม่เหมือนกัน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น นี่จะให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเองก่อน แล้วก็ค่อยๆ ขยายไปสู่ผู้มีพระคุณ ออกมาสู่เพื่อนฝูง คนที่เป็นกลางๆ แล้วสุดท้ายศัตรู แล้วค่อยๆ คือหลักโดยรวมก็คือเริ่มจากง่าย ค่อยๆ หาสิ่งที่ยาก แต่ในต่างประเทศ พระที่ไปเผยแผ่ต่างประเทศก็เจออุปสรรค เพราะชาวตะวันตก โอ้ย แผ่เมตตากับตัวเองไม่เป็น ทำไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องเปลี่ยน ให้เริ่มต้นจากการแผ่เมตตา แบบลูกแมว ลูกหมา อะไรที่มันน่ารักๆ คือเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับเขา แล้วจากนั้นค่อยๆ ขยาย แต่ในพระไตรปิฎกเองพระพุทธองค์ก็ไม่เคยตรัสให้มันเป็นเทคนิคเป็นวิธี มันเป็นหลักการมากกว่า อย่างเราแผ่เมตตาพร้อมกับลมหายใจก็ได้ ถ้าลมหายใจเข้าก็เอาความรักความเมตตามาสู่กายมาสู่ใจเรา หายใจออกก็แผ่ออกทุกทิศทุกทาง หายใจเข้าก็เมตตาตัวเอง หายใจออกก็เมตตาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราจะคิดเป็นข้อๆ ไป อย่างเช่น เราทุกคนในห้องนี้ ทุกคนในบ้านนี้ ทุกคนในละแวกนี้ ทุกคนในกรุงเทพ ทุกคนในเมืองไทย ทุกคนในเอเซีย ขยายๆ ออกไป เพื่อให้จิตไม่เผลอไป แต่การใช้ข้อคิด หรือว่า ข้อนั้น ข้อนี้ ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น เหมือนจะเป็นการจุดประกาย พอจุดประกายคือความรู้สึกเมตตาได้แล้ว เอาความรู้สึกนั้นเป็นที่กำหนดของจิต ถ้าจิตเริ่มจะคิด จะหลง จะอะไรก็ใช้ความคิดช่วยให้จิตกลับมากับความรู้สึกอีกที ความรู้สึกที่ต้องการนี้จะนำไปสู่สมาธิ วิปัสสนาได้ในที่สุด คือความรู้สึกที่ว่าเมตตานั้นสามารถระงับนิวรณ์ให้จิตเข้าสู่สมาธิก็ได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 19 Sep 2023 - 74 - ธรรมละนิด : การทำให้พ่อแม่เสียใจ
การที่เราทำให้พ่อแม่เสียใจ บาปอย่างไร? บาปอยู่ที่เจตนา ถ้าเราทำสิ่งใด ‘เพื่อ’ ให้พ่อแม่เสียใจโดยเฉพาะ แกล้ง อันนี้ก็เป็นบาปกรรม แต่ถ้าเจตนาของเราบริสุทธิ์ เจตนาเราดี แต่ในบางเรื่องพ่อแม่ไม่เห็นด้วย เสียใจ มันก็ไม่ได้บาปกรรมของเรา อย่างเช่น สมมติว่าพ่อแม่ชอบเล่นการพนัน แล้วก็อยากให้เราไปด้วย ไปเล่นกาสิโนกับท่าน เราก็บอกว่าเราไม่ไป เรารักษาศีล ท่านก็ไม่พอใจ ท่านก็โกรธ อาตมาว่าไม่บาปนะ ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเราจะเอาอารมณ์ของพ่อแม่เป็นหลักไม่ได้ พ่อแม่มิจฉาทิฏฐิก็มี พ่อแม่ไม่เข้าใจในบางเรื่องก็มี ฉะนั้นเราเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องดีงาม ไม่คิดเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ถ้าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย เราก็เอาตามคุณพ่อคุณแม่ดีกว่า ถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมหรือว่าหลักความดี บางทีต้องยอมให้ท่านไม่พอใจเรา อย่างมีลูกศิษย์ของอาตมานี่มีพี่น้อง มีน้องๆ เยอะ ส่วนมากน้องๆ ก็เอาใจคุณพ่อคุณแม่ทุกเรื่อง ลูกศิษย์เป็นลูกคนโต ก็จะเป็นคนเดียวที่กล้าปฏิเสธ กล้าพูดในเมื่อพ่อแม่ทำอะไร โดยเฉพาะคุณแม่ทำอะไรที่มันไม่เหมาะสม คุณแม่ก็โกรธมาก โกรธลูกสาวคนโตมาก เป็นประจำ แต่บั้นปลายของชีวิตของคุณแม่ คนที่นับถือที่สุด กลับว่าเรียกลูกว่าเป็นแม่ คือลูกคนโต เพราะเป็นคนเดียวที่ซื่อสัตย์ แล้วก็ไม่เคยเอาใจ พูดแต่สิ่งที่ถูกต้อง ลูกคนอื่นพ่อแม่จะเอาอะไรก็เอาตามหมดเลย สุดท้ายนี่ผู้ที่คุณแม่เคารพที่สุด คือลูกที่ทำให้เสียใจบ่อยหรือว่าโกรธบ่อย พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 05 Sep 2023 - 73 - ธรรมละนิด : เปลี่ยนชื่อ
การเปลี่ยนชื่อมีผลต่อเราไหม? ลำบาก สร้างความลำบากมาก เรื่องการจะต้องเปลี่ยนบัตรประชาชน ต้องเปลี่ยนพาสปอร์ต ต้องแจ้งเพื่อน เพื่อนบางคนก็หาว่าเรางมงาย บางคนก็ไม่ยอม บางคนก็ลืม ทำให้เรายุ่ง นี่คือผล ผลในทางดีอาตมาไม่มั่นใจ ไม่มีข้อมูลพอที่จะสรุปได้ แต่ที่สันนิษฐานจะเป็นเรื่องของการอุปาทานมากกว่า เกิดหลังจากเปลี่ยนแล้วเจออะไรดีๆ อ้อ...นี่ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อก็คงไม่ได้อย่างนี้ ใช่ไหม หรือว่าเจออะไรไม่ดี โอ้ ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อคงแย่กว่านี้ มันก็ทำให้เกิดความคิดอย่างนี้ได้ แต่เรื่องความลี้ลับเรื่องการเปลี่ยนชื่อนี่ อาตมาไม่มีประสบการณ์ตรงเลยไม่กล้าวิจารณ์ แต่อาตมาว่าเปลี่ยนพฤติกรรมดีกว่า เปลี่ยนจิตใจตัวเองดีกว่าเปลี่ยนชื่อ ใช่ไหม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 15 Aug 2023 - 72 - ธรรมละนิด : เหตุผลที่บวช
การที่หลายคนบวชเพราะเหตุผลอะไร? มันก็มีหลากหลายมากเลย ก็มีจำนวนหนึ่งที่บวชให้พ่อให้แม่ตามประเพณี บางคนก็มีศรัทธาตั้งแต่เด็ก คิดตั้งแต่เด็กว่าวันใดวันหนึ่งอยากเป็นนักบวช บางคนศึกษาปฏิบัติธรรม เกิดความศรัทธา เกิดความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติ แล้วก็อยากถวายชีวิตไว้กับการประพฤติปฏิบัติธรรม บางคนอาจจะถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่งดงามแล้วก็สงบสบาย แต่คนที่บวชเพราะมีปัญหาที่บ้านหรือปัญหาทางโลก มักจะไม่ค่อยรอดเหมือนกัน ถ้าคนแบบแพ้ปัญหาทางโลก หนีไปอยู่วัด อยู่ไม่นานหรอก เพราะมันเจอปัญหา ปัญหาเดิม เพราะว่าปัญหามันเกิดจากตัวเขาเอง ไปที่ไหนมันก็จะมีปัญหา แล้วก็จะมีพวกที่อยากบวชตั้งแต่เด็ก แต่ว่ามีภาระหน้าที่ในการดูแลบุพการี หรือว่ามีครอบครัวต้องเลี้ยงลูกให้จบเสียก่อน หรือว่าเกษียณเสร็จแล้วอายุหกสิบ หกสิบก็อยากใช้บั้นปลายชีวิตในผ้าเหลือง มันเหมือนกับมีนัยยะ ที่บวชด้วยเจตนาไม่เป็นบุญเป็นกุศลอาจจะมีเหมือนกัน ซึ่งอาตมาก็เคยตักเตือนญาติโยมในเรื่องการถวายปัจจัย ถวายเงินกับพระ ก่อนอื่นนี่บิณฑบาตไม่สมควรที่จะเอาเงินใส่บาตรพระ ที่จริงตามหลักพระวินัยพระก็อาบัตินะ ถ้ารับเงินในบาตร แต่ข้อที่สองมันก็เป็นการยั่วกิเลสของพระ เรียกว่าทำให้มีพระปลอมเข้ามา ก็รู้ว่าเดินบิณฑบาตในกรุงเทพฯ ชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้หลายร้อยบาทแล้ว บางคนคิดว่า เออ...ดีกว่าทำงานเนาะ คือเขาก็บาปตกนรกอยู่แล้ว แต่ว่าผู้ที่ให้เงินก็มีส่วนสนับสนุน เพราะฉะนั้นในการถวายปัจจัยสงฆ์ เราต้องระบุว่าถวายเพื่ออะไร เพื่อสมณะบริโภค ถ้าเราระบุว่าถวายปัจจัยเพื่ออะไร จะเขียนเป็นตัวหนังสือหรือจะกล่าว ถ้าพระองค์นั้นไม่ดีเอาเงินไปใช้ในทางไม่เหมาะสม อย่างน้อยก็เป็นบาปของท่านคนเดียว เราก็ได้บุญเพราะว่าเราถวายปัจจัยถูกต้องตามหลักพระวินัย เพื่อบำรุงพระศาสนา ถ้าเรามีปัญหาในสถาบันสงฆ์ซึ่งก็มีอยู่บ้าง แต่มีปัญหาหลายข้อก็เกิดเพราะเงินและทอง ซึ่งญาติโยมก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง พระอาจารย์ชยสาโร
Wed, 02 Aug 2023 - 71 - ธรรมละนิด : การคบเพื่อน
อยากทราบเทคนิคหรือวิธีในการเลือกคบเพื่อน? การคบเพื่อนพื้นฐานที่สุดก็คือศีลธรรมนั่นเอง ศีล ๕ ข้อนั้นเป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัย ทำให้เราไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ ถ้าศีลธรรมไม่บริสุทธิ์หรือว่าคนไม่มีความจริงใจในการรักษาศีล สุดท้ายไว้ใจไม่ได้ มันเป็นเครื่องตัดสินให้ในระดับหนึ่ง ข้อที่สองต้องสังเกตว่าเวลาเราอยู่กับใคร กาย วาจา ใจของเรามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างเช่น บางคนนี่ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่ดี แต่ไม่รู้เวลาไปอยู่ มันจะพูดอะไรไม่ค่อยดีซึ่งปกติไม่ค่อยพูด แต่สองคนนี้เกิดคุยกันเมื่อไร ทำไมมันจะออกไปในทางที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศลเลย หรือว่าพฤติกรรมบางอย่างซึ่งปกติอยู่คนเดียวก็ไม่คิดจะทำ ก็กลายเป็นทำ อาจจะเป็นเพราะเกรงใจหรือเพราะเป็นอารมณ์ร่วม อะไรก็ได้ เป็น synergy ในทางไม่ดี อันนี้ก็เรียกว่า สำหรับเรา คนนี้ไม่ใช่กัลยาณมิตรของเรา แต่มันไม่ใช่การตัดสินเขา หรือว่าการอะไร ก็คืออาจจะเป็นคนดี อาจจะมีข้อดีหลายอย่าง รู้แต่ว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันไม่ดี แต่ว่าบางคนนี่เราอยู่กับเขา เรารู้สึกเหมือนเขาก็ดึงดูดความดีของเราออกมา รู้สึกว่าอยู่กับเขานี่ทำอะไรดี คิดดี อะไรที่ปกติถ้าอยู่คนเดียวอาจจะไม่ได้คิด รู้สึกว่าเพราะรู้จักคนนี้ คุ้นเคยกับคนนี้เราเป็นคนดีขึ้น เวลาเราอยู่กับเขาเรารู้สึกมองตัวเอง ชอบตัวเอง รู้สึกชื่นชมตัวเองได้ ภูมิใจตัวเองได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยเขาได้ เขาไว้วางใจเรา ก็มีทั้งรับทั้งให้ คือการที่เป็นเพื่อนกันต้องมีทั้งสองอย่าง บางคนนี่...ถ้าคนไม่ดีคิดว่ารับดีกว่าให้ ถ้าเป็นคนดีทั่วไปก็ว่าให้ดีกว่ารับ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์นี่ ต้องรับในเวลาโอกาสที่สมควรจะรับ และให้ ในโอกาสที่สมควรจะให้ แล้วสำนึกด้วยว่า ในโอกาสที่ให้ได้รับอะไรบ้าง และเวลารับแล้วให้อะไรบ้าง ฉะนั้นก็อยู่อย่างนี้ อยู่ด้วยกันอย่างนี้มีความสุขความเจริญ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 18 Jul 2023 - 70 - ธรรมละนิด : ไม่รู้ว่าทุกข์เรื่องอะไร
ถ้าเรารู้สึกทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าทุกข์เรื่องอะไร ต้องทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าเราทุกข์เรื่องอะไรอยู่? ต้องปลีกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย มาอยู่คนเดียวสักพักหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ก็ออก... ถ้าอยู่กรุงเทพก็ออกต่างจังหวัดสักสองสามวัน ไปเขาใหญ่ ยิ่งไปอยู่ในธรรมชาติที่ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรยั่วยุ นี่ดีที่สุด พอเราอยู่กับตัวเองนะ อะไรที่มันอยู่ใต้สำนึกมันก็ผุดขึ้นๆ “อ้อใช่ อันนี้มันไม่ถูกเลย โอ้...อันนี้มัน...” คือมันจะจัดสรรความคิดได้ดี แต่ถ้าอยู่สิ่งแวดล้อมดั้งเดิม มีสิ่งนั้นเข้ามา มันไม่มีเวลาไม่สามารถที่จะดูความคิด ที่จะชั่งน้ำหนักความคิด หรือว่าที่จะดูว่านี่มันคิดผิดนะ อันนี้คิดถูกนะ ถ้ามีโอกาสไปกราบครูบาอาจารย์ ไปที่วัด หรือว่าไปขอพักปฏิบัติธรรม หรือไปเล่าให้ท่านฟังท่านอาจจะช่วยเราได้ บางทีแค่เล่าให้คนอื่นฟังที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่เราเคารพนับถือหรือที่เราไว้ใจ ไม่ต้องถึงขั้นพระผู้ใหญ่ แค่เพื่อนด้วยกันที่เรามั่นใจว่าจะฟังด้วยจิตเป็นกลาง ก็สามารถจับความคิดผิดของตัวเองได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกเช้าทุกเย็นก็เป็นเวลาให้กับการเจริญสตินั่งสมาธิ ไม่ต้องไปไหนหรอก เราก็รู้ของเราเอง เพราะว่าเราดูกายดูใจอยู่ทุกวันจนชำนาญ เกิดความผิดปกติเกิดอะไรเราก็รู้ทัน อันนี้ก็เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่าทำไมจะต้องทำสมาธิทุกวัน จะได้รู้เท่าทันความคิดตัวเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Jul 2023 - 69 - ธรรมละนิด : ขโมยเงินคนรวยมาช่วยคนจน
ถ้าขโมยเงินจากคนรวยที่รวยมาจากการโกงคนอื่นมาแจกคนจนจะบาปไหม? คือบาป ‘บาปก็คือเจตนา’ เจตนาที่จะถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ว่าเป็นใคร เพราะในขณะที่เราขโมยไป เจตนาที่จะเอาของเขาก็ปรากฏอยู่ในใจ นี่ตัวนี้ตัวบาป ส่วนเหตุผลต่างๆ ว่าไม่น่าเป็นอะไร เขารวยไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็เงินของเขานี่มันเป็นเงินที่ไม่สะอาดอยู่แล้ว เราไปแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีจะดีกว่า เป็นโรบินฮู้ดนี่มันน่าจะดี อันนี้เป็นเหตุผลประกอบ ซึ่งการที่ตั้งใจเอาของคนทุจริตไปให้คนยากจนก็คงมีความเมตตาอยู่บ้าง แล้วก็ไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่านั่นก็จะทำให้แค่บาปกรรมน้อยลง แต่ตัวบาปก็ต้องมี แล้วสุดท้ายนี่เขาเอง เขาก็มีเหตุผลว่าที่คอรัปชัน ไม่ได้เอาเพื่อตัวเอง เอาเพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่อลูกน้อง ตัวเองก็ยังไม่ค่อยได้...แต่ละคนก็มีเหตุผลของเขา แต่สุดท้ายนี่เราขโมยเราก็กลายเป็นคนพรรค์เดียวกับเขา แล้วก็ทำให้คุณธรรมในจิตใจของเราได้ตกต่ำ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเอง โดยเฉพาะในการประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เมื่อเรายอมอนุโลมในเรื่องศีลแต่ละข้อ ทั้งๆ ที่เราอาจจะเชื่อว่ามีเหตุมีผล มันก็เป็นก้าวแรก แต่ถ้าก้าวแรกนี่มันอาจจะยาก แต่ว่าก้าวที่สองง่ายขึ้น ก้าวที่สาม...แล้วก็เหตุผลที่เราจะใช้เพื่อปลอบใจตัวเองว่าความผิดเป็นความถูกก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ในที่สุดแล้วเข็มทิศของเราก็หายไป ไม่ดี ไม่เอาดีกว่า ไปขอเขาทำบุญดีกว่า พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Jun 2023 - 68 - ธรรมละนิด : ทุกข์จากความคิดของคนอื่น
ต้องทำอย่างไรให้เราสามารถวางใจให้ไม่ทุกข์ไปกับการถูกผู้อื่นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเราได้? ก็เรื่องของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่เขาจะคิดอะไรของเขา ที่จะให้คนเข้าใจเราในทุกๆ ประการก็จะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็คิดตามที่เขาเห็น ตามที่เขาสัมผัส ที่เขาเชื่อ เป็นเรื่องของเขา บางทีเขาก็เห็นว่าดีกว่าที่เป็นจริงก็มี ไม่ใช่ว่ามันจะเลวกว่าเสมอไป คือเราอยู่ในโลกที่คนมองเราไม่เหมือนที่เรามองตัวเอง ก็เป็นการขัดเกลา ‘มานะ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน’ แต่คนจะมองเราในแง่ร้ายก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราเลวลง คนจะมองเราในแง่ดีก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้น ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราต้องการจะจัดแจง จะควบคุม จะบังคับให้ทุกคนเคารพนับถือ ทุกคนรัก ทุกคนชอบนะ ทุกข์ไม่มีวันจบสิ้น บางคนก็ชอบเราแบบไม่มีเหตุผล บางคนก็รังเกียจเราไม่มีเหตุผล บางทีคนเขาไม่ชอบเรา เอ้...ทำไมเราก็ไม่เคยทำอะไรให้เขาเสียหาย ไม่เคยนินทา ไม่เคยอะไร ปรากฏว่าหน้าตาเราเหมือนกับคนที่เขาไม่ชอบ มองเห็นหน้าเราก็จะคิดถึงอีกคนหนึ่ง ก็เป็นแค่นั้น อย่าไปคิดมาก แล้วบางทีถ้าคนเข้าใจเราผิดในเรื่องที่เราบอกได้ แก้ความเข้าใจผิดได้ เราก็แก้ไป แต่ในบางเรื่อง เขาก็คง ...บางคนก็อย่างไรๆ ก็ยืนยันในความคิดของตัวเอง ก็เป็นโลกธรรม เราอยู่ในโลก เอ้อ เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดา พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Jun 2023 - 67 - ธรรมละนิด : ทุกข์จากการเสียคนที่รัก
ถ้าวันหนึ่งเราสูญเสียคนหรือสิ่งของที่เรารักไป เราจะมีวิธีจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียอย่างไร? เราไม่ควรจะรอถึงการพลัดพราก ควรจะซ้อมจิตตั้งแต่อยู่ด้วยกัน พระพุทธองค์ให้เราสวด ให้เราระลึกอยู่ทุกวัน “เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความตายไปไม่ได้ มีความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง” ต้องคิดบ่อยๆ คิดทุกวันๆ ไม่ใช่นานๆ คิด พอเราคิด เราพิจารณา เราสวดทุกวัน มันจะซึมซับเข้ามาในใจเรา จนกระทั่งความพลัดพราก นี่มันจะไม่ใช่ว่าจะไม่มีความรู้สึก มันต้องมีแน่นอน ถ้าเรารักใคร เราผูกพันกับใคร แล้วพลัดพรากต้องรู้สึก แต่พระพุทธองค์ก็เคยเปรียบเทียบเหมือนกับโดนลูกศรกับโดนลูกศรที่อาบน้ำพิษ ถ้าเราพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมดาของความเกิดแก่เจ็บตาย ความพลัดพราก ก็เจ็บเหมือนกับโดนลูกศร แต่ไม่มียาพิษ ทีนี้วิธีรักษาแผลก็คือรักษาความสะอาดของแผลนั่นเอง การรักษาความสะอาดก็คือ การงดเว้นจาก หนึ่ง การหลงใหลอยู่กับความคิดว่าไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย เขาไม่น่าพลัดพรากเราเร็วขนาดนี้ หรือว่า คิดที่ความดีหรือบางสิ่งบางอย่างที่ว่าจะทำในอดีต ก็เลยสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ หรือว่าเคยล่วงละเมิด หรือเคยอะไรบ้างเล็กน้อยไม่เคยมีโอกาส อย่าไปคิดวกวนอยู่อย่างนั้น จิตก็จะทุกข์อยู่ร่ำไปเหมือนกับปล่อยให้แผลติดเชื้อ อีกวิธีหนึ่งที่คนชอบหลงก็คือ พยายามบังคับไม่ให้คิด ทำนั่นทำนี่ วิ่งไปวิ่งมา เพื่อจะไม่ให้คิด แต่ที่จริงนะ มันก็ยังเป็นการเติมเชื้อของมันอยู่ดี วิธีที่ถูกต้องที่ได้ผลคือการรับรู้รับทราบต่อความรู้สึกของตัวเอง ว่านี่คือแผล นี่คือความเศร้า ก็รู้ แล้วเมื่อจิตคิด เริ่มจะคิด เราก็รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้จิตตามมัน แต่อย่าให้ต่อต้านมัน อย่าให้ไปบังคับ รับรู้รับทราบ และความรู้สึกมันจะค่อยๆ จางไปตามธรรมชาติ เหมือนแผลที่มันจะค่อยๆ หายไป มันไม่ใช่ปุบปับ มันแล้วแต่ ถ้าเป็นคนใกล้ชิดมากอาจจะอย่างน้อยหนึ่งปี ส่วนมากคงถึงหนึ่งปี เสียคุณพ่อคุณแม่นี่ เป็นต้น นี่ไม่ใช่ว่าจะเร็ว ก็เรียกว่าธรรมชาติ อาตมาอยากเปรียบเทียบเหมือนภาษี มันก็ต้องเสียภาษีความรัก ส่วนมากเราก็นี่เออ...มันคุ้ม ยอม ยอม...มันคุ้มค่าอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 16 May 2023 - 66 - ธรรมละนิด : พระโสดาบัน
หากเราต้องการบรรลุถึงขั้นพระโสดาบันเราต้องทำอย่างไร? ก็เริ่มที่ ทาน ศีล ภาวนา นั่นเอง ต้องฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจให้ถึงพร้อม การจะบรรลุธรรมสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ศีล ๕ เป็นหลัก เพราะถ้าเรายังรักษาศีลไม่ได้ แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักคำสอน ยังไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ อยากรู้ว่าใครเป็นนักปราชญ์ในพุทธศาสนา ใครเข้าถึงหลักพุทธศาสนา ไม่ต้องสอบพระบาลีอะไรหรอก ดูพฤติกรรม คนไหนที่รักษาศีล ๕ ไม่ได้นี่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการฝึกพฤติกรรมกาย วาจา ในขั้นละเอียดต่อไป จิตใจก็ต้องประกอบด้วยศรัทธา ศีล จาคะ คือการเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และปัญญา ปัญญานั้นจะเกิดโดยมีสติและสมาธิเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเราสรุปง่ายสุดก็คืออริยมรรคมีองค์แปดนั่นแหละ คนบรรลุเป็นพระโสดาบันก็ด้วยอริยมรรคมีองค์แปด สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ แนวทางเดียวกันเพียงแต่ว่าจะลึกเข้าไป ลึกเข้าไป เท่านั้นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 May 2023 - 65 - ธรรมละนิด : พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน
ลูกแต่ละคนคิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน รักลูกอีกคนหนึ่งมากกว่า ท่านอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง? ต้องถามตัวเองว่า “คิดอย่างนี้เกิดประโยชน์ตรงไหนไหม” “ทำให้ตัวเองมีความสุขไหม” “ทำให้ครอบครัวมีความสุขไหม” หรือทำให้รู้สึกเศร้าหมองกันหรืออิจฉากัน หรือไม่พอใจกัน น้อยใจกันมากกว่า ถ้าอย่างนั้น ‘ไม่ต้องคิด’ การที่ทุกคนในครอบครัวหรือว่าลูกทุกคนมักจะคิดอย่างนี้ แสดงว่า ...สมมติว่าลูกสามคน แสดงว่าสองคนก็ต้องคิดผิดใช่ไหม ถ้ารักคนพี่มากที่สุด ก็น้องๆ ก็อาจจะคิดถูกมั่ง คิดผิดมั่ง อยากจะพูดว่าอย่าไปเชื่อความคิดของตัวเอง หนึ่ง พ่อแม่ก็เสียใจถ้าเราคิดอย่างนี้ แล้วก็อยากจะให้เราคิดในสิ่งที่เราได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ ให้ซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน มากกว่าที่จะไปเปรียบเทียบตัวเองกับพี่หรือน้อง การเป็นพี่นี่ก็มีข้อดีข้อเสีย เป็นน้องก็มีข้อดีข้อเสีย แต่ว่าเราเวลาคิดเข้าข้างตัวเอง มันก็จะมองตัวเองไม่ตรงตามความเป็นจริง ฉะนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อความคิดของตัวเอง ถึงแม้ว่าเราอาจจะมั่นใจก็อย่าไปสำคัญมั่นหมายในเรื่องนั้น ให้เราระลึกอยู่ในความรักที่เราได้รับมาโดยไม่ต้องเปรียบเทียบดีกว่า พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 18 Apr 2023 - 64 - ธรรมละนิด : ความสุขจำเป็นหรือไม่
ความสุขเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์หรือไม่ หรือมนุษย์สมควรอยู่ในสภาวะที่ไม่สุขและไม่ทุกข์มากกว่า? ความสุขเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ความสุขเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราไม่มีทางเลือกอย่างนั้น แต่ความสุขมีหลายประเภท ความสุขที่นำไปสู่ความทุกข์ มีโทษตามมาก็มี ความสุขที่ไม่มีพิษมีภัยก็มี ความสุขสูงสุดก็คือพระนิพพานซึ่งเป็นความสุขที่เหนือความสุขธรรมดา จนกระทั่งยากที่จะเข้าใจว่าทำไมจึงเรียกว่าความสุขได้ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความวางใจเป็นอุเบกขาในหลายเรื่องก็เป็นเงื่อนไขของการเรียนรู้และจัดการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ในชีวิตจริงนั้นถ้าไม่ใช่พระอริยเจ้า ถ้าคนทั่วไป ไม่มีแหล่งความสุข จิตจะหดหู่ จะไม่มีกำลังใจ และพระพุทธองค์ยังตรัสไว้ว่า “จิตที่มีคุณสมบัติพอที่จะกำหนดรู้ทุกข์ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องมีความสุขเสียก่อน จิตต้องมีสุขมันจึงจะรู้ทุกข์ได้” ในกระบวนการเจริญสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ก็แยกเป็นกระบวนการ พอจิตรวมเป็น ปล่อยวางนิวรณ์กิเลส จิตจะเกิดความปราโมทย์ ความปราโมทย์เข้มข้นก็เป็นปิติ ปิตินำไปสู่สุข สุขนำไปสู่สมาธิ เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาของจิตนี่จะผ่าน ‘ปิติ สุข สมาธิ’ ถ้าขาดสุข ถ้าขาด ไม่ได้ ฉะนั้นความสุขก็มีบทบาทมีความสำคัญในชีวิตเรามาก แต่การที่เราสามารถวางสุขวางทุกข์ได้ ในกรณีที่เราจะพิจารณาความจริงหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Apr 2023 - 63 - ธรรมละนิด : นิพพานคืออะไร
นิพพานคืออะไร ความรู้สึกของการบรรลุถึงเป็นอย่างไร นิพพานอยู่ที่ไหน เราจะเห็นอะไรในขณะนั้น? ในทางพุทธธรรม พระพุทธองค์ก็ไม่ค่อยจะกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ท่านจะเน้นในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระนิพพาน ก็เปรียบเทียบกับขนมปัง เป็นต้น รสชาติของขนมปังเป็นอย่างไร แค่นี้ เรื่องธรรมดาๆ ถ้าคนไม่เคยกินไม่รู้จะอธิบายอย่างไร นับประสาอะไรกับพระนิพพาน แต่เราสามารถบอกได้ว่า ผู้อยากจะรู้เองว่าขนมปังมีรสชาติอย่างไร ต้องหาส่วนประกอบอย่างนี้ คือต้องมีแป้ง ต้องมีน้ำ ต้องมีเชื้อ แล้วก็จะต้องเตรียมอย่างนี้ ต้องให้เข้าเตาอบกี่นาที อุณหภูมิเท่าไร เสร็จแล้ว เอ้า...ลองทานเอง อริยมรรคมีองค์แปด ก็เปรียบเทียบเหมือนการหาส่วนประกอบ และการทำเหตุปัจจัยให้เกิดขนมปังสมบูรณ์ เรื่องจะเป็นอย่างไร เราก็ถ่ายทอดไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังถ่ายทอดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสังเกตได้จากผู้ที่บรรลุนิพพานแล้ว ก็หนึ่ง ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง คือไม่มีกิเลส ไม่มีสิ่งเศร้าหมองในจิตใจเลย คือมันดับโดยสิ้นเชิง แต่ทางบวกก็คือพูดได้ว่า พระพุทธองค์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพระมหาปัญญาธิคุณ มหากรุณาธิคุณ มหาบริสุทธิคุณ เพราะฉะนั้นผู้ที่ถึงพระนิพพานแล้ว เป็นผู้ที่ไม่มีสิ่งเศร้าหมองอยู่ในใจ ไม่มีทุกข์อยู่ในใจ แล้วจิตถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความเมตตากรุณา และด้วยความบริสุทธิ์หรือความเป็นอิสระภายใน เราก็พูดได้แค่นี้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 21 Mar 2023 - 62 - ธรรมละนิด : บ่วงกรรมของครอบครัว
มีคำแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการปลดทุกข์ที่เกิดจากบ่วงกรรมของครอบครัว? เรื่องกรรม ผลกรรม ผลกรรมของใครที่เราก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นเรื่องของกรรมเก่ามากน้อยแค่ไหน และก็เป็นเรื่องการกระทำในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผลกรรมจริงๆ แล้ว ก็ถือว่าเราต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้เป็นทุกข์กับกรรมเก่า หรือไม่สร้างกรรมใหม่ที่จะทำให้ผลกรรมเก่ากำเริบ พยายามไม่เป็นทุกข์ ไม่สร้างทุกข์ หรือเป็นทุกข์ให้น้อยที่สุด ฉะนั้นผลกรรมเก่าที่เรียกว่า ‘วิบากกรรม’ ก็เป็นความลำบากลำบน พอมันมีปัญหามันก็ชวนให้น้อยใจ เสียใจ โกรธ แค้น ทะเลาะวิวาท สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ว่าเป็นผลกรรม มันก็เป็นปฏิกิริยาต่อกรรมเก่าด้วยจิตที่ขาดธรรมะเป็นที่พึ่ง เพราะว่าผู้ที่ตั้งสติ เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้ฝึกตน จะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทาย “โอ้ ถ้าเป็นอย่างนี้ชวนให้หดหู่เนาะ มันชวนให้เศร้าเนาะ มันชวนให้น้อยใจเนาะ” แต่เราจะหดหู่หรือเราจะน้อยใจนี่มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่อยู่ที่ใจเรา ซึ่งเราฝึกดูแลจิตใจตัวเองก็ไม่ต้องเป็นทุกข์กับมันได้ มันลำบากแต่จิตใจก็ยังมีความสุขได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นทุกข์กับมัน หรือถ้าเป็นทุกข์ก็ทุกข์น้อย สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ‘ปัญหากับตัวทุกข์ ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน’ มันก็เป็นเรื่องที่เรายังปฏิบัติต่อปัญหายังไม่ค่อยเป็น เพราะเราขาดการฝึกจิตพอที่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหา พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Mar 2023 - 61 - ธรรมละนิด : นั่งสมาธิให้ถูกต้อง
นั่งสมาธิให้ถูกต้องควรทำอย่างไรนั่งนานและบ่อยแค่ไหน? การนั่งที่ถูกต้อง เริ่มต้นต้องสัมมาทิฏฐิ ‘สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ’ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ‘เราไม่ได้นั่งเพื่อจะเอาอะไร เพื่อจะได้อะไร เพื่อจะเป็นอะไร’ นั่งเพื่อปล่อยวางเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องการจะนั่งก็ควรจะหาที่ที่สงบเท่าที่จะสงบได้ ถ้าอยู่ในบ้านมุมใดมุมหนึ่งที่เงียบหน่อย แล้วก็ใช้มุมนั้นหรือถ้ามีบุญเป็นห้องพระก็ยิ่งดี แต่ถ้าไม่มีก็มุมใดมุมหนึ่งที่ใช้เพื่อการนั่งสมาธิหรือการทำวัตรสวดมนต์โดยเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องอื่น แล้วพอมานั่งตรงนั้นมันจะเป็นจิตวิทยาจะรู้สึกว่า เออ...นี่ก็คือที่นั่งของเรา ก่อนจะนั่ง ถ้าทำวัตรสวดมนต์ เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ จากอารมณ์เมื่อกี้นี้ อารมณ์ทางโลก ถ้านั่งหลับตาทันทีมันก็ยังมีความคิดที่ยังค้างอยู่ในสมอง ก็เปลี่ยน กราบไหว้พระศรีรัตนตรัยก่อน นั่งการนั่งนี้ เรื่องจะวางแขนวางขานี่ไม่สำคัญมาก จะนั่งเก้าอี้ก็ได้ แต่ต้องรู้สึกเป็นตัวของตัว ไม่พิงสิ่งใด สำคัญที่กระดูกสันหลังให้ตรง ตรงแต่ไม่เกร็ง รู้สึกมันมีอะไรมาดึงศีรษะขึ้นไปถึงเพดาน นั่งตัวตรง ถ้าง่วงไม่ต้องหลับตาก็ได้ ถ้าไม่ง่วงหลับตาจะดีกว่า การนั่งสมาธิคือการเจริญสตินั่นเอง ซึ่งต้องมีเครื่องระลึกของสติ เช่น ลมหายใจ และสิ่งท้าทายก็คือทำอย่างไรเราจึงจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจิต คือ ‘ตัวรู้’ กับ ‘สิ่งรู้’ หรือเครื่องระลึกของสติ เช่น ลมหายใจ ในลักษณะที่พอใจกับลมหายใจ ไม่อยากไปคิดเรื่องอื่น พอใจ มีความสุขกับงาน ในเบื้องต้นต้องป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามาแทรกแซง แล้วเมื่อจิตเผลอไปซึ่งต้องมีแน่นอน ก็ต้องมีการฝึก การศึกษา ในการปล่อยวางกิเลสที่เข้ามาครอบงำ ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งที่สติ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว และอาตาปี ความเพียรที่มีความพอดีระหว่างความตั้งใจและความผ่อนคลาย ความพอดีจะรู้ได้ว่ามันเป็นความเพียรที่พอดีกับการปล่อยวางกิเลส เรายังจะต้องใช้ความอดทน ความสันโดษ ความเมตตา คุณธรรมข้ออื่นๆ และเมื่อจิตเริ่มสงบแล้ว เราก็ต้องพยายามรักษาคุณธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในจิต เช่น สติ เป็นต้น ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป สรุปแล้วว่า ในเบื้องต้นเราก็ถือว่า ‘การนั่งสมาธิคือการเจริญสติ โดยมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องระลึกของสติ’ สิ่งที่สำคัญในเบื้องต้นคือการฝึกป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิต สอง ถ้ากิเลสครอบงำจิตจนได้ ต้องฝึกในการปล่อยวาง สาม ต้องปลูกฝังคุณงามความดีที่จะนำไปสู่ความสงบและปัญญา และสี่ เมื่อคุณธรรมต่างๆ เริ่มปรากฏ เราต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อจะรักษามันไว้และทำให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือการทำสมาธิในเบื้องต้น ไม่ต้องหักโหมมาก เริ่มต้น ห้านาที สิบนาที ค่อยๆ เพิ่ม ถ้าบังคับมากจะไม่มีความสุข ถ้าไม่บังคับเสียเลยนี่ก็คงไม่เจริญ คงต้องหาความพอดี พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 21 Feb 2023 - 60 - ธรรมละนิด : จิตฟุ้งซ่าน จิตปรุงแต่ง
ทำอย่างไรจิตใจถึงจะฟุ้งซ่านหรือคิดปรุงแต่งน้อยลง? ความคิดฟุ้งซ่านและความคิดปรุงแต่งก็ไม่เหมือนกันทีเดียว ความฟุ้งซ่านนี่มักจะมีเหตุปัจจัยจากความไม่สำรวม โดยเฉพาะในปัจจุบันการดูการฟังในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น มากเกินไป เหมือนกับเอาขยะเข้ามาใส่ในสมองเยอะ มันจึงชวนให้คิดโน่นคิดนี่ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านน้อยลงก็ควรจะทบทวนว่า ทุกวันนี้เราได้ดู เราได้ฟัง เรื่องอะไรบ้าง เราได้พูดคุยเรื่องอะไรบ้าง สิ่งที่ไร้สาระเราก็ลดน้อยลงได้ไหม ส่วนระหว่างการภาวนา ถ้าจิตฟุ้งซ่าน อย่าไปต่อต้าน อย่าไปบังคับมันมากเกินไป ให้ ‘รู้ รู้’ อยู่ที่มันฟุ้ง ‘รู้ รู้ รู้’ ที่มันฟุ้งแล้วความฟุ้งซ่านมันก็จะค่อยหายไปเอง ส่วนความปรุงแต่งนั้นมันก็มักจะเกิดจากสิ่งมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ชวนให้คิด ถ้าตั้งสติไม่ทัน จิตก็จะตกร่อง ทีนี้พอตกร่องแล้ว มันดึงออกมายาก ฉะนั้นถ้าเราตั้งสติ พอรู้เท่ารู้ทัน สิ่งมากระทบ แล้วตัด ตัดมันอยู่ตรงนั้น ตั้งแต่มันยังไม่ตกร่อง อันนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในการปรุงแต่งต่างๆ ถ้าเราสังเกตแพทเทิร์นเราชอบคิดปรุงแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะหรือบ่อยๆ ให้เอาเป็นหลักพิจารณาว่า เราคิดผิดอยู่ในเรื่องนี้ ตรงไหน อย่างไร เพราะครูบาอาจารย์ของเราสอนว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด” เพราะฉะนั้นการคิดปรุงแต่งโดยเฉพาะในส่วนที่ทำให้จิตหม่นหมอง มันจะเกิดจากความคิดผิดบางอย่าง พยายามจับตรงนี้ แล้วก็จะช่วยให้ลดความคิดปรุงแต่ง อย่างยกตัวอย่าง สมมติว่ามองตัวเองในแง่ร้าย มองตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่เก่ง สู้เขาไม่ได้ พอเจออุปสรรคเกิดความผิดพลาด จิตก็ตกร่อง “เห็นไหมเราก็เป็นอย่างนี้อยู่ทุกครั้งเลย เมื่อคราวที่แล้วก็เป็นอย่างนี้” แล้วก็คิด ...คิดๆๆ ไป ความคิดทั้งหลายนี้ก็เกิดจากความเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งหรือตั้งอคติในตัวเราเอง ถ้าเราไม่แก้ตรงนั้น นี่ความปรุงแต่งก็คงไม่หาย เพราะฉะนั้นในปฐมพยาบาลก็คือ ตั้งสติไม่ให้ตกร่อง แต่ถ้าตกร่องบ่อยๆ แล้วเรื่องดั้งเดิมนี่ พยายามคิดพิจารณาตรงนี้ว่า มีตัณหา มีความคิดผิดตรงไหน แล้วก็ไปแก้ด้วยปัญญาด้วย พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Feb 2023 - 59 - ธรรมละนิด : ไม่แก้บนจะเกิดอะไรขึ้น
การที่เราบนบานไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่ไปแก้บนจะเกิดอะไรขึ้น? คงแล้วแต่ ว่าบนบานกับใคร เรื่องอะไร ซึ่งอาตมาไม่สามารถจะพยากรณ์ได้ แต่ที่เสียแน่นอนคือ ‘เสียสัจจะ’ แล้วสัจจบารมีเป็นส่วนประกอบของชีวิตดีงามที่เราควรจะรักษาไว้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบนบาน ก่อนที่จะสัญญาไว้กับใคร ไม่ว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ให้คิดดีๆ ก่อน อย่าไปสัญญาในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ แต่ถ้าบนบานไปแล้ว สัญญาไว้แล้ว ไม่ต้องเอาบนบานกับเทวดา เอาว่าสัญญาไว้กับคนรอบข้างดีกว่า สัญญาอะไรไว้ก็ควรจะทำตาม ถ้าไม่ทำตามคนก็เสียความเชื่อมั่นในตัวเรา เสียการนับถือในตัวเรา ตัวเองก็จะมองตัวเองในแง่ร้ายก็ได้ ฉะนั้นพยายามรักษาไว้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 31 Jan 2023 - 58 - ธรรมละนิด : สิทธิของเด็กกับผู้ใหญ่
เมื่อลูกเถียงว่า ผู้ใหญ่กับเด็กควรมีสิทธิในเรื่องต่างๆ เท่าเทียมกัน ขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ เราควรพูดคุยกับลูกอย่างไร? ก็ตามกฎหมาย หนึ่ง คุณพ่อ คุณแม่ ยังเป็นผู้ปกครองอยู่ เราไม่ได้อยู่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ที่สองก็คือ สิทธิอะไรบ้าง แล้วใครเป็นผู้กำหนด แล้วทำไมจะต้องมีสิทธิเสมอกัน ด้วยเหตุผลอะไร แต่ว่า อ๋อ ต้องยุติธรรม แล้วความยุติธรรมคืออะไร ความยุติธรรมเพื่อใคร คือทุกวันนี้คนจะใช้คำว่า ‘สิทธิเสมอกัน’ โดยไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ได้คิดว่ามันหมายถึงอะไรบ้าง อย่างถ้าพูดถึง ‘ความยุติธรรม’ ถ้าเราอยู่ด้วยกันสมมติว่าสี่คน แล้วก็หนึ่งคนหรือสองคนเป็นผู้ทำงาน เป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เขาควรจะมีสิทธิบางอย่างมากกว่าคนที่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรหรือเปล่า ใช่ไหม ถ้ายอมรับว่าคนที่ทำงานมากกว่าควรจะมีสิทธิมากกว่า ถ้าอย่างนั้นลูกก็น่าจะยอมรับว่า ที่อยู่อย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง เสื้อผ้า อาหาร การกินการอยู่ โทรศัพท์ ทุกสิ่งทุกอย่าง คุณพ่อคุณแม่เป็นคนออกค่าใช้จ่ายไม่ใช่หรือ แล้วทำไมท่านจะไม่มีสิทธิบางอย่างที่ผู้ที่เป็นฝ่ายรับอย่างเดียวไม่มี ความยุติธรรมของคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ความยุติธรรมของอีกคนหนึ่ง ของกลุ่มหนึ่งก็ไม่ใช่ยุติธรรมของอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นเรื่องวิเคราะห์ยาก อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียก็มีนโยบายมานานแล้วที่จะช่วยยกฐานะของคนที่ถูกกดขี่ พวกจันฑาล พวกดาลิต (Dalit) ซึ่งจะมีโควต้าในมหาวิทยาลัยสำหรับคนในกลุ่มนี้ ซึ่งข้อสอบนี่ไม่ต้องดีเท่าคนอื่นก็ได้ อย่างไรก็ต้องมีจำนวนนี้ จำนวนนี้ ซึ่งการแข่งขันที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในอินเดียนี่สูงมาก เด็กบางคนขยันหมั่นเพียรมาก เรียนพิเศษทุกวันๆ สอบได้ดีมาก แต่ไม่เข้า เพราะเสียที่ มีโควต้าของคนกลุ่มชาวเขา อะไรเป็นต้น เขาก็จะประท้วงเลยว่าไม่ยุติธรรมกับเขา แต่ว่าสำหรับพวกจัณฑาล พวกชาวเขานี่ถ้าไม่มีอย่างนี้ สังคมก็ไม่ยุติธรรมกับเขา ฉะนั้นจะเอาความยุติธรรมของกลุ่มไหน มันไม่ใช่ว่าความยุติธรรมของสังคมมันสอดคล้องกันหมด คำว่า ‘สิทธิ’ ก็เหมือนกัน คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นสิ่งสมมติ ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ว่าสิทธิมีมากมายก่ายกอง แล้วเราก็จะจัดลำดับของสิทธิว่า สิทธิไหนควรจะมาก่อน สิทธิไหนมาทีหลัง แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ในเรื่องที่อยากจะพูดก็คือคำว่า ‘สิทธิ’ คำว่า ‘ยุติธรรม’ อะไรพวกนี้ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก มันไม่ง่ายๆ เหมือนที่คิด แล้วอยากจะทราบว่าด้วยเหตุผลอะไร ลูกควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกับพ่อแม่ คือส่วนมากจะ “อ้าว ทุกคนก็ต้องเสมอกัน” ทำไม? เพราะอะไร? ทีนี้ก็ตอบไม่ได้แล้ว พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 17 Jan 2023 - 57 - ธรรมละนิด : หลักธรรมดำรงชีวิต
เราควรมีธรรมะข้อใดเป็นหลักในการดำรงชีวิตบ้าง? คำสั่งสอนของพระพุทธองค์เราเรียกว่าเป็น ‘ระบบองค์รวม’ หมายถึงว่าเราต้องมีการฝึกต้องพัฒนาคุณธรรมหลายๆ ข้อพร้อมกัน ก็ไม่ใช่ว่าจะมีข้อใดข้อหนึ่งที่จะเอาเป็นหลัก ต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมด้วย อารมณ์ด้วย ความคิดมุมมองด้วย ต้องปฏิบัติพร้อมกันในทุกๆ ด้านของชีวิต ถ้าจะสรุปสั้นๆ หรือสั้นที่สุดก็มี ‘ทาน ศีล ภาวนา’ เบื้องต้นให้เรารู้จัก ‘ให้’ รู้จักแบ่งปัน สร้างประโยชน์กับผู้อื่น สร้างประโยชน์กับส่วนรวม เป็นแหล่งความสุขที่ทุกคนควรจะได้ในชีวิต และก็เป็นส่วนในการสร้างครอบครัว ชุมชน สังคมที่อบอุ่นน่าอยู่ ส่วน ‘ศีล’ ก็เป็นการป้องกันอันตรายจากการประกอบบาปกรรมทางกาย ทางวาจา เป็นการเสริมสร้างความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความรู้สึกปลอดภัยในชุมชน ทำให้คนอยู่ด้วยกันด้วยความสมานสามัคคีกันได้ ‘ภาวนา’ ข้อที่สามก็คือ การตั้งอกตั้งใจคอยขัดเกลาสิ่งเศร้าหมองในจิตใจและการพัฒนาสิ่งดีงาม ‘ทาน ศีล ภาวนา’ นี่ก็คือหลักการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 10 Jan 2023 - 56 - ธรรมละนิด : เทคโนโลยีสร้างสุข
ท่านอาจารย์เปรียบเทียบคำสอนพระพุทธเจ้ากับเทคโนโลยี หมายถึงอย่างไรขอความเมตตาขยายความ? คำสอนของพระพุทธองค์นั้นสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือคำสอนซึ่งเป็นการเปิดเผยแสดงความจริงของธรรมชาติ โดยเฉพาะธรรมชาติของมนุษย์เราเอง กลุ่มที่สองก็คือคำสอนที่ตอบปัญหาว่า ในเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้เราควรจะรับมือกับมันอย่างไร ควรจัดการ ควรปฏิบัติต่อมันอย่างไร ยกตัวอย่างคำสอนกลุ่มแรก คือ ในปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ตรัสก่อนปรินิพพาน พระองค์ตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา” อันนี้ก็คือการยกข้อสังเกตหรือว่าเปิดเผยความจริงของธรรมชาติ แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไว้ว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอทั้งหลายควรถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” หมายถึงว่า ผู้มีปัญญาเมื่อตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดาก็ควรจะอยู่อย่างไม่ประมาท คำสอนกลุ่มแรกเราเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้ แต่ก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือว่า pure sciences ทีเดียว เนื่องจากว่าคำสอนที่พระพุทธองค์เปิดเผยแสดงนั้นก็เฉพาะความจริงที่พระองค์เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในการพัฒนาตน ส่วนคำสอนกลุ่มที่สองนั้น อาตมาก็เปรียบเทียบกับเทคโนโลยี เพราะคำว่า ‘เทคโนโลยี’ นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งประดิษฐ์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ อะไรเป็นต้น แต่หมายถึง หลักการ วิธีการ เทคนิค กระบวนการต่างๆ ซึ่งรวมกันแล้วก็คือการเอาความรู้ในธรรมชาติ ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์โดยตรง เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ส่วนที่เป็นเทคโนโลยีนั้น อาตมายืนยันว่าหรือเชื่อมั่นว่า มีแต่พระพุทธศาสนาที่มีเทคโนโลยี ที่เป็นขั้นตอน ที่ละเอียดอ่อน ที่ปฏิบัติได้ ได้ผลจริง มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นเอกลักษณ์ของพระศาสนาของเรา และในทุกวันนี้ ในยุคที่คนไทยส่วนใหญ่มองศาสนาผ่านแนวความคิด concept สายตาของตะวันตก ก็เป็นส่วนของพุทธศาสนาที่คนรุ่นใหม่มองข้าม เพราะไม่เหมือนในศาสนาอื่น ก็อยากให้ทุกคนได้สำนึกได้ศึกษา แล้วได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนากลุ่มที่เป็นคำสอนที่เป็นเทคโนโลยีในการพัฒนาสุขภาพ คุณภาพ สมรรถภาพของจิต ในการพัฒนาชีวิตให้ถึงการดับทุกข์และการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Jan 2023 - 55 - ธรรมละนิด : ทำไมจึงควรปฏิบัติธรรม
ทำไมเราจึงควรปฏิบัติธรรม? พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ยากมาก ในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์นี่แสนยาก ในเมื่อเราเกิดแล้ว เราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดในตระกูลชาวพุทธแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสทองที่จะตัดเวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารให้สั้นลง ให้เราได้ทำงานที่สำคัญยิ่ง ในการละบาปในการบำเพ็ญกุศล และการชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด ถือว่าไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร ก็ไม่ได้ติดคุกติดตะราง ไม่มีใครลงโทษอะไร แต่เสียดาย เสียโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในประเทศอันสมควร ก็ขอให้ทุกคนฉวยโอกาสอันนี้ให้ได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 27 Dec 2022 - 54 - ธรรมละนิด : โกหกแบบมีเจตนาดี
การโกหกแบบมีเจตนาดี เช่นไม่ต้องการให้คนอื่นเสียใจ ถือเป็นบาปไหม? เราอาจจะถือว่าเรามีเหตุผลเพียงพอที่จะพูดเท็จ เพราะเกรงใจเขา เพราะสงสารเขา เป็นต้น แต่ถ้าตอนหลังเขาทราบว่าเราพูดเท็จ เขาต้องเสียความไว้วางใจในตัวเรา แล้วเขาจะรู้ว่าในบางกรณีคนนี้จะยอมโกหกเรา ถ้าเขาเห็นสมควรจะโกหก คือความเชื่อใจกัน ความไว้วางใจซึ่งกันและกันก็จะลดน้อยลง อันนี้ก็คือโทษหรือผลเสียของการโกหก ที่เรียกว่าสีขาว หรือว่าการโกหกที่ว่าด้วยความหวังดี พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Dec 2022 - 53 - ธรรมละนิด : พระวัดป่ากับพระวัดบ้าน
พระวัดป่ากับพระวัดบ้านต่างกันอย่างไร? ต่างกันที่วิถีชีวิต พระวัดป่านี่จะเน้นในการปฏิบัติ มีการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ ออกบิณฑบาต การเรียนการศึกษาจะน้อย ส่วนมากจะปล่อยเป็นเรื่องส่วนตัว การประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะน้อย ส่วนในวัดบ้าน ท่านจะอยู่ใกล้ชิดกับญาติโยมก็มีความสนิทสนมมากขึ้น แล้วก็จะเน้นในเรื่องปริยัติธรรม เรื่องการเรียนการศึกษา และการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เนื่องจากพระในวัดบ้านอยู่ใกล้ชิดกับญาติโยม ก็ธรรมดาเรื่องพระวินัยมักจะย่อหย่อนไปหน่อย ซึ่งจะเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่งที่ค่อนข้างจะชัด ในเรื่องการปฏิบัติตามหลักพระวินัย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ถือว่าเราอยู่สถาบันเดียวกัน เป็นพระสงฆ์ด้วยกัน แล้วพระวัดบ้านที่ตั้งใจปฏิบัติก็มี พระวัดป่าที่ขยันเรียนพระปริยัติก็มีเหมือนกัน แต่โดยภาพรวมแล้วก็จะเห็นจากสี สีผ้า...นี่ก็สีพระวัดป่า ถ้าเป็นสีที่ออกมาเหลือง สีส้มสดใสหน่อย ท่านก็จะเป็นพระวัดบ้าน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 13 Dec 2022 - 52 - ธรรมละนิด : การเมืองที่เห็นต่าง
เราควรรับมือกับความเห็นต่างทางการเมืองอย่างไร? ความเห็นต่างนี่มันเป็นสิ่งที่ดี ตามหลักประชาธิปไตย เพราะเราถือว่าหลายๆ สมองนี่ดีกว่าสมองเดียว หลายมุมมองดีกว่ามุมมองเดียว หลายผลประโยชน์ดีกว่าผลประโยชน์กลุ่มเดียว แต่มันก็มีขอบเขตว่า การถือความคิดเห็นต่างกัน เราก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน แล้วไม่ต้องรังเกียจเพียงเพราะคนคิดไม่เหมือนกับเรา ต้องพยายามหาทางที่โบราณเรียกว่า ประสานประโยชน์ ถือว่าช่วยๆ กันคิด ช่วยๆ กันประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย เราไม่ต้องเป็นศัตรูต่อกัน ถ้าหากว่าเราถูกที่สุด เขาผิดถนัด เราซื่อสัตย์เขาไม่ซื่อสัตย์ เราหวังดีต่อประเทศชาติ เขาไม่หวังดีต่อประเทศชาติ แบ่งแยกเรากับเขาอย่างชัดเจน เป็นขาวกับดำ อันนี้เป็นทางไปสู่ความขัดแย้ง แต่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน แล้วเราก็ปรึกษาหารือกัน ถกเถียงกัน ด้วยความหวังดีต่อกันและกัน ด้วยความหวังดีต่อสังคมประเทศชาติ ก็น่าจะนำไปสู่ความสร้างสรรค์ แล้วก็เป็นโอกาสที่เราจะแก้ปัญหาของสังคมได้มากขึ้น พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 29 Nov 2022 - 51 - ธรรมละนิด : ตายแล้วไปไหน
หนูอยากทราบว่าเราตายไปจะไปที่ไหนคะ แล้วเรามีหลักฐานไหมคะว่าทำไมตายไปแล้วถึงได้ไปที่นั่น? คือเรื่องนี้เราต้องยอมรับว่า คนเรานี่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะเรายังไม่ตาย แต่ว่าตั้งแต่สมัยพุทธกาลก็มีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เกิดญาณระลึกชาติได้ รู้แจ้งเห็นจริง เปิดเผยให้ทราบเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเอง ในพระไตรปิฎกก็ได้เล่าถึงเรื่องนี้มาก ทีนี้ความรู้ของพระพุทธเจ้า ความรู้ของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ใช่ความรู้ของเรา เพราะฉะนั้นถ้าจะเชื่อ เราก็เชื่อด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า ยังไม่รู้ยังไม่เห็นเอง แต่ว่าเชื่อไว้ก่อน ถ้ามีใครถามว่าทำไมถึงเชื่อ ก็บอกว่าในคำสอนของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ ในเรื่องที่เราพิสูจน์ได้ ปรากฏว่าจริงหมด ถูกหมด เพราะฉะนั้นเราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เราไว้ใจ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่เราไว้ใจ เพราะในสิ่งที่ท่านเคยสอน ที่เราดูเองได้ ไม่มีที่คัดค้านได้เลย เปรียบเทียบเหมือนในโลกวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น เกี่ยวกับฟิสิกส์ ควอนตัมฟิสิกส์ คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์จะพิสูจน์ได้เอง แต่ว่าเราไว้ใจไอนสไตน์ เราไว้ใจนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดว่า เออ...ท่านมีความรู้มาก เราไว้ใจท่านไว้ก่อน ทั้งๆ ที่เราไม่รู้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นเรื่องความเชื่อ ความเชื่อนี่เราเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องระวัง อย่าไปคิดว่าต้องจริงเพราะเราเชื่อ เพราะว่าเราเชื่อแต่อยู่ในระหว่างการพิสูจน์ แต่ตอนนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่เชื่ออย่างมีเหตุมีผล ส่วนเราตายแล้วไปไหน เราจึงเชื่อตามที่พระพุทธองค์สอนว่า มันจะตรงกับสิ่งที่เราเคยทำ เคยพูด เคยคิด เป็นประจำ ถ้าจิตใจของเราหยาบ เราก็จะไปเกิดที่หยาบ จิตใจเราละเอียด เราจะไปเกิดที่ละเอียด เราจะไปอยู่ที่มันเหมาะกับเรา ที่มันสอดคล้องกับคุณภาพของจิตใจของเรา อย่างไรก็ตาม คำถามว่า เราตายแล้วไปไหน ต้องย้อนถามว่า หมายถึงใคร แล้วตัวเราที่ตายแล้วไปไหน เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ทีนี้ถ้าเรายังตอบไม่ได้ว่า ตัวเราในปัจจุบันอยู่ที่ไหน เราจะไปหวังได้อย่างไรว่าเราจะได้เข้าใจว่าตายแล้วไปไหน เพราะฉะนั้นเราไปหาตัวเองในปัจจุบันดีกว่า เราจึงค่อยคุยเรื่องหลังตาย พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 22 Nov 2022 - 50 - ธรรมละนิด : ตายแล้วหมดทุกข์ไหม
มีเพื่อนบางคนมีความเชื่อว่าตายไปแล้วหมดความทุกข์เลย จะไม่มีความทุกข์อีกแล้ว ไม่เหมือนกับคนที่มีชีวิตอยู่ซึ่งจะพบเจอแต่ความทุกข์มากกว่า พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร? ความเชื่อที่ขาดเหตุผลโดยสิ้นเชิง เราเรียกว่าความเชื่องมงาย ความเชื่อว่าตายแล้วขึ้นสวรรค์ตกนรก ถ้าแค่เชื่ออย่างเดียว เชื่อไม่คิดอะไรเลย ก็เป็นความงมงายเพราะเราไม่รู้ความจริง แต่ความเชื่อว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วไม่มีอะไร นั่นก็เป็นความคิดงมงาย ความเชื่องมงายเช่นเดียวกัน การที่คนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ มักจะพูดในลักษณะว่า ไม่เชื่อว่าตายแล้วไปโน่นไปนี่ มันก็ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นแบบมีเหตุมีผล นี่เป็นคนสมัยใหม่ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นความงมงายนั่นเอง เพราะว่าความไม่เชื่อก็คือเชื่อว่าไม่มี ซึ่งรู้ได้อย่างไร ในหลายเรื่องในชีวิต เราไม่มีความรู้โดยตรง อย่างเช่น เรื่องของฟิสิกส์ ควอนตัมฟิสิกส์ อะไรๆ พวกนี้ ใครจะไปพิสูจน์ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ว่าถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับไอนสไตน์ ระดับนี้ เราก็ไว้ใจไปก่อน เพราะว่าคิดว่าเขาเป็นคนเก่งมาก เขาเรียนรู้เรื่องนี้มาก เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์คนอื่น อะไรเป็นต้น เพราะถือว่าถ้าเราเชื่อในคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ในเรื่องที่เรายังเข้าไม่ถึง เราก็ไม่ถือว่าเป็นความงมงาย เราไม่ได้ถือว่าต้องจริงแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ แต่แค่ว่า โอกาสที่จะเป็นจริงจะสูง เพราะคนนี้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เรื่องของการตายแล้วไปไหน ผู้ที่เชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งใช้เวลาในชีวิตบางทีก็หลายหมื่นชั่วโมงหรือว่าทั้งชีวิตเลย ในการค้นคว้าโลกด้านใน ในเรื่องของจิตใจในทางละเอียดจนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจที่เหนือกว่าคนธรรมดา แล้วท่านก็เปิดเผยให้เราทราบ ในชาวพุทธเราจึงถือว่า เมื่อมีผู้ที่เชี่ยวชาญขนาดนี้ ยืนยันกันเป็นเสียงเดียวกันว่า สวรรค์นรกมีจริง ตายแล้วไม่สูญ มันก็น่าจะให้น้ำหนักพอสมควร เพราะพวกนี้เป็นผู้ที่แบบมุ่งมั่นในการค้นคว้าในเรื่องนี้โดยเฉพาะ แล้วผู้ที่ถึงระดับสูงนะ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์บางทีระดับสูงก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่ถ้าระดับสูงในทางจิตใจก็พูดเสียงเดียวกันว่า ตายแล้วไม่สูญ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นข้อคิดที่ควรจะคำนึงถึงในการพิจารณาในเรื่องนี้ว่า ผู้ที่รู้เรื่องที่สุดคือใครและผู้ที่รู้เรื่องที่สุดพูดว่าอะไรบ้าง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 15 Nov 2022 - 49 - ธรรมละนิด : ทำอย่างไรให้หายโกรธ
มีวิธีฝึกอย่างไรให้หายโกรธเร็วขึ้น? เราต้องเห็นโทษของความโกรธ จนรู้สึกละอายรู้สึกกลัว ในการที่จะปล่อยจิตให้โกรธ ในเมื่อเราไม่พอใจกับบุคคลหรือสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องฝึกทั้งทางพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาพร้อมๆ กัน พฤติกรรมก็คือโกรธเท่าไรเราไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ให้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เพราะนั่นก็จะเป็นกรรม แล้วก็จะสร้างปัญหาในอนาคตมาก ทางจิตใจเราต้องพัฒนาคุณธรรม ที่เป็นปฏิปักษ์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับความโกรธ เช่น ความอดทน เมตตา และสติ แล้วทางด้านปัญญาต้องเปลี่ยนความคิด เราโกรธก็ต้องมีความคิดผิดอยู่เบื้องหลัง ถ้าไม่แก้ที่ความคิดผิด ถ้าไม่แก้ที่ตัณหา ไม่แก้ที่กิเลสอยู่ในใจ ความโกรธมันก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ถ้าเราเห็นสิ่งทั้งหลายว่า เออ...เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา เราเห็นว่าเพราะเราอยากได้อะไรสักอย่าง เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น เราก็จึงโกรธ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Nov 2022 - 48 - ธรรมละนิด : อยู่ร่วมกับคนที่ไม่ชอบ
หากเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เราไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการกระทำ วาจา หรือความคิด เราควรวางตัวอย่างไร? มันก็แล้วแต่นะ แล้วแต่ว่าคนนั้นเขามีอคติต่อเราหรือเปล่า แล้วการที่เราไม่ชอบเขาเป็นเพราะเหตุใด ถ้าหากว่าเป็นแค่ว่าไม่ค่อยชอบนิสัยใจคอ ก็อย่าไปคิดมาก อย่าไปปรุงแต่งในความไม่ชอบ เพราะว่าในหลายกรณีนี่ ถ้าเรารู้จักคนใหม่ๆ อาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่อยู่ไปอยู่มา ก็ปรากฏว่า เออก็มีอะไรที่น่ารักเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ชอบตั้งแต่ต้น แล้วก็ตั้งข้อรังเกียจหรือว่าตัดสินเขาว่า เขาไม่น่ารัก ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เรื่องบานปลายหรือว่ายากที่จะเปลี่ยนจากไม่ชอบเป็นชอบ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เห็นแก่ตัว หรือว่าทุศีล ก็...เราห่างออกไปหน่อยหนึ่ง ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่คบเขา ก็อยู่ห่างๆ คือคำถามนี้มันมีเงื่อนไขเยอะ แล้วแต่ว่า ความไม่ชอบเกิดเพราะอะไร แต่ที่สำคัญคือ ความไม่ชอบมันก็เป็นแค่ความรู้สึกชั่วคราว อย่าไปเชื่อมันมาก มันเปลี่ยนได้เหมือนกัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 01 Nov 2022 - 47 - ธรรมละนิด : สัมมาอาชีวะ
ทำธุรกิจอย่างไรจึงถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะ และการประกอบสัมมาอาชีวะรวยได้ไหม? คือสัมมาอาชีวะ อันนี้เริ่มตั้งแต่มาตรฐานต่ำสุดคือ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่ทำธุรกิจในทางที่เป็นผลร้ายต่อสังคม หรือธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือ ให้เป็นอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ถ้าการประกอบอาชีพอย่างเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู เป็นต้น ถือว่าเป็นสัมมาอาชีพ เพราะเป็นงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อระงับทุกข์ของประชาชนโดยตรง อาชีพอย่างอื่น อาจจะได้ผลในทางดีที่น่าชื่นชม แต่เหมือนจะเป็นผลพลอยได้ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวอาชีพเอง แต่โดยสรุปแล้วว่า ถ้าอาชีพใดที่ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในสังคม แต่มันเป็นไปเพื่อการทำให้สังคมดีขึ้น อันนี้เราน่าจะยกย่องว่าเป็นสัมมาอาชีวะระดับยอด แต่ถ้าเป็นการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยเจ้านายให้ความเป็นธรรมกับลูกน้อง แล้วก็พยายามทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทำงานด้วยการเสียสละ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมได้เหมือนกัน เรื่องจะรวยหรือไม่รวยนี่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่อาจจะบอกได้ว่า ความรวย ถ้ามองทางเงินทางทอง ไม่ถือว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวพุทธ ชาวพุทธเราไม่รังเกียจนะ ความร่ำรวยนี่ไม่รังเกียจ แต่หมายถึงว่า เอาความร่ำรวยเอาเงินเอาทองเป็นเครื่องวัดความสำเร็จในอาชีพ รวยนี่ถือว่าผลพลอยได้มากกว่า พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 25 Oct 2022 - 46 - ธรรมละนิด : ความเพียร
ทำอย่างไรถึงจะมีความเพียร และตั้งใจมั่น อดทน ไม่พ่ายแพ้ต่อความสบาย? ความเพียรเป็นผลของศรัทธาและฉันทะ แล้วก็ความต้องการให้ชีวิตเจริญงอกงาม ความเชื่อมั่นว่าในการเวียนว่ายตายเกิดนี้ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นโอกาสทองที่จะละบาป บำเพ็ญกุศล ชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด ชีวิตเราจะมีคุณค่า มีความหมายก็ด้วยการปฏิบัติธรรม การหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นความสุขระดับหนึ่งแต่ว่ามันผิวเผินมาก แล้วการที่โรคที่ระบาดที่สุดในปัจจุบันจะไม่ใช่โควิด ก็เป็นโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าสำคัญที่สุดเพราะคนไม่มีเป้าหมายชีวิตที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของจิตใจ ใช้ชีวิตวิ่งหาความสุขแบบผิวเผินมากก็จิตหลักลอย มันก็ทำให้เกิดมีความผิดปกติทางจิตใจมากมาย ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่จำเป็น สิ่งที่จะนำไปสู่ความรู้สึกภาคภูมิใจในชีวิต ความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายได้ คือเราต้องคิดพิจารณาในลักษณะที่ทำให้เกิดกำลังใจ ถ้าขาดฉันทะ เกิดความเห็นชอบเกิดขาดศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของเราแล้ว มันก็อยู่เป็นวันๆ ก็เสียเวลาเป็นประจำ เพราะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นความเพียร ความพยายาม ความอดทน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น เมื่อเรามีอุดมการณ์ในการฝึกตน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 18 Oct 2022 - 45 - ธรรมละนิด : สวดมนต์ก่อนปฏิบัติ
ก่อนการเจริญภาวนาที่ถูกต้อง เราควรสวดมนต์ไหว้พระก่อนหรือไม่ หรือว่าเมื่ออยากปฏิบัติก็นั่งสมาธิได้เลย? การไหว้พระ การสวดมนต์ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไหว้พระ สวดมนต์ก่อนปฏิบัติ ประโยชน์ของการไหว้พระ สวดมนต์ ก็คือการที่เรามีกิจกรรมที่ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงหรือมีความรู้สึกออกจากโลก ออกจากความวุ่นวาย ออกจากภาระหน้าที่อะไรต่างๆ เข้ามาสู่พระธรรม เป็นกุศโลบายที่จะเปลี่ยนอารมณ์ แล้วการไหว้พระด้วยสติ การสวดมนต์ด้วยสติเป็นการเตรียมจิตที่ดี ก่อนที่จะเข้าสู่การเจริญสมาธิภาวนา การไหว้พระ การสวดมนต์ในหมู่คณะ ถ้าอยู่ในกลุ่มเพื่อนหรืออยู่ที่วัด ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้สึกสมานสามัคคีกัน ถ้าอยู่คนเดียวเวลาจำกัดก็แล้วแต่จริตนิสัย บางคนสวดมนต์จิตใจจะเบิกบาน จิตใจจะปล่อยวางความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายได้ง่าย ก็เป็นกุศโลบายที่สำคัญ สำหรับบางคนก็ไม่ถูกจริตกับการทำวัตรสวดมนต์เท่าไร ก็ทำได้เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรมาก ก็ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำมาก ทำน้อยๆ มันก็อยู่ที่เวลาเราด้วย อยู่ที่จิตใจ จริตนิสัยเราด้วย แต่การไหว้พระและการสวดมนต์สั้นๆ สองนาทีสามนาที มันไม่ได้ใช้เวลาอะไรมาก แต่ว่าเป็นการเตรียมหรือการเริ่มการปฏิบัติธรรมในรูปแบบที่สวยงาม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 11 Oct 2022 - 44 - ธรรมละนิด : พระกับเพลง
ทำไมพระถึงไม่ควรฟังเพลง? ก็มีเหตุผลหลายประการ ประการแรกก็คือ เวลา คือพระเป็นผู้ที่ต้องมุ่งมั่นต่อการศึกษา การปฏิบัติ การเผยแผ่ธรรม เพราะฉะนั้นกิจกรรมอันไหนที่ไม่เหมาะกับสมณะ ไม่เหมาะกับผู้ที่ออกจากโลกเพื่อความเจริญทางธรรม เราก็ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยว เพราะถือว่าเป็นการเสียเวลา สอง สมณะหรือว่านักบวชเป็นผู้ที่มีหน้าที่พิสูจน์ให้โยมเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มีความสุขกับสิ่งบันเทิงต่างๆ ก็ยังมีความสุขได้นะ ความสุขที่เกิดจากปฏิบัติธรรม การศึกษาและการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นคำพูดของพระท่านจะมีน้ำหนัก ในเมื่อท่านเองก็ทำเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าท่านก็ โอย...ไม่ต้องฟังเพลงก็ได้ ไม่ต้องไปเสียเวลา แต่ท่านเองก็ชอบฟัง คำพูดของท่านก็คงไม่มีน้ำหนักเท่าไร ทีนี้ในการปฏิบัติเราแบ่งความสุขออกเป็น ๒ ประเภท เรียกว่า อามิสสุข กับ นิรามิสสุข อามิสสะ แปลว่า อามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้ความสุขจากการเห็นสิ่งสวยงาม การได้ฟังเพลงอันไพเราะ เป็นต้น อันนี้เรียกว่าได้ความสุขเพราะอามิส เพราะรูปเป็นอามิส เพราะเสียงเป็นอามิส แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราฝึกจิตให้พ้นจากสิ่งเศร้าหมองในจิตใจ จิตใจพ้นจากนิวรณ์ ความสุขอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ความสุขจากการสัมผัสสิ่งนอกตัว แต่ความสุขที่เป็นธรรมชาติของจิตที่พ้นจากนิวรณ์ พ้นจากกิเลส ถึงจะชั่วคราวก็ตาม เพราะฉะนั้นในการที่จะเข้าถึงความสุขประเภทนี้ เราก็ต้องยอมสละความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขประเภทอามิสสุขบ้าง ฉะนั้นการที่ไม่ฟังเพลง ไม่หาความบันเทิงต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้พระได้สำรวม ได้เสียสละความหลงใหลทางโลก เพื่อจะเข้าสู่หลักธรรม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Sep 2022 - 43 - ธรรมละนิด : ต่างศาสนา
เราจะสามารถอยู่ร่วมกันกับเพื่อนต่างศาสนาได้อย่างไรโดยไม่รู้สึกขัดแย้ง? ก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไร เพราะว่าเราถือว่าเราทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอะไรก็แล้วแต่ ที่จริงดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ก่อนหน้านี้ความสามัคคีในสังคมไทยนี่เป็นที่น่าชื่นชม อย่างพระผู้ใหญ่เล่าถึงสมัยก่อนในปักษ์ใต้ ชาวพุทธ ชาวอิสลามนี่สมานสามัคคีกันดีมาก เวลาชาวพุทธจะสร้างโบสถ์ เพื่อนชาวอิสลามมาช่วยกันสร้าง เวลาจะสร้างมัสยิด ชาวพุทธก็ช่วยกันสร้าง ไม่ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาเรา ให้ในการที่เราไม่ถือว่า การขึ้นสวรรค์หลังตาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อในคัมภีร์ แต่เราเชื่อว่าการขึ้นสวรรค์ ขึ้นอยู่กับคุณงามความดี ฉะนั้นถ้าชาวพุทธแต่ไม่มีคุณงามความดีอยู่ในตัว ก็ไม่ขึ้นสวรรค์เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นชาวคริสต์ ชาวอิสลาม แล้วก็ไม่มีศาสนา แต่ถ้าเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขาก็มีสิทธิ์ขึ้นสวรรค์ได้เหมือนกัน ในเมื่อชาวพุทธเราไม่มีอุดมการณ์ในการที่จะบังคับหรือที่จะชักชวนให้คนที่นับถือศาสนาอื่นหันมาเป็นพุทธ พุทธเราก็อยู่กับใครก็ได้ เราก็ไม่เป็นปัญหา แต่เขาจะเป็นปัญหากับเรานี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ต้องเตือนทุกคน ถ้าเราเป็นพุทธแล้ว เราควรจะรักศาสนาของตัวเอง อย่าเพิ่งทิ้งศาสนาของตัวเองง่ายๆ ทุกวันนี้ถ้าคนไทยชาวพุทธไปแต่งงานกับคนต่างศาสนา ส่วนมากจะทิ้งศาสนาตัวเอง ซึ่งอาตมาไม่เห็นด้วยในข้อนี้นัก อาตมาว่าถ้ารักกันได้ เราก็น่าจะอยู่ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในศาสนาและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้ ฉะนั้นในความเมตตาต่อกัน ความเคารพต่อกันและกัน การคำนึงถึงสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าสิ่งที่แตกต่างกัน ก็ถือว่าเป็นหลักที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Sep 2022 - 42 - ธรรมละนิด : เมื่อลูกทะเลาะกัน
เราจะจัดการตัวเราและลูกๆ อย่างไรในกรณีที่ทะเลาะกัน อีกฝ่ายชอบบอกว่าพ่อแม่ชอบเข้าข้างพี่บ้างหรือเข้าข้างน้องบ้าง? ก่อนอื่นเราก็ต้องมั่นใจว่า มันไม่จริง เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมักจะบอกว่าไม่เข้าข้าง แต่บางทีก็มีเหมือนกัน อาจจะมีโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้มีการเข้าข้างลูกคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด อย่างไรก็ตามมันก็จะมักจะเป็นอย่างนี้เป็นประจำว่า พี่บอกว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าข้างน้อง น้องก็หาว่าเข้าข้างพี่ ก็ถือว่าเป็นโลกธรรมของผู้ปกครอง ซึ่งบางทีจะให้เหตุให้ผลนี่...ถ้าเขาเชื่ออย่างนั้นแล้ว ก็คงจะเชื่อไป แต่เราก็ต้องพยายามให้เห็นในทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำได้ว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันตรงกันทั้งพี่ทั้งน้อง หรือว่าเป็นผู้ชายผู้หญิง คนละวัย คนละสิ่งแวดล้อมกัน มันเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าให้ถึงกับการทะเลาะกัน เพราะถือว่าทะเลาะกันก็ต้องทะเลาะกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าลูกน้อยใจเมื่อไร ก็ไปร้องเรื่องนี้ เราก็ต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา แล้วถามตัวเองว่ามีส่วนเป็นจริงไหม ถ้าหากว่าไม่ใช่เลย เราก็ต้องพยายามดูความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำพูดของลูก ว่าลูกรู้สึกอย่างนั้นใช่ไหม รู้สึกอย่างนี้ใช่ไหม เพราะในครอบครัวหรือว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน บางทีพอมีอารมณ์แล้วก็พูดอะไรออกมา บางสิ่งบางอย่างไม่น่าฟัง หรือว่าพูดเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียใจ เจ็บใจ แต่เราไม่ควรจะโต้ตอบเพราะเรื่องจะไม่จบ แต่พยายามดูความรู้สึก จะเป็นความน้อยใจ เสียใจ โกรธ อะไรก็แล้วแต่ พยายามดูความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำพูด เพื่อจะนำไปสู่การระงับคดี ระงับกรณี พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 23 Aug 2022 - 41 - ธรรมละนิด : ทุกข์หนัก
ในช่วงเวลาที่เรากำลังมีความทุกข์มาก ทำสมาธิก็ฟุ้งซ่านมาก จะวนเวียนคิดแต่เรื่องที่ทำให้ทุกข์ ทำอย่างไรจึงจะทำให้จิตใจกลับมาเบิกบาน มีความสุขได้อีกครั้ง? ถ้าจิตเป็นทุกข์แล้ว แล้วคิดจะทำสมาธิเพื่อจะได้ลืมความทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ชั่วคราว แต่ก็จะเป็นความคิดที่นำไปสู่ความคับข้องใจพอสมควร เพราะมองสมาธิเป็นผลที่เราต้องการ ก็กลายเป็นการปฏิบัติด้วยตัณหา ถ้าเราสังเกตเห็นว่าความคิดปรุงแต่ง ความฟุ้งซ่านต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจเราทุกข์เหลือเกิน เราก็ใช้เครื่องมือ ใช้ข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าก็ค่อยๆ ขัดเกลา ซึ่งการทำความเพียรเพื่อปล่อยวาง อันนี้ตัวนี้ที่เป็นตัวบุญ ตัวกำไร ก็ไม่ต้องเอาผล คือความสงบเป็นหลัก เอาการทำความเพียร ถ้าเราทำความเพียรความพยายามอย่างต่อเนื่อง เราจะค่อยๆ ได้ผล แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านวุ่นวาย ไม่อยากให้ฟุ้งซ่านวุ่นวาย อยากให้มันสงบอยากให้มันเป็นอย่างใจ อันนี้ความคิดอย่างนั้นไม่ใช่ทางออกจากปัญหา แล้วเป็นสิ่งที่จะทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป แต่เมื่อเราดูเหตุปัจจัยของความทุกข์ความเดือดร้อน คิดว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรได้ ที่จะทำให้มันลดน้อยลง ควรจะทำอย่างไร ความเบิกบานใจมันก็จะเกิดขึ้นได้ มันก็แล้วแต่กรณีแล้วแต่บุคคล อย่างเช่น มันเป็นปัญหาเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะการกระทำของตัวเอง หรือเกิดเพราะการกระทำของคนอื่น มันเป็นปัญหาเรื่องทางศีลธรรม เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าไม่มีรายละเอียดเราก็ตอบในรายละเอียดไม่ได้ แต่ขอให้ทราบว่าการทำสติ การฝึกสติ ก็เป็นการปฏิบัติที่ดีที่สุด เพราะจิตที่ขาดสติมีทางเลือกน้อย จิตที่ตั้งสติมีทางเลือกมาก การที่จะรู้เท่าทัน ที่จะจับประเด็น ที่จะเริ่มแก้ไขทุกอย่าง มีเงื่อนไขสำคัญก็คือการตั้งสติ ก็ไม่ต้องเอาถึงสมาธิหรอก เอาการฝึกสติ ให้การตั้งสติเหมือนกับตุ๊กตาล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ในที่สุดแล้วก็จะได้พ้นจากปัญหา พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 16 Aug 2022 - 40 - ธรรมละนิด : ช่วงสุดท้ายของชีวิต
ถ้ามีอาการเจ็บปวดในร่างกาย ควรปฏิบัติภาวนาอย่างไร เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต? เริ่มต้นด้วยการฝึกจิตไม่ให้กลัวความลำบากทั่วๆ ไป เพราะการที่เราจะทนหรือจะตั้งสติ จะไม่ให้จิตใจเป็นทุกข์กับเวทนาทางกาย ก็เริ่มจากการฝึกจิตกับความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน คือไม่ให้จิตไปยุ่งกับมัน ไม่ให้จิตไปหดหู่เพราะความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ในจิตใจ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง เมื่อมีความเจ็บปวด มีโรคประจำตัว หรือว่าเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าเป็นโรคร้ายแรงอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราควรจะจำไว้ก็คือ เวทนานั้นมี ๒ ส่วน ส่วนประกอบทางกายก็มี ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้หรอก อันนั้นเรียกว่าเป็นกรรมเก่าก็ได้ แต่สิ่งที่เราแก้ได้ ป้องกันได้คือปฏิกิริยาทางจิตใจต่อเวทนาทางกาย ซึ่งประกอบด้วยความกลัว ความรังเกียจ ความวิตกกังวล ความน้อยใจสารพัดที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนกระทั่งคนทั่วไปที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าเราตั้งสติให้ดี ฝึกจิตให้ดี เราก็สามารถแยกอาการทางกายกับอาการทางใจ สามารถปล่อยวางอาการทางใจ ปรากฏว่าความทรมานหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้เราโล่งใจ เราจึงได้รู้ว่า ถ้าเราดูแลจิตใจเราก็มีหลักในการปฏิบัติต่อทุกขเวทนาที่เราจะได้ใช้ได้ตลอดชีวิต ในจนกระทั่งวาระสุดท้าย การยอมรับการไม่รังเกียจ ไม่ให้เกิดสิ่งที่พระเราเรียกว่า วิภวตัณหา ในขณะที่เกิดทุกขเวทนานั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะสนใจฝึก เพราะถ้าฝึกได้ ปล่อยวางความรู้สึกที่เป็นอกุศลต่อเวทนาที่ไม่ชอบได้ ก็เป็นกำไรชีวิตอย่างมหาศาล พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 09 Aug 2022 - 39 - ธรรมละนิด : วิญญาณทำอะไรเราได้บ้าง
วิญญาณคืออะไร คำว่าวิญญาณมีสองความหมาย วิญญาณในความหมายของพุทธธรรม และวิญญาณในความหมายของภาษาไทย? เอาวิญญาณในความหมายทางพุทธธรรมก่อน นั้นหมายถึงความรู้ ที่เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เราได้ยินเสียง อันนั้นก็เป็นวิญญาณ วิญญาณหนึ่ง เราเห็นรูป ก็เป็นวิญญาณ เราได้กลิ่นอะไรสักอย่างก็เป็นวิญญาณ เป็นเรื่องความรู้ที่เกิดขึ้น ความรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สลับกัน หมุนๆ ไป ทำให้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว เหมือนกับอันไหนที่มันหมุนๆ มันจะดูเป็นวงกลม ที่จริงมันก็ไม่ใช่ เพราะมันหมุนเร็ว มันจึงรู้สึกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน วิญญาณในความหมายทางภาษาไทย ก็คือผี ผีก็อยู่ในกลุ่มอมนุษย์ สิ่งที่มีชีวิตแต่ไม่ใช่มนุษย์ พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ผู้มีเมตตาอยู่ในใจ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปเถียงกันว่า ผีมีจริงหรือไม่มีจริง ซึ่งอาตมาว่ามีจริง แต่คนที่เห็นนี่ส่วนมากไม่จริงหรอก มันเป็นเรื่องอุปทานเสียส่วนใหญ่ แต่ว่าข้อนี้ไม่ต้องเถียงกันดีกว่า แต่ขอให้ทราบง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีเมตตาธรรม เราจะเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย และไม่ต้องกลัวว่าจะมาทำร้ายเรา แล้วถ้าผีไม่มีจริง เราก็มีเมตตาธรรมก็ได้กำไร ผีมีจริงหรือไม่มีจริง เจริญเมตตาภาวนานี่ได้กำไรชีวิตมหาศาล ก็อยากให้ถือนี่เป็นหลัก การที่เรากลัวผีกันมาก กลัววิญญาณกันมาก มักจะเป็นเพราะสัญญาที่ได้จากการดูละคร ดูการ์ตูน ดูอะไรต่ออะไร เรื่องนิทานต่างๆ เป็นเรื่องของสัญญา ความทรงจำ ขอให้รู้เท่าทันสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ รู้เท่าทันแล้วก็ปล่อยวาง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 26 Jul 2022 - 38 - ธรรมละนิด : ตัณหากับฉันทะ
ความอยากที่เป็น ‘ตัณหา’ และความอยากที่เป็น ‘ฉันทะ’ แตกต่างกันอย่างไร? ความอยากที่เกิดจากหรือเกิดพร้อมกับอวิชชา ความไม่รู้ ความไม่เห็นตามความเป็นจริง ท่านให้ชื่อว่าตัณหา ตัณหามี ๓ อย่าง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหาคืออยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ถูกใจที่ชอบ ภวตัณหา อยากมีอยากเป็น คืออยากมีชื่อเสียง อยากมียศ อยากมีอำนาจ อยากให้เขารัก อยากให้เขาเคารพ อยากให้เขารู้จัก มันเป็นความอยากที่เกี่ยวกับอัตตา ตัวตน วิภวตัณหา คือไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ เหมือนการปฏิเสธ ตัณหาเกิดเมื่อไรความยึดมั่นถือมั่นที่ให้ชื่อว่าอุปาทานก็จะเกิดขึ้นตรงนั้น แล้วก็จะนำไปสู่ความทุกข์ พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ทุกข์เกิดเพราะตัณหา ตัณหาเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะอวิชาหรือเกิดพร้อมกับอวิชชา ความอยากที่เกิดขึ้นเพราะวิชชา ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง หรือไม่เกี่ยวกับอัตตาตัวตน ไม่เกิดกับความบันเทิงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าเป็นฉันทะ ซึ่งข้อสังเกตง่ายๆ ก็คือ ฉันทะก็จะมุ่งที่การกระทำ โดยที่ตัณหามุ่งที่ผลการกระทำ ฉันทะอยากทำให้ดี หรือว่าได้ข่าวว่ามีใครเดือดร้อน มีความทุกข์ อยากช่วยเขา อันนั้นก็เรียกว่าเป็นฉันทะ อยากทำ อยากทำสิ่งที่ดีที่งาม ที่เป็นประโยชน์ อยากฝึกตน ฉันทะกับตัณหามันสลับกันได้ บางคนอาจจะเริ่มทำอะไรบางอย่างด้วยตัณหา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่พอทำไปทำมา จิตเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันบางทีอาจจะทำงานหรือว่าอาจจะปฏิบัติธรรมด้วยฉันทะ แต่ว่าเผลอไปแล้วตัณหาเข้ามาครอบงำ อยากได้สมาธิ อยากได้ฌาน อยากได้ญาณ อยากได้นั่นอยากได้นี่ พอมาปฏิบัติโดยมุ่งที่ผลของการปฏิบัติมากกว่าตัวการปฏิบัติ อันนี้ก็จะเป็นตัณหา ตัณหากับฉันทะ สรุปง่ายๆ ว่า ตัณหานี่มุ่งที่ผลการกระทำ ฉันทะก็อยู่ที่การกระทำ ตัณหาเกิดจากอวิชชา ฉันทะเกิดจากวิชชา พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 19 Jul 2022 - 37 - ธรรมละนิด : หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
หลักที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาคืออะไร? ในพุทธศาสนาเราถือว่าเป็นระบบการศึกษา ระบบองค์รวม ซึ่งเราไม่สามารถจะดึงข้อใดข้อหนึ่งออกจากบริบท แล้วบอกว่าข้อนี้แหละสำคัญที่สุด เพราะต้องปฏิบัติทั้งหมด เหมือนกับถามว่า ในคอมพิวเตอร์ส่วนไหนนี่สำคัญที่สุด ก็แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เล็กๆ น้อยๆ ถ้าเสียไปคอมพิวเตอร์ก็ไม่ทำงาน พุทธธรรมก็คล้ายกันต้องปฏิบัติ ต้องปฏิบัติทั้งด้านพฤติกรรม ทั้งด้านจิตใจ ทั้งด้านปัญญาพร้อมๆ กัน แต่คำสอนที่เป็นที่ยอมรับของพุทธศาสนาทุกนิกายก็น่าจะอยู่ที่อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นการกล่าวว่า ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ยังไม่สามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ แต่ความสุขที่แท้จริงเป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือการฝึกอบรมทางกาย วาจา ใจ มุมมองต่อชีวิตว่าชีวิตถ้าปล่อยไปไม่ฝึกตน ก็ไม่พ้นทุกข์สักที มีทุกข์ร่ำไป แต่มนุษย์มีศักยภาพสูงในการฝึกตน และการฝึกตนตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ก็นำไปสู่สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ บางครั้งท่านก็เรียกว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ความสุขเหนือที่คนทั่วไปจะได้รู้จะได้สัมผัส พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน มนุษย์กลายเป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึกตน ฝึกตนเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของตน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 28 Jun 2022 - 36 - ธรรมละนิด : ความสุขกับการทำงาน
ทำอย่างไรให้มีความสุขกับการทำงาน? การที่จะมีความสุขกับการทำงาน ก่อนอื่นก็ควรจะเป็นเลือกงานหรือทำงานที่ไม่ใช่มิจฉาชีพ ถ้าเป็นงานที่ต้องผิดศีลเป็นประจำจึงจะอยู่ได้ อย่างไรจิตก็คงจะไม่ผ่องใส แต่ถ้ามีงานที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ไม่เป็นมิจฉาชีพแล้ว ก็พยายามสังเกตสิ่งที่ทำให้ไม่มีความสุข บางอย่างนี้อาจจะทำอะไรไม่ได้ มันอาจจะอยู่ที่ระบบการทำงาน หรือว่าผู้ใหญ่ ผู้บริหาร หรือว่าอาจจะมีปัญหาในที่ทำงาน ที่ทำให้เราสบายใจได้ยาก แต่สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในจิตใจที่เรารับผิดชอบได้ แล้วทำให้ลดน้อยลงหรือหายไป แล้วทำให้มีความสุขได้ ทั้งๆ ที่สิ่งแวดล้อมไม่เพอร์เฟกต์ (perfect) ไม่ดีทีเดียว มันก็ยังมีอยู่ ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือการทำงานด้วยจิตของนักปฏิบัติ ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม เราทำงานโดยไม่ให้จิตใจเป็นบาปเป็นอกุศล มีความสำรวมระวังในการแสดงออกทางกาย ทางวาจา มีการเจริญสติ เราก็สามารถมีความสุขกับงาน เพราะความสุขหรือเพราะคุณภาพจิตที่เรารักษาไว้ระหว่างการทำงาน นอกจากนั้นแล้วแรงดลบันดาลใจในการทำงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเรามองงานก็เป็นแค่เงื่อนไขที่เราต้องทนต้องทำ เพื่อจะได้รางวัลที่เราต้องการ จะเป็นเงินเป็นทอง เป็นยศ เป็นชื่อเสียง เป็นอะไรก็แล้วแต่ เมื่อทำงานเพียงเพื่อจะได้รางวัลที่ต้องการ จะมีความสุขกับตัวงานได้ยาก แล้วงานจะน่าภูมิใจก็ยากเหมือนกัน เพราะไม่ให้เกียรติกับตัวงาน แต่ถ้าเราทำงานด้วยฉันทะ ด้วยความต้องการจะทำงานให้ดี ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ทำงานในลักษณะที่ภาคภูมิใจตัวเองได้ มีความสุขในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วทำไปให้มีความรู้สึกว่าเรียนรู้จากการทำงาน ทำงานในลักษณะที่มีความเจริญงอกงาม ส่วนรางวัลมันก็จะได้เหมือนเดิมหรอก ไม่หายไป แต่ว่าเราเน้นเราให้ความสำคัญกับตัวงานมากกว่าผลของงาน นี่จะเป็นเคล็ดลับในการมีความสุขระหว่างการทำงาน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 21 Jun 2022 - 35 - ธรรมละนิด : ธรรมะของนักการเมืองTue, 24 May 2022
- 34 - ธรรมละนิด : กำลังใจในการปฏิบัติTue, 03 May 2022
- 33 - ธรรมละนิด : คนดี
คนดีในความหมายของพุทธศาสนาคืออะไร? ที่จริงแล้วไม่ค่อยอยากใช้คำว่า 'คนดี' เพราะว่า 'ความดี' ก็มีเกิดขึ้น ดับไป วันหนึ่งหลายครั้ง อาจจะมี 'ความไม่ดี' เกิดขึ้น ดับไป วันหนึ่งหลายครั้ง ในแต่ละคน เพราะฉะนั้นอาจจะบอกว่า ชาวพุทธเราพยายามให้มีความดีมากขึ้นๆ ให้ความไม่ดีน้อยลงๆ อย่างไรก็ตามคำว่า 'ดี' จะเข้าใจความหมาย ในเมื่อโยงไปถึงสิ่งที่เราถือว่าดีที่สุด มันอาจจะสับสนเหมือนอย่างที่เขาบอกว่า ทุกศาสนาหรือว่าทุกลัทธิสอนให้เราดี นี่มันแปลว่าอะไร มันคืออะไร เพราะว่าในความดีของแต่ละลัทธิแต่ละศาสนา มันไม่ใช่ว่าจะตรงกันทีเดียว มีบางส่วนที่ตรงกัน บางส่วนที่ไม่ตรงกัน บางสิ่งที่บางศาสนาสอนว่าดี ชาวพุทธเราอาจจะไม่ยอมรับว่าดี แล้วบางสิ่งบางอย่างที่ชาวพุทธเราว่าดี บางศาสนาอาจจะไม่ถือว่าดีก็ได้ ฉะนั้นเราจะเข้าใจคำว่าดี โยงไปถึงดีที่สุด ดีที่สุดของเราก็คือ ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ดีที่สุดของเราคือถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความบริสุทธิ์ ฉะนั้นในความดีของเรา เราทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ที่ทำให้สิ่งไม่ดีในจิตใจเราน้อยลง เรียกว่าดี ที่ทำให้เรามีปัญญามากขึ้น มีความเมตตากรุณามากขึ้นเป็นนิสัย ละจากกิเลสมากขึ้น ก็ถือว่าดี ก็สรุป ดีคือสิ่งที่เอื้อต่อสิ่งที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 12 Apr 2022 - 32 - ธรรมละนิด : อานิสงค์ ศีล ๘
อานิสงส์ของศีล ๘ คืออะไร? อานิสงส์แปลว่า ข้อดี หรือว่าประโยชน์ ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างศีล ๕ ศีล ๘ จะสังเกตว่า ศีล ๕ เกี่ยวกับความดีความชั่วโดยตรง ศีล ๘ นี่ท่านเพิ่มจาก ๕ เป็น ๘ โดยเปลี่ยนข้อ ๓ เป็น อพฺรหฺมจริยา นั้น ก็ไม่ได้มุ่งที่จะป้องกันความชั่วโดยตรง อย่างเช่น การทานอาหารหลังเที่ยง ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความดีความชั่ว แต่เหตุผลของการเพิ่มจากศีล ๕ เป็น ศีล ๘ ก็เพื่อเอื้อต่อการภาวนา เอื้อต่อการปฏิบัติ เพราะเป็นศีลของผู้ออกจากเรือน ฉะนั้นเราถือว่าเราเป็น อนาคาริก อนาคาริกา ผู้ออกจากเรือนชั่วคราว ถ้าวันพระเราถือศีล ๘ ก็มีเวลาที่จะไม่ต้องยุ่งกับการทำกับข้าว การกินข้าว การย่อยอาหาร มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งในวันธรรมดาอาจจะไม่ค่อยมีเวลา ไม่ได้ฟังเพลง ไม่ได้ดูข่าว ไม่ได้เล่นไลน์ คืองดจากสิ่งเหล่านี้ เพื่อจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อเราจะมีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทีนี้พระพุทธองค์ก็เคยตรัสไว้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว จิตใจหลุดพ้นแล้ว จะรักษาศีล ๘ ข้อนี้ โดยธรรมชาติ คือไม่มีเจตนางดเว้น แต่ว่าจิตใจของท่านไม่มีความคิดที่จะละเมิดเลยใน ๘ ข้อ เพราะฉะนั้นเราอาจจะเรียกได้ว่า การถือศีล ๘ นี้เหมือนกับเป็นการฝึกซ้อมเป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระอริยเจ้า เพราะด้วยกาย ด้วยวาจา เรากำลังประพฤติตัวเหมือนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็เป็นการทำความคุ้นเคยกับจิตใจ หรือว่าโดยกิริยาของผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ก็จึง ถือว่ามันเป็นบุญเป็นกุศลอย่างมาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Mar 2022 - 31 - ธรรมละนิด : คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีผลจริง? เริ่มด้วยพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เรามีโอกาสได้กราบ ได้ไหว้ ได้สนทนาด้วย หรือได้ฟังธรรมด้วย เมื่อเราได้สังเกตท่านนานๆ แล้วรู้สึกว่า โอ้...ถ้าเปรียบเทียบกับคนธรรมดานี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ความแค้น ทำไมแทบจะมองไม่เห็นหรือไม่เห็นเลย แล้วสิ่งดีงามทั้งหลายเห็นในตัวท่านนี่เยอะ แล้วท่านก็ยืนยันว่า ที่ท่านเป็นอย่างนี้มันไม่ใช่ว่าเกิดมาอย่างนี้ เกิดมาเพราะท่านปฏิบัติธรรม อันนี้ก็ท่านเป็นตัวอย่างเป็นพยาน ที่ทำให้เราเกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในเบื้องต้น แต่จากนั้นเราก็ต้องเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ แล้วก็ต้องคอยประเมินผลในชีวิตของเรา ถ้าเมื่อเราปฏิบัติธรรมแล้วก็รู้สึกว่า สิ่งที่ไม่ดีในตัวเราลดน้อยลง สิ่งที่ดีงามเพิ่มมากขึ้น เราก็มั่นใจว่า ถ้าไม่ได้เจอพุทธศาสนา ไม่ได้เจอคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ เราก็คอยพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 01 Feb 2022 - 30 - ธรรมละนิด : 'ปฏิบัติธรรม' หมายถึงอะไร
‘ปฏิบัติธรรม’ หมายถึงอะไร? คำว่า 'ธรรม' หรือ 'ธรรมะ' มีความหมายหลายนัยเหมือนกัน ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือ ธรรมที่เราได้เรียนมาได้ศึกษามาแล้ว ก็เป็นแค่ความทรงจำ พอเราได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนแล้ว ต้องนำไปปฏิบัติ พอเป็นการนำไปปฏิบัติ คำสั่งสอนในทางการพัฒนาชีวิตของพระพุทธเจ้า นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ธรรมก็ยังมีความหมายที่เรียกได้ว่ากว้างที่สุด คือคำว่า 'ธรรม' แปลว่า 'สิ่ง' ธรรมทั้งหลายคือสิ่งทั้งหลาย ถ้ามองในแง่นี้ การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ในทางที่ดีที่สุดหรือทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเราต้องมีความเพียร ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีหรือว่าอกุศลธรรม เข้ามาในจิตใจเราได้ จะต้องวางกาย วางวาจา วางใจอย่างไร เพื่อจะป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น แต่ในเมื่อเราพลาดไป มันก็โกรธเสียแล้ว เครียดเสียแล้ว กังวลเสียแล้ว แล้วการปฏิบัติธรรมตรงนี้ก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะได้ปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ นอกจากนั้นแล้วการปฏิบัติต่อสิ่งที่ดี ที่เรียกว่ากุศลธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะน้อมนำสิ่งที่ดี เข้ามาสู่จิตใจของเราในชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นกุศลธรรมเริ่มปรากฏ เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราจึงจะได้เจริญงอกงาม นี่ก็คือชีวิตแห่งความเพียร ที่เรียกว่า 'สัมมาวายามะ' ความเพียรชอบ ในอริยมรรคมีองค์แปดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเวลาเรานั่งสมาธิภาวนา หรือปฏิบัติในรูปแบบ ก็เป็นเรื่องของความเพียร ๔ อย่างเหมือนกัน เช่น เราอยู่กับลมหายใจอย่างไร นิวรณ์หรือกิเลสจะไม่เกิด ถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรโพชฌงค์ สิ่งดีงามจะเกิดขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไรมันจึงจะเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการทำความเพียรนั่นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 11 Jan 2022 - 29 - ธรรมละนิด : ความโกรธ
เราจะระงับความโกรธได้อย่างไร? ถ้าเราโกรธแล้วแสดงออกทางกาย ทางวาจา เราอาจจะรู้สึกดีสักพักหนึ่ง รู้สึกสะใจ แต่ว่าผลก็คือ ความโกรธในจิตใจของเราจะเพิ่มมากขึ้นแล้วจะทำให้เรายับยั้งชั่งใจต่อไปยากขึ้น ในเบื้องต้นสิ่งแรกก่อนอื่น ก็ต้องงดเว้นจากการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนใครด้วยกาย วาจา เพราะความโกรธ แต่นั่นก็เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นศีล แต่มีประโยชน์มาก เพราะคนเราจะตกนรก ไม่ใช่ตกนรกเพราะอารมณ์ในจิตใจ ตกนรกเพราะกาย วาจา ฉะนั้นถ้าเราระงับโกรธได้เฉพาะ กาย วาจา ก็ยังถือว่าดีมาก อย่างไรก็ตามในทางจิตใจ เรายังจะต้องปฏิบัติด้วยการสร้างหรือการพัฒนาคุณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับความโกรธ เช่น สติ เช่น ความอดทน เช่น เมตตาธรรม ถ้าเราไม่ทำตามความโกรธและคอยพัฒนาสิ่งตรงข้ามกับความโกรธ จะทำให้ความโกรธลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการปฏิบัติทางจิตใจก็ยังไม่พอ เพราะรากเหง้าของความโกรธอยู่ที่ความคิด เราต้องแก้ด้วยปัญญา โดยเฉพาะ 'โยนิโสมนสิการ' การคิดพิจารณาว่า เรามีความคิดผิดอะไรบ้าง หรือมีความอยากอะไรบ้าง ความโกรธจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากความโกรธเกิดขึ้นเพราะอยากได้อะไรสักอย่าง แล้วไม่ได้สิ่งที่อยาก อยากให้เขาทำอะไร อยากให้เขาพูดอะไร แล้วเขาไม่ทำ เขาไม่พูดอย่างที่ต้องการให้เขาทำ ต้องการให้เขาพูด ต้องการให้เขาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น เราก็โกรธ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นการที่คอยขุดความคิดหรือความอยาก หรือว่าตัวตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดความโกรธนี่ก็สำคัญในการที่จะแก้ปัญหาโดยสิ้นเชิง แต่ความโกรธจะหายจริงๆ ก็หายด้วยวิปัสสนาซึ่งต้องอาศัยการเจริญด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงขั้นที่เราเห็นชัดเลยว่า อารมณ์ทั้งหลายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ตรงนี้ที่กิเลสทั้งหลายรวมถึงความโกรธจึงจะดับโดยสิ้นเชิง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 01 Jun 2021 - 28 - ธรรมละนิด : ที่ปรึกษาที่ดี
ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นกำลังใจและที่ปรึกษาที่ดีให้กับคนรอบข้างได้? ทางพระพุทธศาสนาของเรา เราถือว่าการสร้างประโยชน์ตน สร้างประโยชน์ท่านต้องพร้อมๆ กัน คือควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกให้จิตใจตัวเองมีสติ มีกำลัง แล้วจิตใจไม่หวั่นไหวต่อเสียงสรรเสริญนินทา เป็นต้น เป็นผู้ที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ในเมื่อเข้าถึงสภาพวิกฤติหรือว่าคนรอบข้างมีอารมณ์กัน เราก็ต้องเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์กับเขา เราจึงจะเป็นที่ปรึกษาเขาได้ อย่างเช่น พระสงฆ์ก็สามารถเป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษา ของญาติโยมได้ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นผู้ครองเรือน ไม่มีประสบการณ์ตรงในการครองเรือน แต่ว่าฆราวาสก็ยอมรับว่า พระสงฆ์ท่านเป็นกลาง ผู้มีความหวังดี ไม่เข้าข้างใคร เพราะฉะนั้นคำพูดของท่านก็มีน้ำหนัก ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นผู้เป็นกลาง แล้วคำพูดของเราต้องเป็นสุภาษิต คือพูดอะไรต้องเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง พูดให้ถูกกาลเทศะ พูดด้วยความหวังดี พูดด้วยความสุภาพอ่อนโยน ก็ต้องมีปัญญาในการสื่อสารว่า พูดกับคนนี้ต้องพูดอย่างไร บางคนนี่ต้องพูดตรงๆ ไม่พูดตรงๆ ก็ไม่เข้าหู บางคนพูดตรงๆ เขารับไม่ได้ เราก็ต้องดูนิสัยใจคอเขา เราก็ต้องศึกษาพยายามเอาใจเขาใส่ใจเรา ให้เกียรติเขา ถึงแม้เราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาพูด เราก็ต้องเป็นกลาง พยายามถามตัวเองว่า ทำไมเขาจึงจะคิดว่าการกระทำอย่างนี้ หรือการพูดอย่างนี้ถูกต้อง เพราะทุกคนก็ต้องเข้าข้างตัวเองอยู่แล้วว่าเขาถูก เราเห็นว่าไม่ถูก แต่เราก็ต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดว่าเขาถูก เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง เหมือนเป็นคนที่เป็นกลาง แล้วก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นกลาง ทุกคนก็จะหวังว่าเราจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในครอบครัวหรือในชุมชนได้ ก็เป็นผู้ที่ถือธรรมะเป็นหลัก ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ไม่คิดเข้าข้างใคร อุเบกขาต้องเป็นที่ตั้ง แล้วเรามีความหวังดีต่อเขาอย่างแท้จริง เขาเป็นทุกข์ เราก็ต้องการช่วยเท่าที่เราช่วยเขาได้ เมื่อเขาเห็นแล้วเขายอมรับแล้ว เขาก็ต้องยอมให้หรือหวังให้เราจะเป็นที่ปรึกษาเขาได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Jul 2021 - 27 - ธรรมละนิด : หลักฆราวาส
การใช้ชีวิตฆราวาสให้พอดี ควรมีหลักอย่างไร? ถึงแม้ว่าคำว่า ‘พอดี’ เป็นคำธรรมดา ที่ทุกคนรู้จักตั้งแต่เด็ก ก็ยังเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างจะลึกซึ้ง เพราะไม่ว่าในบริบทไหน ก่อนจะกำหนดความพอดี เราต้องตอบคำถามว่า ‘พอดีเพื่ออะไร’ ก็จะต้องมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน แล้วจึงจะได้ประเมินว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ พอดีหรือเอื้อที่สุดต่อการเข้าถึงสิ่งนั้น บางทีคำว่าพอดีอาจจะแปลภาษาอังกฤษว่า ‘optimum’ ก็ได้ อย่างเศรษฐกิจพอเพียง อาตมาก็เคยแปลเป็น optimum economy ไม่ใช่ sufficiency economy ฉะนั้นในชีวิตฆราวาส อะไรคือเป้าหมายชีวิต อะไรคือจุดประสงค์ของผู้ครองเรือน ถ้าเอาง่ายสุดว่า ชีวิตที่มีความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม ทางโลกอาจจะไม่ต้องขยายความมาก แต่ทางธรรม ความเจริญทางธรรมก็น่าจะสรุปง่ายๆ ว่า จะดำเนินชีวิตหรือว่าครองเรือนในลักษณะที่กิเลสในจิตใจลดน้อยลง ทำให้สิ่งดีงามในจิตใจเพิ่มมากขึ้น อย่างนี้อาจจะเป็นหลักการพิจารณาว่า ชีวิตเราพอดีหรือไม่พอดี ถ้าเรารู้สึกว่านับวันกิเลสต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คุณธรรมลดน้อยลง ก็คงไม่พอดี เรื่องพอดีก็มี ไม่ถึงพอดี แล้วก็เกินพอดี ส่วนมากชีวิตเรามันจะเกินพอดีมากกว่าไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคอยคิดที่จะปรับวิถีชีวิตของเรา ให้เอื้อต่อความดีความงามของความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Aug 2021 - 26 - ธรรมละนิด : พุทธศาสนากับความสุข
พอพูดถึงพุทธศาสนามักจะได้ยินเรื่องความทุกข์บ่อยๆ อยากรู้ว่าแล้วในแง่ความสุข พุทธศาสนามองความสุขอย่างไร? ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่กล่าวถึง ที่จริงคำว่าทุกข์เราอาจจะแปลได้ว่า ภาวะที่ขาดความสุขที่แท้จริง เดี๋ยวหลายคนบอกว่าไม่เห็นมีความทุกข์อะไร ถ้าเราแปลอย่างนี้ก็ตอบเขาได้ว่า อ้าว...แสดงว่าคุณเข้าถึงความสุขที่แท้จริงแล้วเหรอ ไม่ เขามีความสุขแบบกระท่อนกระแท่น ความสุขผิวเผิน แต่พุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ความสุขมีหลายประเภท หลายระดับ แล้วความสุขที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณที่เรียกว่า กามสุข ความสุขทางเนื้อหนัง เกิดจากการกระตุ้นประสาทต่างๆ เป็นความสุขที่มีข้อบกพร่องมาก มีเงื่อนไขมาก เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วที่เห็นได้ชัดว่า ได้เท่าไรก็ไม่เคยรู้สึกอิ่มสักที ความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่าก็มี อย่างเช่น ความสุขจากการแบ่งปัน จากการช่วยเหลือ การให้อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน อันนี้ก็มี เป็นสิ่งที่ให้ความสุขด้วย แล้วก็รับความสุขด้วย ความสุขที่เกิดจากการควบคุมพฤติกรรมภายในกรอบที่เรากำหนดเอง ด้วยความสมัครใจ เรียกว่าเป็นผู้ทรงศีล เมื่อเราไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความรู้สึกเป็นเพื่อนกับตัวเอง ความเคารพนับถือตัวเอง ย่อมปรากฏชัด เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ในใจ กิเลสนั้นจะคอยกีดกันหรือว่าจะเป็นอุปสรรค ทำให้ความสุขที่ละเอียดอ่อน และความสุขที่ตอบปัญหาชีวิตเราได้นั้น ไม่เกิดขึ้น เราจึงต้องฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวางนิวรณ์ สิ่งเศร้าหมองอยู่ในจิตใจ เมื่อจิตใจเราได้รับผลของการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นสมาธิ จิตมีความมั่นคง หนักแน่น เยือกเย็น มีความสุขเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติธรรมดาของจิตที่ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เราจึงจะเริ่มเข้าใจในความหมายของ นิรามิสสุข สุขทางเนื้อหนังเรียกว่า อามิสสุข เกิดจากอามิส เกิดจากการกระตุ้น ส่วนนิรามิสสุขเกิดจากจิตใจที่สะอาดสะอ้านภายใน พ้นจากอำนาจของกิเลส แม้แต่ชั่วคราวก็ดี แต่ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ ความสุขที่แท้จริงย่อมเกิดไม่ได้ หลังจากเมื่อจิตใจได้เจริญด้วยสมาธิภาวนาเป็นฐานแล้ว เราต้องเจริญปัญญา เพราะการรู้แจ้งเห็นจริง ในกายในใจ จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ เป็นสิ่งที่ขจัดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อกิเลสดับโดยสิ้นเชิง ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิงแล้ว เราก็เข้าถึงความสุขที่แท้จริง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Sep 2021 - 25 - ธรรมละนิด : นั่งสมาธิแล้วปวดหลัง
หากนั่งสมาธิแล้วปวดขา ปวดหลัง ควรทำอย่างไรให้ไม่ปวด หรือควรอดทนกับการปวด? ถ้าเราไม่เคยนั่งขัดสมาธิมาก่อน หรือนานๆ นั่งที หรือว่านั่งแต่ละครั้งไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาที ก็คงจะต้องเจอความปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา เป็นธรรมดา ที่จริงการนั่งสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อจะไม่รู้สึกอะไร แต่เพื่อจะมีสติรู้เท่าทัน ฉะนั้นการศึกษาเรื่องเวทนา ทุกขเวทนา และการวางใจอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา ให้เป็นสักแต่ว่าเรื่องของกาย ไม่เข้าถึงจิตใจ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นวิชาอันหนึ่งที่นักปฏิบัติธรรมจะต้องสนใจศึกษา อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ถ้าหากว่า(เวทนา)ยังไม่แรงมาก ให้เรารู้ว่ามีเวทนาแล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ หรืออารมณ์กรรมฐานของเรา ถ้าทนไปสักพักหนึ่ง สักระยะหนึ่ง แล้วไม่ไหวแล้ว ก็ค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถก็ได้ ถ้าเรานั่งสมาธิเป็นประจำ เราอาจจะได้ลองพิจารณาเวทนา หรือว่าทุกขเวทนาบ้าง เป็นวิธีฝึกจิตที่มีประโยชน์มาก แต่ในเบื้องต้นของการทำสมาธิ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรักษาความรู้สึกที่ดีต่อการนั่งสมาธิ ถ้าหากว่าทุกครั้งที่นั่งต้องทนทรมานนาน เดี๋ยวก็จะหมดกำลังใจ แล้วก็จะขี้เกียจทำต่อ ฉะนั้นอดทนบ้างเล็กน้อย แต่ไม่หักโหม แล้วถ้าไม่ไหวแล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าเรามีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว เราก็เริ่มมีโอกาสจะได้อยู่กับเวทนา ศึกษาทุกขเวทนาให้เข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับร่างกายให้ละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 05 Oct 2021 - 24 - ธรรมละนิด : การเมือง
พระพุทธเจ้าสอนอะไรในเรื่องการเมืองบ้าง? ในสมัยพุทธกาล ในมัชฌิมาประเทศก็มีระบบการปกครองที่หลากหลาย มีการปกครองด้วยพระมหากษัตริย์เสียส่วนใหญ่ สาธารณรัฐก็เริ่มมีในสมัยนั้น และที่น่าสังเกตคือพระพุทธองค์จะไม่เคยบอกว่า ระบบการปกครองอย่างนี้แหละถูกต้อง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าพระพุทธองค์เข้าไปในประเทศที่ปกครองด้วยพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็จะสอนว่า ในเมื่อมีคนพอใจกับระบบอย่างนี้ ทำอย่างไรถึงจะให้มันดีที่สุด ให้มันสอดคล้องที่สุดกับหลักธรรม ถ้าเข้าไปในประเทศของพวกวัชชี (Vajji) ที่เป็นสาธารณรัฐ ก็สาธารณรัฐที่ดีต้องเป็นอย่างไรจึงจะมั่นคง อย่างในการสอนพวกวัชชี พระพุทธองค์ก็ตรัสถึงเรื่องการประชุมกันเนืองนิจ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันจัดธุระของคณะปกครอง พร้อมเพรียงกันเลิกการประชุม เรื่องการให้ความเคารพกับผู้ใหญ่ ในเรื่องการปกป้องดูแลผู้หญิง ให้เกียรติผู้หญิง ในการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วให้ผู้ใหญ่ได้เข้าไปหาสมณะ ผู้มีปัญญา ได้ปรึกษาหารือเป็นประจำ ฉะนั้นพระพุทธองค์ก็จะให้หลักอย่างนี้ว่า ไม่ได้อยู่ที่ระบบ หรือว่าไม่ใช่ว่ามีระบบใดระบบหนึ่งที่ชาวพุทธควรจะยกย่อง หรือควรจะถือไว้ แต่ทำอย่างไรระบบของเราจะสอดคล้องกับหลักธรรมได้มากที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Nov 2021 - 23 - ธรรมละนิด : ชอบคิดวนเวียนเรื่องในอดีต
หากเราชอบคิดวนเวียนเรื่องในอดีตอยู่เรื่อยๆ มีความทุกข์มากแต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เราควรทำอย่างไร? อดีตทั้งหมดเดี๋ยวนี้ก็เป็นแค่สัญญา ความจำ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในปัจจุบัน เราก็ต้องพยายามมีสติอยู่ในปัจจุบัน แล้วให้รู้เท่าทันอดีตว่าสักแต่ว่า ความจำ ทีนี้ถ้าจิตใจเราไปปรุงแต่งในความทรงจำ โดยเฉพาะในสิ่งที่กระตุ้นให้รู้สึกละอายใจ หรือว่าเดือดร้อนใจ หรือว่าทุกข์ใจ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองโดยเปล่าประโยชน์ พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า บัณฑิตเป็นผู้ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทีนี้บางคนทำบางสิ่งบางอย่างในอดีต ละอาย แล้วก็อยากลงโทษตัวเอง ถ้าจะปล่อยวาง ถ้าจะตั้งต้นใหม่ ก็รู้สึกว่าไม่ถูก เหมือนกับลอยนวล ก็เลยเบียดเบียนตัวเอง ลงโทษตัวเอง ด้วยความคิด นี่เราต้องปล่อย ปล่อยได้ ให้เข้าใจว่า ที่เราเคยทำอะไรไม่ค่อยถูกต้อง พูดอะไรไม่ค่อยถูกต้องในอดีต เพราะในวันนั้น ในเวลานั้น เราก็มีสติปัญญาแค่นั้น มีความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปแค่นั้น มีสติมีความสำรวมแค่นั้น เพราะฉะนั้นการที่เราได้ทำได้พูดเช่นนั้นในวันนั้น ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะป้องกัน ไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป เราจึงสรุปแล้วว่า ต้องฝึกให้มีสติให้มากกว่านี้ มีความอดทนมากกว่านี้ มีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาปมากกว่านี้ เพื่อเรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีที่มีผลกระทบต่อคนอื่น เราก็ยอมรับความผิด เปิดเผยกับผู้เป็นกัลยาณมิตร แล้วที่สำคัญตั้งอกตั้งใจว่า ไม่ทำอย่างนั้นต่อไป ส่วนความทรงจำที่ยังเหลืออยู่ เรารู้เท่าทันว่า สักแต่ว่าความทรงจำ เกิดขึ้นแล้วดับไป อย่าไปเก็บกด อย่าไปวิ่งตาม รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Dec 2021 - 22 - ธรรมละนิด : ภาวนา
ภาวนามีความหมายจริงๆ ว่าอย่างไร? ภาวนา แปลตามรากศัพท์ว่า ทำให้มีขึ้น หรือว่าแปลอีกแง่หนึ่ง คือ พัฒนา ทำให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การภาวนาก็คือการพัฒนาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทีนี้ชีวิตประจำวันสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะเอื้อต่อการภาวนา มีสิ่งกดดัน มีสิ่งยั่วยุสารพัดอย่าง แต่เมื่อเราแบ่งเวลาให้การนั่งขัดสมาธิ หลับตา เจริญสติกับลมหายใจ หรือการเดินจงกรม ก็คือเป็นเวลาที่เราให้กับการภาวนา หรือการพัฒนาชีวิตโดยตรง เราพัก เรางด จากเรื่องอื่นทั้งหลายชั่วคราว เพื่อมุ่งต่อการภาวนา ต่อการพัฒนาชีวิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงมักใช้คำว่า นั่งภาวนา เรากำลังภาวนากัน หมายถึงว่าเราจัดสรรสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง เพื่อการภาวนาโดยเฉพาะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราภาวนาเฉพาะเวลาเรานั่งขัดสมาธิ หรือเราเดินจงกรม แต่ในชีวิตประจำวันเรามีความพยายามที่จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดีในจิตใจ และพัฒนาสิ่งดีงาม ก็ถือว่าเรากำลังภาวนากันอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 May 2021 - 21 - ธรรมละนิด : บุญคุณพ่อแม่
ทำอย่างไรถึงจะเป็นการตอบแทนบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่ดีที่สุด? นอกเหนือจากการดูแล การปรนนิบัติ การรักษาในยามเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรทำนองนี้ ที่ว่าเป็นการตอบแทนสามัญ สิ่งที่สูงสุดก็อยู่ที่จิตใจ เพราะว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สิ่งสูงสุดของมนุษย์คือการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง แล้วคุณธรรมประจำพระอริยเจ้ามี ๔ ข้อ คือ ศรัทธา ศีล จาคะ คือความใจบุญ ใจดี ใจเสียสละ และปัญญา และ ๔ ข้อนี้ยังเป็นคุณธรรมประจำจิตประจำใจของเทวดาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีส่วนช่วยให้พ่อแม่ที่เป็นผู้ไม่มีศรัทธาเกิดมีศรัทธา หรือมีศรัทธาน้อยมีศรัทธามากขึ้น หรือว่าพ่อแม่ที่ศีลธรรมยังบกพร่อง ทำให้ท่านมั่นคงในศีล ผู้ที่ยังมีความตระหนี่หรือความเห็นแก่ตัว ก็เป็นคนที่มีความสุขในการสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้คนอื่นมากขึ้น และเป็นผู้มีปัญญาน้อยก็ได้มีปัญญา โดยเฉพาะในเรื่องการดับทุกข์ของตัวเอง ถือว่าถ้าเรามีส่วนช่วยให้ท่านได้เจริญใน ๔ ข้อนี้ ก็เป็นการช่วยสร้างปัจจัย ทั้งต่อการขึ้นสวรรค์และต่อการพ้นทุกข์ เป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอริยเจ้า ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณที่สูงสุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Apr 2021 - 20 - ธรรมละนิด : พุทธศาสนิกชน
การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีควรเป็นอย่างไร? เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เราต้องสนใจศึกษาว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรบ้าง เราก็ต้องนำไปใช้ นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อตัวเราด้วย เพื่อครอบครัวเราด้วย เพื่อชุมชน สังคม ประเทศชาติด้วย ในการนำคำสอนพระพุทธเจ้าไปประยุกต์ใช้หรือการปฏิบัติ เราก็จะเน้นใน ๓ หัวข้อใหญ่ ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ทาน ก็ไม่ใช่วัตถุอย่างเดียว ทาน นี่ก็คือมีอะไรที่ดี ที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เราก็แบ่งปันไม่เก็บไว้ใช้คนเดียว ไม่มีโอกาสใส่บาตรนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ทำทาน อย่างทุกวันนี้คนรวยทรัพย์มากขึ้น แต่จนเวลา ฉะนั้นเราเห็นใครเขากำลังทุกข์ เราก็ให้เวลากับเขา ไปนั่งเป็นเพื่อนให้เขาได้หายเหงา หายทุกข์ได้ เราก็ได้ทำบุญ เราก็ได้ให้ทาน ให้เวลาที่มีค่าของเราให้กับเขา เป็นต้น ส่วนการรักษาศีล เราก็ควรจะถือศีลห้าเป็นมาตรฐาน ฝึกตนฝึกพฤติกรรมของตนตามศีลห้าข้อ จากนั้นแล้วการทำบุญที่สูงสุดหรือว่าการที่เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ก็อยู่ที่การเพียรพยายามละสิ่งที่ไม่ดีในใจเรา บำเพ็ญสิ่งที่ดี ชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด แบ่งปันเวลาทุกวันกับการทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิบ้าง ฉะนั้นเรามีการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เราก็จะได้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Mar 2021 - 19 - ธรรมละนิด : เริ่มวันใหม่
ในทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมา เราควรเริ่มต้นวันใหม่อย่างไรให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร? เดี๋ยวขอถอยหลังก่อน ว่าก่อนนอน... ก่อนนอนนี่ต้องตั้งใจว่า พรุ่งนี้เช้าตื่นขึ้นมาเมื่อไรต้องลุกขึ้นทันที ไม่นอนต่อ จะช่วยป้องกันความขี้เกียจขี้คร้านตอนเช้า ตื่นเช้าแล้ว ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุก ห้ามเช็คไลน์ ไม่ต้อง เอาทีหลัง ตื่นขึ้นมานี่จิตใจอยู่ในสภาพที่ปลอดโปร่งพอสมควร ไม่น่าจะมีความฟุ้งซ่านวุ่นวายอยู่ในสมองแต่เช้า ฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ภาวนา ที่เราจะได้เจริญสติในรูปแบบ ถ้ายังลุกไม่ได้อยากนอนต่อ ก็มีกุศโลบายอีกก็พลิกมานอนคว่ำ แล้วก็วิดพื้น ๕-๖ ครั้ง สดชื่น... สดชื่นแล้วไปทำกิจส่วนตัว ทำกิจส่วนตัวแล้ว ถ้ามีบุญมีห้องพระก็เข้าห้องพระ ไม่มีห้องพระก็เข้าที่ ที่เรานั่ง แต่อย่าให้มันใกล้เตียงจนเกินไป แล้วก็ทำวัตรสวดมนต์ เล็กๆ น้อยๆ แล้วแต่เวลา แต่การทำวัตรสวดมนต์ การไหว้พระ ก็เป็นการเตรียมจิตก่อนที่จะเข้าสู่การภาวนา การภาวนานั้น ถ้าหากว่าเรายังไม่ค่อยมีกำลังใจ ก็ขอแนะนำให้ตั้งใจว่า เราจะนั่งสมาธิ ๑๕ นาที ๕ นาทีแรก เราก็ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ๕ นาทีต่อมาเราก็อุทิศให้คุณพ่อ ๕ นาทีสุดท้ายให้คุณแม่ ก็เป็นกุศโลบายทำให้มีกำลังใจ มันไม่ใช่สำหรับเราคนเดียว เราก็ทำเพื่อสร้างคุณงามความดี อุทิศให้คุณพ่อคุณแม่ แล้วก็เป็นการปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทีนี้เราเจริญสติอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยก็ระวังไม่ให้ง่วงเป็นอันขาด ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างไม่ง่วง อย่างมีความสุข ในเมื่อถ้าเราตั้งสติไว้ดีตั้งแต่เช้า แล้วคอยประเมินผลในชีวิตประจำวัน ไม่นานจะเห็นว่าวันไหนทำสมาธิแต่เช้า เจริญสติแต่เช้า วันนั้นความอดทนก็มากขึ้นหน่อยหนึ่ง ความสำรวม ความใจเย็น ความเมตตากรุณา เราก็จะเห็นผล ทำให้คุณภาพชีวิตเพิ่มมากขึ้น จะเป็นกำลังใจให้ทำต่อ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Feb 2021 - 18 - ธรรมละนิด : ข่าวการเมือง
ในช่วงที่ข่าวการเมืองมีความเข้มข้นดุเดือด ทำให้ตามข่าวแล้วเครียด เราควรมีหลักคิดอย่างไรในการตามข่าวการเมือง? ถ้าเป็นผู้ครองเรือนแล้วก็ควรจะกำหนดเวลาในแต่ละวัน ที่เราจะแบ่งไว้กับการดูข่าวการบ้านการเมือง ที่จริงแต่ละวันไม่ต้องดูมาก ไม่กี่นาทีนี่ก็พอรู้ได้ ส่วนมากก็วกวนเรื่องเดิมๆ ถ้าฟังอะไรที่ชวนเครียดบ่อยๆ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเอง ก็ไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราเข้าใจว่าเราดูข่าว แล้วก็ฟังว่าดี แต่ที่จริงถ้าเราดูสิ่งที่เราได้ดูแล้ว หนึ่งรอบแล้วหรือสองรอบแล้ว ในแต่ละวันก็เป็นเรื่องการเพ้อเจ้อมากกว่า ข่าวที่เป็นการเพ้อเจ้อก็มี ฉะนั้นเราก็ต้องฝึกให้กลั่นกรอง ให้เรารู้จักดูตรงไหน อ่านตรงไหน มันจึงจะได้ข้อความได้ความรู้ที่ต้องการ โดยไม่เสียเวลาให้มากและไม่ให้อารมณ์เราเสีย พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 30 Apr 2019 - 17 - ธรรมละนิด : ผัดวันประกันพรุ่ง
ทำอย่างไรเราจึงจะเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ ? คนทั่วไปเนี่ย คนไทยนี่ ชอบของผัดเนอะ ข้าวผัดอะไรผัดนี่ก็ชอบกัน แต่ที่ทุกคนชอบมากที่สุด คือตัวนี้...ผัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนสิ่งที่ควรทำในวันนี้ ก็มักจะเกิดเพราะเราหลอกตัวเองว่ายังมีเวลาอยู่ ยังไม่ถึงเวลา ถ้ามีเวลาทำพรุ่งนี้ ไม่ทำวันนี้จะดีกว่า เอาความง่าย เอาความสบายเป็นหลัก การระลึกว่าเวลาของเรา มันก็หมดไป หมดไป เราไม่รู้ว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้ในอนาคตรึเปล่า ฉะนั้นถ้าเรามีนิสัยอย่างนี้ ถ้ามีสติ เมื่อเกิดความคิดจะทำอะไรสักอย่างนึงว่าควรจะทำ แล้วมันจะมีความคิดต่อว่า “เออ...เอาไว้ก่อน” ต้องพูดกับตัวเองตรงนี้ ตั้งมันเป็นสติว่า ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ “Do it now” “Do it right now !” คือนี่ก็เป็นคำบริกรรมทุกครั้งที่คิดจะผัดวันประกันพรุ่ง “ทำเดี๋ยวนี้ !” “ทำเดี๋ยวนี้ !” ไม่ต้องคิดมาก “ทำเดี๋ยวนี้” พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 14 May 2019 - 16 - ธรรมละนิด : โรคซึมเศร้า
ถ้ามีคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้า เราควรจะทำอย่างไร? คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเป็นผู้ที่ปล่อยให้มีความคิดที่ไม่ดีบางอย่างตกร่อง จิตจะวกวนในความคิดเก่าๆ โดยเฉพาะความคิดในทางที่ว่าเราไม่ดี เราทำอะไรไม่สำเร็จ เราแย่ เป็นต้น ฉะนั้น ในเมื่อจิตตกร่องอย่างนี้ มักจะมีผลให้ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แล้วจิตใจก็หมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง ฉะนั้นในเบื้องต้นก็เป็นเรื่องพื้นฐาน หรือว่าจะต้องพยายามชวนให้ออกกำลังกาย ออกจากห้อง ออกจากบ้าน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ในกรุงในเมืองก็ออกไปต่างจังหวัดถ้าเป็นไปได้ อย่างน้อยให้มีการเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ในเบื้องต้นสิ่งที่จะได้ผลได้เร็วก็คือทาน การชวนให้ผู้ซึมเศร้าทำทาน โดยเฉพาะการให้ทานที่เห็นผลได้ทันที อย่างเช่นการเลี้ยงเด็กกำพร้า คือสิ่งที่เราทำไปแล้ว เราก็เห็น โอ้...ทำให้คนอื่นมีความสุขได้ ก็ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า ตัวเองมีอะไรที่จะให้กับโลกได้เหมือนกัน ส่วนการภาวนาไม่ใช่ว่านั่งสมาธิจะเป็นวิธีแก้ปัญหาทุกอย่าง การให้คนนั่งคนเดียว นั่งหลับตา อาจจะไม่ดีสำหรับคนซึมเศร้า ควรจะให้ออกในสังคม ในสังคมคนดี ในการทำงานจิตอาสาหรือทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มาก แล้วก็เจอคนที่ร่าเริง คนที่มีความสุข อย่าไปคลุกคลีกับคนที่ซึมเศร้าด้วยกัน ถ้าจะให้เจริญสมาธิภาวนาก็เน้นที่เมตตาภาวนา แล้วถ้าทำเมตตาภาวนาในระหว่างการเดินจงกรมก็จะดี ก็ไม่อยากให้ผู้ซึมเศร้าอยู่คนเดียว นั่งสมาธิคนเดียวเท่าไหร่ แต่ถ้าออกในสถานที่อย่างนี้ เดินใต้ต้นไม้แผ่เมตตาเปลี่ยนให้จิตใจให้ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายนี้จะแก้ได้เยอะเลยโดยยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องจิตใจเท่าไหร่ ก็อยากให้ออกกำลังกายให้มาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 28 May 2019 - 15 - ธรรมละนิด : สุขที่แท้
ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร? คำว่า 'แท้จริง' นั้น ก็น่าจะหมายความว่า 'ไม่เสื่อม' หรือว่าเป็นความสุขสูงสุด ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาเราถือว่า ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากการกระตุ้นจากภายนอกเป็นความสุขชั่วคราว ซึ่งเราจะเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วไม่นานเราก็ต้องพลัดพราก แล้วเป็นความสุขที่อาจจะทำให้เราเสพติดก็ได้ ถ้าเราหลงความสุขทางเนื้อหนังอาจจะนำไปสู่การผิดศีลก็ได้ การเบียดเบียนซึ่งกันและกันได้ ความสุขที่แท้จริงก็ต้องเกิดจากภายใน แล้วเป็นความสุขที่ไม่อาศัยสิ่งอื่น ไม่ใช่เป็นผลของการกระตุ้น แต่เป็นอาการที่เกิดจากจิตที่สงบ จิตที่สะอาดที่สว่าง คือจิตที่ปราศจากกิเลส ฉะนั้นความสุขอันไหนที่เกิดจากกิเลส หรือปนด้วยกิเลส หรือนำไปสู่กิเลส เราถือว่าไม่แท้จริง แต่ถ้าความสุขที่เกิดขึ้นเพราะชนะกิเลสและพ้นจากกิเลส นั่นเราถือว่าเป็นความสุขที่แท้จริง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 11 Jun 2019 - 14 - ธรรมละนิด : เฟซบุ๊กกับการปฏิบัติธรรม
เราจะสามารถปฏิบัติธรรมในขณะที่เล่นเฟซบุ๊กได้หรือไม่? คงจะแล้วแต่ว่าเราเล่นอย่างไร เพื่ออะไร ทุกวันนี้ก็ยังมีธรรมะอยู่ในเฟซบุ๊กอยู่บ้างเหมือนกัน ถ้าเราอ่านธรรมะในเฟซบุ๊ก ก็คงไม่ขัดอะไรกับการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเล่นเป็นการฆ่าเวลา เล่นในเรื่องเพ้อเจ้อต่างๆ มันก็มีผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ง่าย มันก็กินเวลาด้วย ซึ่งบางทีสิ่งที่อ่านหรือสิ่งที่โพสต์ อาจจะไม่ได้เสียหายอะไรหรอก แต่มันใช้เวลา ก็เลยทำให้เวลาที่จะทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าไม่มี และทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ากับการปฏิบัติธรรมหรือไม่ ก็ต้องรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไรอยู่เท่านั้นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 25 Jun 2019 - 13 - ธรรมละนิด : คำถามชีวิต
คนเราควรตั้งคำถามกับชีวิตอย่างไร? ในเมื่อเราเกิดแล้ว เราทุกคนต้องเผชิญกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ชีวิตเราจะยังเหลืออยู่ กี่ปี กี่เดือน กี่วัน กี่ชั่วโมง กี่นาที กี่วินาที ฉะนั้นเวลาเราจำกัด แต่เราไม่ทราบว่าจำกัดมากน้อยแค่ไหน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราน่าจะถือว่า เวลาของเรามีค่า เวลามีค่าแล้วจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร จึงจะเหมาะกับสิ่งมีค่ามาก ก็เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่สุด หรือทางที่เรารู้สึกภาคภูมิใจที่สุด ในทางพุทธศาสนาเราถือว่า ชีวิตที่ดีที่สุดหรือเหมาะที่สุด คือมีความเพียรพยายามที่จะสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง และการสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นสิ่งที่ควรถามเกี่ยวกับชีวิตคือ ชีวิตนี้คืออะไร เพื่ออะไร เราเกิดมาทำไม ทำอย่างไรเราจึงจะใช้ชีวิตที่น้อยนิดนี้ ให้เป็นประโยชน์ ให้ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามให้มากที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 09 Jul 2019 - 12 - ธรรมละนิด : ศีล ๕
ทำไมเราจึงควรถือศีล ๕ ? เหตุผลข้อแรก เราคงไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ยากมาก และเป็นโชคอย่างยิ่งเป็นลาภอย่างยิ่ง แล้วเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้เกิดเป็นมนุษย์ คือ การรักษาศีล ๕ ในชาติก่อน ฉะนั้นถ้าเรารักษาศีล ๕ ในชาติปัจจุบัน ก็เป็นการรับประกันความปลอดภัยในการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป อันนี้เป็นข้อแรกซึ่งเป็นเรื่องของศรัทธาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สิ่งที่เราพิสูจน์ได้ก็คือทุกคนต้องการความปลอดภัย ความรู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นฐานความสุขที่เราขาดไม่ได้ แล้วในเมื่อเราทุกคนยังมีกิเลสอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะได้อยู่ด้วยกันในลักษณะที่ทุกคนจะรู้สึกปลอดภัย ถ้าหากว่าเราประกาศเราสัญญาไว้กับคนรอบข้างว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งบางคราว เราโกรธเราแค้น เราจะไม่เบียดเบียนใครเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเรายังมีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่ เราสัญญาไว้ว่า จะไม่ทำ จะไม่ถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้เป็นอันขาด สำหรับผู้ที่มีคู่ครองแล้ว ถึงแม้ว่าเรายังอาจจะรู้สึกว่า คนอื่นเขาน่ารักบ้าง ก็อาจจะรู้สึกชอบเขาบ้าง แต่ว่าเราสัญญาไว้กับคู่ครองว่า เราจะไม่ทำอะไรไม่พูดอะไรเพราะความรู้สึกอย่างนี้ เราจะจงรักภักดีตลอดไป ถึงแม้ว่าบางทีเราก็คิดอยากจะโกหก เพราะกลัวเขาจะเสียความเคารพ กลัวเราจะขาดผลประโยชน์ กลัวหรือว่าอยากได้นั่นอยากได้นี่ เราจะไม่พูดเท็จเป็นอันขาด แล้วสี่ข้อนี้ก็คือการให้ความรู้สึกปลอดภัยกับคนรอบข้าง ทำให้คนอยู่ด้วยกันไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีความสงบร่มเย็นกันได้ แต่ถ้าข้อที่ ๕ ไม่อยู่ เราจะรับรองตัวเองไม่ได้ เพราะถ้าดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติดแล้ว ความยับยั้งชั่งใจ ความละอาย ความเกรงกลัวจะลดน้อยลง รับประกันรับรองตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องเพิ่มข้อที่ ๕ ด้วย เพื่อเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่างเป็นมิตรต่อกันและกัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Aug 2019 - 11 - ธรรมละนิด : ทำไมพระสงฆ์ต้องตื่นเช้า
ทำไมพระสงฆ์จึงต้องตื่นเช้ามากๆ ? พระวัดป่าเราต้องออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี ๕ ตี ๕ กว่า บางทีต้องเดิน ๒-๓ กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน แล้วเราต้องการมีเวลาทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก่อนออกบิณฑบาต แล้วก็ยังจะต้องจัดที่นั่ง ต้องเช็ดถูโรงฉันด้วย เลยจำเป็นต้องตื่นเช้า แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าเช้า เพราะว่าพอถึงตี ๓ เราก็ได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว เพราะว่าพระเราก็ไม่ได้นอนมาก ๔-๕ ชั่วโมงเสียส่วนใหญ่ แล้วก็เช้านี่อากาศดี เย็นสบาย เงียบ ก็เป็นเวลาที่เหมาะกับการปฏิบัติมาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Sep 2019 - 10 - ธรรมละนิด : ภพชาติมีจริงไหม
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภพชาติมีจริง? ผู้ที่ไม่มีญาณระลึกชาติได้ ซึ่งหมายถึงมนุษย์ ๙๙.๙๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แล้วไม่เป็นสิ่งที่เราควรจะสรุป หรือว่าเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่ามีหรือไม่มี ควรจะอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเราไม่รู้ แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อในภพชาติก็มีเหตุผลหลายประการ เริ่มตั้งแต่พุทธพจน์หรือพุทธวจน ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ในเกือบทุกพระสูตรหรือว่าปรากฏบ่อยมาก ฉะนั้นในเมื่อเราเป็นพุทธมามกะแล้ว เราก็ต้องพิจารณาว่า ถ้าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ ๑. เป็นเรื่องจริง ๒. พระพุทธองค์โกหก (ขออภัยพูดตรงๆ) ๓. พระพุทธเจ้าหลง ทีนี้ถ้าเราดูจากพระสูตร ดูจากคำสอนในพระไตรปิฎก โอกาสที่พระพุทธเจ้าโกหกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ มันเป็นไปไม่ได้ ผิดวิสัยของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ๑. จริง ๓. พระพุทธเจ้าเชื่อว่าจริง แต่พระพุทธเจ้าหลง เราเป็นพุทธมามกะ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่หลง ฉะนั้นเราก็ให้น้ำหนักกับพุทธวจน โดยที่เรายอมรับว่า นี่ไม่ใช่การพิสูจน์ เป็นเรื่องของศรัทธา การระลึกชาติของพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติดีหรือว่าผู้ทรงฌาน ก็มีตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็ต้องใช้หลักเมื่อกี้นี้ว่า ๑. เป็นเรื่องจริง ๒. ท่านโกหก ๓. ท่านหลง จากที่ดูประวัติของครูบาอาจารย์ นี่เราคิดว่าโอกาสที่จะโกหก จะหลง นี่น้อยมาก ฉะนั้นก็เป็นน้ำหนัก ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่าพิจารณาหรือว่าน่าติดตามก็คือ การเก็บหลักฐานจากเด็กทั่วโลกที่ระลึกชาติได้ ส่วนมากระหว่างอายุ ๒-๓ ขวบ ถึง ๕ ขวบ ในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย นักวิชาการก็ได้เก็บข้อมูลเรื่องนี้ แล้วก็ได้เช็คให้เป็นที่พอใจว่า ไม่มีการหลอกลวง ไม่มีอะไร ได้ ๒,๐๐๐ กว่ารายแล้ว และก็ยังมีคนบางคนที่สะกดจิตแล้วก็ระลึกชาติได้ ฉะนั้นชาวพุทธเราก็จะไม่พูดด้วยความมั่นใจว่าใช่หรือไม่ใช่ ในเรื่องที่เรายังไม่เห็นเป็นประสบการณ์ตรง แต่เราเชื่อด้วยเหตุผลอย่างนี้ ๑. พุทธวจน ๒. การระลึกชาติของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือผู้ทรงฌาน ๓. การระลึกชาติของเด็กทั่วโลก อายุ ๓-๕ ขวบ ๔. การระลึกชาติสำหรับผู้สะกดจิต เพราะฉะนั้นเราอาจจะถือว่านี่เป็นคำเสนอ เป็นสมมติฐานของชาวพุทธ แต่ถ้าหากว่ามีสมมติฐานอย่างอื่น เราก็ท้าทาย อย่างเช่นเรื่องของเด็กระลึกชาติ ถ้าไม่จริงแล้วจะอธิบายอย่างไร ฉะนั้นไม่มีทางจะรู้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้เรามีความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 17 Sep 2019 - 9 - ธรรมละนิด : ทำบุญแก่ผู้ล่วงลับ
วิธีใดเป็นวิธีทำบุญที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว? การทำทาน การถวายของแก่พระสงฆ์เป็นสังฆทาน เป็นต้น อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการทำบุญที่เหมาะสมน่าอนุโมทนา แต่เราไม่ควรลืมว่านอกจากการให้ทานแล้ว บุญก็ยังเกิดขึ้นด้วยการรักษาศีลและด้วยการภาวนา ฉะนั้น ในโอกาสหรือในเวลาที่ไม่มีโอกาสไปวัดเลย ไม่สามารถไปทำบุญ แค่รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์หนึ่งวัน อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ได้เลย แล้วยิ่งการภาวนาซึ่งพระพุทธองค์ถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกตนให้เป็นคนดี ปล่อยวางสิ่งไม่ดีในจิตใจเรา พัฒนาสิ่งดีงาม ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วถ้าท่านรับทราบ ท่านก็คงมีความสุขความภาคภูมิใจในตัวเรามากกว่าในกรณีที่เราถวายของให้กับพระ ฉะนั้น การภาวนา การฝึกให้จิตใจของเราสงบจากกิเลสต่างๆ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็น่าจะถือว่าดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Dec 2019 - 8 - ธรรมละนิด : สบายใจทั้งวัน
ในชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างจะยุ่งวุ่นวาย เราควรทำใจอย่างไรให้ใจสบายได้ตลอดทั้งวัน? การเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นการเตรียมใจ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ไม่วุ่นวาย ไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป แต่ในชีวิตประจำวันเอง เราก็ต้องพยายามมีสติในทุกอิริยาบถในทุกเรื่อง สติต้องมีตลอด แตว่าเครื่องระลึกของสติ หมายถึงว่า เราจะมีสติกับอะไรบ้าง คือต้องเปลี่ยนให้เหมาะสม อย่างเช่น เวลาอยู่คนเดียวอาจจะมีสติกับการเคลื่อนไหว เวลาเราขับรถไปที่ทำงาน อาจจะฟังพระเทศน์ก็ได้ หรือว่าเราเจริญเมตตาภาวนา ถ้าอยู่ในที่ทำงานต้องประชุมกัน แล้วก็ต้องพูดกับคนนั้นคนนี้ ก็มีสติกับการพูดให้เป็นสัมมาวาจา คือไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีความพยายามดูแลจิตใจ ไม่ให้เศร้าหมอง พยายามให้มีหลักธรรมอยู่ในใจ ให้จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลให้มากที่สุด นั่นก็คือวิธีการ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Feb 2020 - 7 - ธรรมละนิด : ทำบุญ-ถูกหวย
ทำบุญอย่างไรให้โชคดีถูกหวยบ้าง? ถ้าทำบุญอยากได้ มันก็ไม่เป็นบุญ เพราะว่าบุญคือเรื่องการชำระสันดาน ชำระจิตใจ ถ้าทำบุญมีเงื่อนไข ไม่ใช่การทำบุญ ก็เป็นการแลกเปลี่ยน แล้วก็ให้โดยหวังว่าจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน ฉะนั้นถ้าสนใจเรื่องการได้เลข แล้วก็ไปฟังเทศน์เพื่อจะได้เลข ก็คงไม่ได้ธรรมะอะไรเท่าไร แล้วจิตใจมันก็จะเป็นบาปมากกว่าบุญ ทีนี้การที่เราจะถูกลอตเตอรี่ได้เงินได้ทองนั้น จะนำไปสู่ความสุขจริงหรือเปล่า ถ้าคนเราไม่รักษาศีล คนเราไม่รู้จักบริหารอารมณ์ตัวเอง ถึงจะได้เงินได้ทองแล้ว ก็คงไม่ได้ทำให้มีความสุขอะไรมากมาย อาจจะเป็นช่วงแรกๆ แต่ไม่นานแล้วเงินก็จะหมดไป แล้วก็อาจจะยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้นการได้รางวัล การได้ถูกหวย นี่ไม่ใช่ว่าการแก้ปัญหาชีวิตอย่างที่คิดกัน ก็ลองอ่านประวัติของคนที่เคยถูกหวย ว่าหลังจากรวยเป็นอย่างไร ส่วนมากก็จะผิดหวัง ที่สำคัญพอญาติพี่น้องรู้ว่ารวยแล้ว นี่…วุ่นวายเลย เพราะฉะนั้นก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้าทำบุญอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน เราก็ได้อริยทรัพย์อยู่ในใจซึ่งไม่มีใครแย่งชิงได้ แล้วก็ไม่มีวันจะหายจากเราได้ มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Mar 2020 - 6 - ธรรมละนิด : เมื่อโลกไม่น่าอยู่
รู้สึกโลกนี้ไม่น่าอยู่เลย สังคมก็มีปัญหามาก รู้สึกสิ้นหวัง ควรทำอย่างไรดี? สังคมมันก็เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ทุกยุคทุกสมัย เราไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ ไม่ได้ถูกบังคับให้มาเกิด เราเลือกมาเกิดที่นี่ เลือกมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สังคมไม่น่าอยู่ก็พยายามทำให้สังคมดีขึ้นสิ อย่างน้อยสังคมรอบข้าง ครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง คนรอบข้าง ให้เรามีส่วนในการทำให้โลกที่ไม่ค่อยน่าอยู่ น่าอยู่มากขึ้น ถ้าเราสิ้นหวัง นั่นก็เป็นแค่ความคิดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่ว่าตราบใดที่ยังมีผู้ศรัทธาในหลักคำสอนพระพุทธเจ้า ยังมีผู้ที่ต้องการละบาป บำเพ็ญกุศล ชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด หรือคนที่นับถือศาสนาอื่น ที่เขาอยากเป็นคนดี อยากทำสิ่งดีงามในโลก ก็ไม่น่าจะถือว่าโลกมันสิ้นหวังทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังอะไรมาก แต่พยายามทำสิ่งที่ดีเท่าที่จะทำได้ แล้วก็มีความชื่นชมในสิ่งที่ดีที่ตัวเองได้ทำไว้ แล้วให้ชื่นชมในความดีของคนอื่น คือถ้าสิ้นหวังแสดงว่าเราหลับหูหลับตาต่อความดีรอบข้างซึ่งก็ต้องมีอยู่เสมอ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Jun 2020 - 5 - ธรรมละนิด : ใจมนุษย์เหมือนลิง
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเปรียบเทียบจิตใจของมนุษย์กับลิง? ก็ดูลักษณะของลิงแทบจะไม่นิ่งเลย กระโดดโลดเต้นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็วิ่งไปวิ่งมา ดูเหมือนกับไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่มีจุดประสงค์อะไรที่ชัดเจน คือเคลื่อนไหวเพื่อเคลื่อนไหว ไม่ใช่เคลื่อนไหวเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากจะกินอะไรซักอย่าง ฉะนั้นจิตใจของมนุษย์ที่ขาดการฝึกอบรมก็เป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็เปรียบเทียบพฤติกรรมหรือว่า นิสัยของลิงเหมือนคนฟุ้งซ่าน คนขาดสมาธิ แล้วอีกข้อหนึ่งคือเป็นคำเปรียบเทียบของหลวงพ่อชา ในเรื่องของนิพพิทาหรือความเบื่อหน่าย เพราะคำนี้คนจะเข้าใจผิดกันเยอะ เข้าใจว่าเบื่อหน่ายแบบว่าไม่ชอบ เป็นเรื่องของโทสะ แล้วทำไมจึงเป็นคุณธรรมของผู้ปฏิบัติในขั้นสูง หลวงพ่อชาท่านเคยตักเตือน ผู้ที่เข้าวัดบอกว่า เขาเบื่อโลก อยากมาอยู่วัดเพราะเบื่อโลก แล้วหลวงพ่อชาท่านบอกว่า ความเบื่อทั่วไปนี่มันไม่ใช่ความเบื่อหน่ายที่พระพุทธองค์เรียกว่า ‘นิพพิทา’ ถ้าเป็นความเบื่อทั่วไปเหมือนตัวลิงมันเบื่อ มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ก็เรียกว่าเบื่อ เบื่อแบบลิง แต่ถ้าเป็นนิพพิทา ความเบื่อหน่ายของนักปฏิบัติ อันนี้คือเบื่อการที่จะเป็นลิงหรือเบื่อความเป็นลิง ท่านบอกว่ามันต่างกันนะ ลิงเบื่อกับเบื่อลิง ถ้าลิงเบื่อก็แป๊ปเดียวก็หายเบื่อ แล้วก็เล่นต่อไป แต่ถ้าเบื่อความเป็นลิงแล้ว ก็จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความเป็นลิงได้ต่อไป พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Aug 2020 - 4 - ธรรมละนิด : ปฏิบัติธรรมประจำวัน
ถ้าเราไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ไปวัด เราสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง? การปฏิบัติธรรมที่วัดก็ไม่ถึงกับจำเป็นทีเดียว แต่มันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ คือไปวัด ยิ่งถ้าไปวัดต่างจังหวัดหรือว่าเป็นวัดในป่าอย่างนี้ ก็จะเป็นการออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ถ้าอยู่ที่บ้านสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งรอบๆ ข้างนี่ก็ได้แต่กระตุ้นกิเลสมากกว่ากระตุ้นกุศลธรรม แล้วมันจะทำให้จิตใจเราตกร่องได้ง่าย การที่จะงดจากการใช้โทรศัพท์ใช้อะไรนี่มันยาก เพราะฉะนั้นที่เราออกเป็นบางครั้งบางคราว เราก็ไปอยู่วัดหรือไปอยู่ต่างจังหวัดซึ่งมันเป็นโอกาสที่เราได้ถอยออกจากความคุ้นเคย บางทีเราก็เห็นว่า โอ้...เรื่องนี้ไม่ดีนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ถ้าปล่อยไปนี่ก็จะแย่ แล้วบางทีเราก็ออกมานะ เอ้อ...ที่จริงนะ ไปทุกข็กับเรื่องนี้ทำไม ที่จริงมันเรื่องแค่นี้ คือมันก็จะได้ perspective จะได้สัดส่วนจากการถอยตัวออกมา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องไปวัดจึงจะปฏิบัติธรรม แต่การไปวัดนี่มันมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ในชีวิตประจำวัน อยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน การปฏิบัติก็อยู่ที่การพยายามละสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในใจ บำเพ็ญสิ่งที่ดี จะมีสิ่งท้าทายอยู่ตลอดเวลาว่า อยู่ท่ามกลางคนเห็นแก่ตัว จะทำอย่างไรเราจึงจะไม่เห็นแก่ตัว อยู่ท่ามกลางคนที่เครียด แต่ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เครียด อยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ค่อยระวังวาจา แต่เราจะอยู่ด้วยการระวังวาจา มันก็มีสิ่งท้าทายตลอดเวลา อันนี้ก็คือการปฏิบัติได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Sep 2020 - 3 - ธรรมละนิด : คนอื่นไม่เข้าใจ
หลายๆ ครั้งเรามักคิดว่าคนอื่นไม่เข้าใจเรา และน่าจะเข้าใจเรามากกว่านี้ มีวิธีจัดการกับความคิดแบบนี้อย่างไร? ก็ต้องยอมรับว่าบางทีเราก็น้อยใจเขาว่าเขาไม่เข้าใจเรา แต่ตัวเราก็ยังเข้าใจตัวเราก็ไม่ได้เหมือนกัน แล้วเราจะไปหวังอะไรกับคนอื่น แล้วบางทีเขาอาจจะเห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวเราที่เราไม่เห็นก็ได้ อาจจะเป็นจุดบอดของเราก็ได้ อย่าด่วนสรุปว่า เขาเข้าใจเราผิด แต่ดูว่าที่เขามองเรานี่ด้วยเหตุปัจจัยอะไร ทำไมเข้าจึงคิดอย่างนั้น ทีนี้บางคนก็ยังมีนิสัยใจคอไม่ค่อยอยากจะเปิดเผยความรู้สึกภายในใจ อยากรักษาเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ค่อยสะดวกใจที่จะไปกล่าวถึงเรื่องในใจ ซึ่งนั่นก็เป็นทางเลือกของเรา ที่เราชอบสไตล์นั้น ก็ไม่ผิดอะไร แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นนี่คนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าใจเราผิดได้ เพราะเราไม่ให้ข้อมูลเขา แต่ก็อีกประเด็นหนึ่ง บางทีเราก็เปิดเผยหรือว่าพยายามให้เขาเข้าใจ แต่เข้าก็มีอคติต่อเรา คนที่มีอคติต่อเรานี่เขาก็จะฟัง แล้วเขาจะแปลตามความหมายของเขา นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้มีกิเลส ฉะนั้นการที่เราสำนึกว่าคนเขาไม่เข้าใจเรา นี่ก็ถือว่าธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลาง ก็พยายามดูว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนี้ บางที...เออใช่ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เมื่อเขาคิดจะ...เอ้อมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นที่คิดผิดก็ตรงที่ว่า “เขาน่าจะ” “เขาควรจะ” เข้าใจเราดีกว่านี้ ซึ่งที่เขาเข้าใจอย่างนี้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นถ้าส่วนไหนที่เรารู้สึกทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือว่ามันเป็นปัญหา ก็หาโอกาส กาลเทศะ พูดคุยให้เขาฟัง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Oct 2020 - 2 - ธรรมละนิด : ทำไมต้องทำบุญ
ทำไมเราต้องทำบุญ? ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่ การทำบุญคือการชำระจิตใจ การทำให้จิตใจสูงขึ้น แล้วเมื่อจิตใจสูงขึ้นก็ย่อมมีความสุข เพราะฉะนั้นบุญก็คือชื่อของความสุข แต่ในภาษาไทยคำว่า ‘ทำบุญ’ มักจะหมายถึงการไปถวายของที่วัด แต่ที่จริงบุญเกิดได้ด้วยการให้ทาน หนึ่ง ด้วยการรักษาศีล หนึ่ง และด้วยการภาวนา เพราะฉะนั้น การรักษาศีลห้าก็ถือว่าเป็นการทำบุญ เพราะเป็นการทำให้บุญเกิดขึ้น ทำให้จิตใจเป็นบุญ ทำให้จิตใจสะอาดขึ้น สูงขึ้น มีความสุขมากขึ้น และการภาวนาก็คือการฝึกเพื่อระงับสิ่งเศร้าหมองในจิตใจ เพื่อบำรุงสิ่งดีงามในจิตใจ และแน่นอนแล้วก็ต้องทำให้จิตใจสูงขึ้น สะอาดขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราหวังความสุขความเจริญในชีวิต พระพุทธเจ้าสอนว่าการทำบุญ การทำจิตให้เป็นบุญ หรือการกระทำในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นทางที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Dec 2020 - 1 - ธรรมละนิด : การทำให้ใจสงบ
เคล็ดลับในการทำให้ใจสงบคืออะไร? คนส่วนใหญ่ ต้องการสองอย่างพร้อมกัน คือต้องการให้จิตสงบ แต่ต้องการรักษาสิ่งที่ไม่สงบในจิตใจเอาไว้ แต่มันก็ขัดแย้งอยู่ในตัว ผู้ที่จะทำจิตให้สงบต้องกล้าเสียสละความพอใจในสิ่งที่ไม่สงบ ต้องเห็นโทษเห็นทุกข์ในความไม่สงบ มีศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวเองว่า จิตใจของเราสงบได้โดยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเคล็ดลับ อันที่จริงมันก็ไม่ได้ลับเท่าไรก็คือ ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง อันนี้สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าขยันก็ทำ ขี้เกียจไม่ทำ อย่างที่หลวงพ่อชาท่านสอนลูกศิษย์ท่านสม่ำเสมอว่า ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 16 Apr 2019
Podcasts ähnlich wie ธรรมละนิด
- นิทานชาดก 072
- พี่อ้อยพี่ฉอด พอดแคสต์ CHANGE2561
- หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม dhamma.com
- People You May Know FAROSE podcast
- เล่าเรื่องรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี karunabuakamsri
- ลงทุนแมน longtunman
- Mission To The Moon Mission To The Moon Media
- ธรรมนิยาย หลวงพ่อจรัญ (สัตว์โลกย่อมเป็นไปตา Ploy Techa
- พระเจอผี Podcast Prajerpee
- SONDHI TALK sondhitalk
- คุยให้คิด Thai PBS Podcast
- หน้าต่างโลก Thai PBS Podcast
- พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) Thammapedia.com
- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน Thammapedia.com
- The Secret Sauce THE STANDARD
- THE STANDARD PODCAST THE STANDARD
- คำนี้ดี THE STANDARD
- Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล) watpasukato
- พระไตรปิฎกศึกษา-พระสมบัติ นันทิโก ชมรมผลดี
- 2 จิตตวิเวก ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana
- 5 นิทานพรรณนา ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana
- พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
- พุทธวจน พุทธวจน
- หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ